Saturday, December 5, 2015

"หมาเฝ้าบ้าน" ต้องไม่ใช่ "หมาหมู่" หรือ "หมาหิว"

คำแนะนำของผมสำหรับคนข่าวรุ่นใหม่คือจะต้อง "สร้างความแตกต่าง" ให้ผู้ติดตามเชื่อว่า "คุณหาเนื้อหาที่มีคุณภาพเช่นนี้ได้จากที่นี่เท่านั้น" เพราะในโลกดิจิตัลที่มี "ข่าวทั่วไปล้นเอ่อทุกนาที," คนข่าวที่สร้างความโดดเด่นและเป็นมืออาชีพอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะมีที่ยืนอย่างมั่นคงได้
ต้องกลับไปสู่พื้นฐานของการเขียนข่าวกระชับชัดเจน, ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา, Get it first, but first get it right! ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เป็นข่าว, รักษาจริยธรรมต่อผู้เป็นข่าวและแหล่งข่าว, หมั่นฝึกซ้อม "จมูกข่าว" ให้ว่องไว่แม่นยำเพื่อทำหน้าที่ "หมาเฝ้าบ้าน" ที่มีคุณภาพ ไม่กลายเป็น "หมาหมู่" ที่แห่ตามกระแสอย่างไร้หลักการ, และไม่เป็น "หมาหิว" ที่กระโดดเข้างับเนื้อที่ผู้หวังผลประโยชน์โยนมาให้
คุณภาพของคนข่าวทุกวันนี้โดยเฉลี่ยแล้วหดตัวลงเพราะไม่มีการสร้างคนข่าวที่มีคุณภาพมาทดแทนที่หายไป ไม่ฝึกฝนให้มีความคล่องตัวในยุคโซเชียลมีเดียที่มีมากกว่าเพียงแต่เล่น Facebook และ Twitter กับ Instagram โดยไม่ได้ใช้เครื่องมือเหล่านี้เสริมให้ทำรายงานสืบสวนสอบสวนให้รอบด้านและเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของสังคม
พูดเฉพาะในวงการทีวี แต่ก่อนมีฟรีทีวี 6 ช่อง มีคนข่าวทั้งหน้าจอและหลังจอจำนวนหนึ่ง วันนี้มีดิจิตัลทีวี 22 ช่อง แต่คุณภาพของคนข่าวเท่าเดิม
แต่ก่อนคุณภาพเฉลี่ยของคนข่าวหารด้วย 6 วันนี้หารด้วย 22
ซึ่งแปลว่าคุณภาพเฉลี่ยของคนข่าวลดทอนลงไปอย่างน่ากังวลยิ่ง
การแข่งขันทำเรตติ้งส์ทำให้เกิดการแก่งแย่งกันไปทางลดคุณภาพ มุ่งหาดราม่าและเนื้อหาตามกระแส เอาใจเฉพาะคนสมาธิสั้น ไม่สนใจสร้างเนื้อหาลุ่มลึกและเจาะลงไปในเรื่องราวที่มีความสำคัญต่อสังคม
ถามว่าแข่งกันหรือไม่? ตอบว่ายังแข่งกันอยู่แต่แข่งกันว่า "ใครจะเน่ากว่าใคร?"
หน้าที่ของคนข่าวที่ดีคือการแยก "สาระ" จาก "กระพี้"
ทุกวันนี้ก็มีการแยกสาระจากกระพี้...แต่เมื่อแยกแล้วก็เก็บสาระใส่ลิ้นชัก นำเสนอเฉพาะกระพี้
จึงเป็นที่มาของสภาพ "วิกฤตของคนข่าว" ทุกวันนี้
 
 
 
 

เมื่อ New York Times เอาบทนำขึ้นหน้าหนึ่งครั้งแรกใน 95 ปี

เป็นครั้งแรกใน 95 ปีที่ New York Times ตีพิมพ์ "บทบรรณาธิการ" ขึ้นหน้าหนึ่งซึ่งปกติจะเป็นเนื้อหาข่าวที่ไม่มีความเห็นแต่อย่างไร
แต่เช้าวันนี้ (เสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2015) ล้อมกรอบด้านซ้าย "The Gun Epidemic" ใช้ภาษาดุดันวิพากษ์นักการเมืองและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่ยังยอมให้คนซื้อหาอาวุธปืนได้อย่างง่ายดายเพื่อไปสร้างเหตุการณ์กราดยิงที่ทำให้คนตายและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดที่มีการยิงกันที่แคลิฟอร์เนีย ตาย 14 คนนั้นเป็นความรุนแรงลักษณะนี้ครั้งที่ 355 ในปีนี้แล้ว ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของระบบการเมืองสหรัฐฯที่ไม่สามารถจะแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้
บรรณาธิการ NYT บอกว่าเพราะเรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง จึงต้องปรับนโยบายโดยยอมให้มี Page One Editorial เพื่อย้ำความรุนแรงของปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้
ครั้งสุดท้ายที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นความเห็นหน้าหนึ่งหรือเมื่อปี ค.ศ. 1920 ครั้งนั้นเป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านการที่พรรครีพับบลิกันเสนอชื่อให้นาย Warren Harding เป็นตัวแทนพรรคในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี
หลังจากนั้น แม้บรรณาธิการจะต้องการสนับสนุนหรือคัดค้านผู้สนัครตำแหน่งประธานาธิบดีคนไหน, บทความเห็นนั้นก็จะปรากฏในหน้าบทนำหรือ Editorial Page หรือหน้า Op-Ed (Opposite the Editorial Page) เท่านั้น
ครั้งนี้ปัญหา Gun Control หนักหน่วงถึงขั้นที่ต้อง "กระทุ้ง" นักการเมืองด้วยการเอาบทนำขึ้นหน้าแรก
บรรณาธิการบอกว่า "แม้นี่จะเป็นยุคดิจิตัล แต่การเสนอความเห็นในเรื่องสำคัญต่อประเทศชาติที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ยังสามารถสร้างพลังแห่งมติมหาชนได้..."
"ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความปลอดภัยของชีวิตประชาชนแล้วไม่ใช่หรือ?" บก. ถาม

Saturday, October 3, 2015

Comments คนอ่านก็คือ Content ของสื่อ

คนทำสื่อมองความเห็นของคนอ่านและผู้ชมผู้ฟังที่ผ่านเข้ามาทาง social media อย่างไร?
ถ้าถาม Bassey Etim ที่มีตำแหน่งเป็น "community editor" ของ New York Times ก็จะได้คำตอบที่น่าสนใจว่าต่อแต่นี้ไปคนทำสื่อในยุคดิจิตัลจะต้องถือว่า readers' comments มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาที่ผลิตโดยกองบรรณาธิการของสื่อเอง
ทั้งนี้เพราะคนที่แสดงความเห็นทุกวันนี้มีความหลากหลายและมีความรู้กับประสบการณ์ไม่น้อยไปกว่าคนทำสื่อเองโดยเฉพาะในภาวะที่สื่อส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดจำนวนคนข่าวและคนสร้างเนื้อหาต่าง ๆ อันเกิดจากแรงกดดันของเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรายได้
การบริหาร comments จากข้างนอกสู่ห้องข่าวจึงมีความสำคัญ เพราะปัญหาที่คนทำสื่อเผชิญก็คือความเห็นที่ไหลเทเข้ามาจะต้องได้รับการกลั่นกรองและตรวจสอบ ตำแหน่ง community editor หรือ engagement editor จึงมีความสำคัญในการทำหน้าที่สื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับ commentators ที่มาจากทุกสารทิศด้วยภูมิหลังและวาระส่วนตัวที่ต่างกัน
นี่คืออีกหนึ่งความท้าทายสำหรับคนทำสื่อที่ยังตกอยู่ท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วง และยังไม่มีใครมีสูตรแห่งความสำเร็จที่พอจะเป็นแนวทางสำรับทุกสื่อได้

Monday, August 3, 2015



Reese News Lab เป็นโครงการทดลองสำหรับวงการสื่อที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่มีความเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อวงการสื่อทุก ๆ ด้านอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ไม่มีใครมีสูตรสำเร็จว่าเนื้อหา, ผู้บริโภค, ช่องทางการรับรู้และการสื่อสารจะต้องผ่านการปรับเปลี่ยนและปฏิวัติกันอย่างหนักหน่วงเพียงใด

"ห้องทดลองข่าว" แห่งนี้ตั้งอยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ (School of Journalism and Mass Communication) ของ University of North
Carolina at Chapel Hill ตั้งแต่ปี 2010 ด้วยเงินบริจาคของศิษย์เก่าคนทำทีวี   Reese Felts

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษเพราะตรงกับแนวคิด Media Lab ที่กำลังปรึกษากับคนในวงการเพื่อตั้งเป็น "ห้องทดลองข่าว" โดยมีเป้าหมายหลักคือศึกษา, วิเคราะห์, วิจัย
และนำเสนอแนวทางการทำงานของ "คนข่าวยุคดิจิตัล" เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งยังต้องสร้างเสริม "นวัตกรรม"
ด้านข่าวสารที่ตรงกับแนวคิด Journalism for Social Reform อันหมายถึงการสร้างเนื้อหาในสื่อสาธารณะเพื่อการปฏิรูปสังคมอย่างเป็นอิสระและได้มาตรฐานสากล
อีกด้วย



Reese News Lab มีเป้าหมายในการพัฒนาและทดลอง "ความคิดใหม่ ๆ" สำหรับวงการสื่อ โดยเขาเรียกว่า "pre-startup" ซึ่งหมายถึงการระดมความคิดเห็น
ถกแถลง แลกเปลี่ยน และนำเสนอหนทางใหม่ ๆ ก่อนที่จะนำไปลองทำเป็น startup สู่โลกภายนอกอย่างเป็นกิจลักษณะ

โครงการนี้เน้นไปในการสร้างทีมนักศึกษาที่วิจัยและสร้าง "ผลิตภัณฑ์สื่อ" ใหม่ ๆ โดยตอบ 3 คำถามหลักคือ

๑. ทำได้ไหม? (Can it be done?)
๒. มีใครต้องการมันหรือไม่? (Does anyone actually need this?)
๓. ผลิตภัณฑ์สื่อตัวนี้อยู่รอดด้วยตัวเองหรือไม่? (Could it sustain itself financially?)

วิธีการที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมด้านสื่อเช่นนี้จะต้องมีการสร้างกิจกรรมจำลองที่เรียกว่า prototypes และสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายพร้อมกับสำเรวจความเห็นและ
ความต้องการของผู้บริโภคสื่อเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งใหม่ ๆ ที่คิดและสร้างขึ้นมานั้นเป็นที่ต้องการของผู้คนอย่างน้อยก็จำนวนหนึ่ง อีกทั้งยังจะต้องให้แน่ใจว่าจะเกิด
ประโยชน์และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสื่อมวลชนที่ถูกต้องเป็นธรรม

นั่นคือจะต้องเป็นสื่อที่สร้างเนื้อหาเพื่อรับใช้สังคม สื่อที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม สื่อที่ช่วยสร้างเสริมชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ และสื่อที่ช่วยทำให้ประชาชนมีข้อมูลและความ
รู้เท่าทันในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เท่านั้นยังไม่พอ นวัตกรรมที่ว่านี้จะต้องมีมิติของความเป็นไปได้ทางธุรกิจ มียุทธศาสตร์ที่จะทำให้สิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ยืนอยู่บนขาตัวเองได้เพื่อความยั่งยืนและส่งไม้ต่อไปยัง
วงการสื่อนี้ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

ผมกำลังวางแผนสร้าง Media Lab เพื่อระดมความเห็นคนรุ่นใหม่, มืออาชีพปัจจุบันและผู้สนใจทุกวงการในการสร้าง "นวัตกรรมข่าว" สำหรับอนาคตที่จะยกระดับ
มาตรฐานของเนื้อหาสาระแห่งข่าวสารในภาวะที่เทคโนโลยีไม่อนุญาตให้ใครอยู่นิ่งเฉยได้แม้แต่วันเดียว

Media Lab ในแนวคิดของผมจะไม่เพียงแต่สร้างแนวทางนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดทุกรูปแบบเท่านั้น แต่ยังจะสร้างเป็น "ศูนย์สร้าง
คนข่าวยุคดิจิตัล" เพื่อฝึกปรือคนข่าวรุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารมวลชนที่คล่องตัว รับผิดชอบ ผลิตผลงานได้ทุก platforms และมุ่งมั่นรักษาจริยธรรมในโลก
สื่อที่กำลังเข้าสู่ช่วง "หักเห" (inflection point") อันสำคัญยิ่ง

ท่านผู้ใดมีความคิดความเห็นและข้อเสนอในแนวทางนี้เชิญร่วมนำเสนอความเห็นผ่านมาได้ครับ