Friday, March 29, 2013

เรียกมันว่า Drone Journalism

กองบรรณาธิการเครือเนชั่นกำลังสั่งเครื่องร่อน Drone ไร้คนขับมาเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานข่าวแล้ว...เพราะ Drone Journalism กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันที่สหรัฐฯ ถึงขั้นมีการสอนวิชานี้ให้กับนักศึกษากันในวิชานิเทศศาสตร์กันแล้ว
ความจริงการใช้เครื่องบินเล็กบังคับได้เพื่อลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อบันทึกภาพจากข้างบนได้มีการลองใช้กันบ้างแล้วในเมืองไทย แต่ยังไม่ได้ทำกันอย่างเป็นฝั่งเป็นฝานัก
เมื่อสนนราคาของเครื่องบินไร้คนขับ (ยังไม่ถึงกับเป็น Stealth หรือ "เครื่องบินล่องหน" อย่างที่อเมริกาส่งมาบินเหนือเกาหลีใต้เพื่อแสดงแสนยานุภาพให้เกาหลีเหนือได้เห็น) เริ่มจะถูกลง ก็ถึงจังหวะที่ Convergent Newsroom ของเครือเนชั่นจะนำมาใช้ให้คึกคักเพื่อเสริมงานด้านข่าวอย่างจริงจัง
ผมกำลังคิดจะใช้ "ฝูงบินโดรน" ขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อถ่ายทอดสดบางสถานการณ์ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ดูรายการข่าวทางโทรทัศน์ของเรากันทีเดียว
 ความจริง Drone Journalism มีประโยชน์มากมายหลายด้านเช่น
๑. ทำข่าวและถ่ายภาพจากบนท้องฟ้าได้ไม่ว่าจะเป็นข่าวจราจรติดขัด, ข่าวอากาศ, อุบัตเหตุหรือภัยธรรมชาติรวมถึงสภาพอากาศเป็นพิษหรือตำรวจตามล่าผู้ร้ายเป็นต้น
แต่ก่อนต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ราคาแพงจึงจะรายงานข่าวจากข้างบนได้ แต่วันนี้เมื่อมี Drone แล้ว อะไร ๆ ก็ง่ายขึ้น และใครที่กระโดดเข้าใช้โดรนก่อนก็จะได้เปรียบก่อน
๒. เครื่องบินโดรนไม่ใช่จะเพียงแค่ทำหน้าที่เก็บภาพสวย ๆ จากที่สูงเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้อุปกรณ์ที่เป็น sensor เพื่อเก็บข้อมูลหรือสแกนเพื่อประเมินสถานการณ์เขตน้ำท่วม, น้ำมันหรือสารเคมีรั่วลงน้ำ, หรือเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย
๓. โดรนสามารถช่วยให้นักข่าวและช่างภาพทำหน้าที่ของตัวได้ได้ปลอดภัยหรือเสี่ยงน้อยลงขณะทำข่าวที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายได้
อีกไม่นานเกินรอ เตรียมพบกับ "กองกำลังฝูงโดรน" ของเครือเนชั่นบนน่านฟ้าเพื่อรายงานข่าวและภาพอย่างคึกคักยิ่ง

Tuesday, March 26, 2013

ว่าด้วยพิมพ์ดีดและกระดาษชำระ

ภาพนี้ทำให้ผมคิดถึงคำว่า "yellow journalism" หรือ "smelly journalism" หรือข่าวสารขยะเหม็นเน่าที่คละเคล้าสื่อในบางประเภทบางเวลาซึ่งทำให้คนข่าวต้องตั้งคำถามและตรวจสอบทั้งเพื่อนร่วมอาชีพและตัวเองตลอดเวลา
คุณภาพข่าว "เหม็น ๆ" อย่างนี้แม้ภาพนี้จะสะท้อนจากเครื่องพิมพ์ดีดเก่า ๆ ที่พิมพ์อยู่บนกระดาษชำระในห้องส้วม แต่ในยุคดิจิตัลวันนี้, การส่งข่าวสารถึงกันและกันอย่างสะดวกรวเร็ววินาทีต่อวินาทีก็มิใช่รอดพ้นจากปัญหานี้ ตรงกันข้าม "ขยะข่าว" จะมากกว่เดิมด้วยซ้ำไป เพราะปริมาณข่าวสารที่ส่งถึงกันมีล้นหลามและไม่มีใครตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำไปทัน จึงยังต้องอาศัย "สื่ออาชีพ" ที่ต้องรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพไว้อย่างเหนียวแน่น หากยังจะดำรงไว้ซึ่งบทบาทแห่งความน่าเชื่อถือของตน


Thursday, March 21, 2013

จะเป็นตัวหนังสือแบบไหน...ความสุขคือการอ่าน

โลกจะชุลมุนกับความเป็นดิจิตัลเพียงใด ใครจะอ่านหนังสือจาก Kindle มากน้อยเพียงใดก็ตาม, ผมก็ยังชอบมาอ่านหนังสือแบบนี้ ...จะอ่านเองหรือเห็นคนอ่านอย่างจริงจังอย่างในภาพเขียนนี้ก็มีความสุขแล้ว

Wednesday, March 20, 2013

ถ้าคนอ่านประกาศว่า "ฉันไม่แคร์..." คนข่าวก็หมดสภาพทันที

เห็นป้ายนี้แล้วก็อดขำไม่ได้ และเผลอ ๆ จะเห็นด้วยกับเขาคนนี้ที่เสนอว่านอกจากมีปุ่ม Like ใน Facebook แล้วก็ควรจะมีปุ่ม "I Don"t Care" หรือ "Who Cares?" ด้วย
เพื่อว่าคนที่อ่านเจอข้อความที่ไม่มีใครจะต้องสนใจหรือไม่รู้ว่าทำไมใครจะสนใจสิ่งที่เขาหรือเธอคนนั้นโพสต์ข้อความขึ้นไปจะได้กดปุ่ม "ฉันไม่สน" หรือ "ทำไมฉันต้องแคร์?" เพื่อสะท้อนความรู้สึกของคนที่เข้าไปในเครือข่ายสังคมแล้วต้องอ่านเจอข้อความที่ไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องสนใจเลย
เช่นใครกินข้าวหรือยัง หรือบ่นปวดท้องปวดหัว และบ่อยครั้งเป็นข้อความหรือรูปที่คนที่ควรสนใจหรือรับรู้ก็มีแต่เจ้าตัวคนโพสต์ข้อความนั้นเท่านั้น
ดังนั้น คนที่ผ่านเจอไม่รู้ว่าจะกดกุ่ม Like ทำไม หรือจะกด Don't Like ก็กระไรอยู่ แต่ความรู้สึกจริง ๆ ในหลาย ๆ กรณีก็คือ "มันเกี่ยวอะไรกับฉันหรือเปล่านี่?"
จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับการรายงานข่าวหรือเขียนบทความที่บางครั้งคนอ่านก็เกิดความสงสัยเช่นกันว่าคนเขียนหรือรายงานนั้นถามตัวเองก่อนหรือเปล่าว่าเนื้อหาที่นำเสนอนั้นทำให้คนที่อ่านต้องถามตัวเองอย่างงง ๆ ว่ามันมีความเกี่ยวโยงหรือมีประโยชน์อะไรเกี่ยวกับเขาหรือเธอหรือไม่
บ่อยครั้งคนทำข่าวก็ไม่สนใจจะตอบคำถามนี้ก่อนจะเขียนรายงานนั้น ไป ๆ มา ๆ ถ้าทำอย่างนี้บ่อยเข้าคนอ่านหรือคนดูก็จะถามด้วยเสียงอันดังว่า
"ฉันไม่เห็นแคร์เลย"
อย่างนี้ถือว่าสอบตกอย่างแรงโดยเฉพาะในสภาพสังคมที่มีข่าวสารและเรื่องราวล้นหลามจนผู้คนไม่มีเวลาจะมาใส่ใจกับเรื่องราวที่ "มันเกี่ยวอะไรกับฉันหรือเปล่า?"
ทราบแล้วเปลี่ยน!

Sunday, March 17, 2013

สูตรคนอ่านหนังสือพิมพ์กับดิจิตัลของ Financial Times

ทิศทางของข่าวจะไปทางไหนมีหลายสูตร และหนึ่งในรูปแบบที่ผมติดตามใกล้ชิดคือของ Financial Times ของอังกฤษที่ถือได้ว่ามีแนวคิดล้ำหน้าหรือ ahead-of-the-pack ไม่น้อย
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือจำนวนสมาชิกที่อ่านจากดิจิตัลมีมากกว่าสมาชิกรับหนังสือพิมพ์แล้ว
ซึ่งถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าทึ่ง และยังไม่มีสื่อหนังสือพิมพ์ในโลกนี้ฉบับใดสามารถ "ข้ามพ้น" เส้นแบ่งระหว่างกระดาษกับดิจิตัลได้สำเร็จระดับนี้
ผู้บริหารของไฟแนนเชียลไทมส์ไม่ได้แสวงหาสูตรเพื่ออนาคตเพียงจากแวดวงสื่อเดิม ๆ เช่น New York Times หรือ Wall Street Journal เท่านั้น หากแต่ยังศึกษาวิธีการของ Amazon ซึ่งวันนี้เป็น "Internet retailer" ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเริ่มจากการขายหนังสือทางอินเตอร์เน็ทมาวันนี้ขายทุกอย่างที่ขวางหน้า
ด้วยวิธีการสร้างฐานข้อมูลผู้บริโภคและบริการได้อย่างละเอียดและรอบด้าน
(ผมเคยซื้อหนังสือประเภทไหนเมื่อไหร่, เขาเก็บข้อมูลเอาไว้วิเคราะห์หมด วันดีคืนดีก็จะส่งอีเมลมาบอกว่าหนังสือและสินค้าคล้าย ๆ กับที่ผมเคยสั่งซื้อนั้นวันนี้มีข้อเสนอใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอะไรบ้าง...จนทำให้เราต้องงุนงงว่าเขารู้จักเราละเอียดละออขนาดนั้นเชียวหรือ)
วันนี้ FT มีสมาชิกหนังสือพิมพ์ 286,000 รายและสมาชิกที่อ่านจากดิจิตัล 316,000 ราย กลายเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในโลกที่คนอ่านเนื้อหาดิจิตัลมากกว่าหนังสือพิมพ์
ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือในจำนวนสมาชิก digital subscribers 316,000 นั้นมีมากถึง 163,780 รายหรือ 51% ที่เป็นการซื้อโดยบริษัทให้กับพนักงานตัวเองได้อ่าน
อย่างนี้เรียกได้ว่าเป็นธุรกรรมระหว่างธุรกิจหรือ business-to-business sales
นี่คือกลยุทธ "ธุรกิจทางตรง" ในรูปแบบการขายผ่าน direct relationships (ทำนองเดียวกับที่เครือเนชั่นขายเนื้อหาของสื่อไปมหาวิทยาลัยบางแห่งในลักษณะเดียวกัน)
และที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากันก็คือการที่ FT สามารถคิดราคาสมาชิกดิจิตัลแพงกว่าสมาชิกสิ่งพิมพ์ ($450 เหรียญในอเมริกาสำหรับระดับ premium ซึ่งสามารถอ่านเนื้อหาเจาะลึกและคอลัมน์พิเศษบางคอลัมน์ได้ ซึ่งสูงกว่าราคาสมาชิกสิ่งพิมพ์ $52)
แต่อีกด้านหนึ่ง รายได้โฆษณาจากดิจิตัลยังต่ำ เพียงแค่ 10% ผ่านมือถือเท่านั้นเอง
แต่หากจะรวมเอารายได้จากคนอ่านผสมกับรายได้จากโฆษณาทางดิจิตัลทั้งหมด ก็พอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำไม่น้อยเช่นกัน
ความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวยังดำเนินต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ดังนั้นผมจึงต้องจับชีพจรของการทดลองสูตรต่าง ๆ ของสื่อทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยที่มีจังหวะและวัฒนธรรมการอ่านที่แตกต่างในหลาย ๆ ด้านที่น่าตื่นตาตื่นใจเช่นกัน



Sunday, March 3, 2013

การเลือนหายของหนังสือพิมพ์ระดับสากล IHT

คนเคยอ่าน International Herald Tribune (IHT) และชอบลีลาการรายงานข่าวและการเขียนข่าวต่างประเทศที่เป็น "สากล" กว่าอเมริกัน (เพราะมีสำนักงานอยู่ที่ปารีสแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหนังสือพิมพ์มะกัน) บ่นเสียดายที่หนังสือพิมพ์อายุ 126 ปีฉบับนี้จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น The International New York Times ในเร็ว ๆ วันนี้
เพราะชื่อ IHT มีประวัติยาวนาน ตีพิมพ์ 38 จุดทั่วโลกและวางขายกว่า 160 ประเทศ
ช่วงปี 1991สองหนังสือพิมพ์ยักษ์ของสหรัฐฯคือ Washington Post และ New York Times เคยเป็นเจ้าของ IHT ร่วมกัน แต่ต่อมาในปี 2003 นิวยอร์กไทมส์ซื้อหุ้นของโพสต์ เป็นเจ้าของคนเดียวเพื่อจะได้ชื่อว่า IHT เป็น "Global Edition of the New York Times."
IHT เปิดสำนักงานข่าวสำหรับเอเซียที่ฮ่องกงเมื่อ 2005 และพยายามรายงานข่าวจากมุมมองของเอเซียมากขึ้น แต่นักข่าวส่วนใหญ่ก็ยังเป็นฝรั่ง ไม่ค่อยได้เห็นชื่อคนข่าวที่เป็นเอเซียเท่าไหร่นัก และเมื่อบริษัทแม่ที่นิวยอร์กต้องเผชิญกับปัญหาคนอ่านสื่อหนังสือพิมพ์น้อยลง, ก็พอจะเดาได้ว่าจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อ IHT อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนยุคที่อ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศเพื่อเนื้อหาที่ลุ่มลึก, รอบด้าน, และมีสีสันว่าด้วยมุมมองจากนานาทัศนะที่ไม่ค่อยมีใครรายงานเท่าไหร่ก็มีอันต้องบ่นเสียดายกันยกใหญ่
สำหรับคนรุ่นนั้น, บรรยากาศของการมีกอง บก. อยู่ปารีสเพื่อรายงานและทำหนังสือพิมพ์ออกมาทุกวันท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามและยุคหลังสงครามเป็นความทรงจำที่หวนกลับไปสัมผัสได้ยากยิ่ง
จะบอกว่าการเลือนหายไปของ IHT เป็นส่วนหนึ่งของผลพวงแห่งการเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์สื่อโลกดิจิตัลก็คงจะไม่เกินเลยความจริงนัก
ภาพนี้มาจากหนังเรื่อง "Breathless" ที่มีนางเอก Jean Seberg แสดงเป็นสาวขายหนังสือพิมพ์ IHT ที่เฟื่องฟูสุด ๆ ในยุคนั้น