Wednesday, December 25, 2013

ความหมกมุ่นของผู้เสพข่าว

ภาพนี้ตกแต่งหรือเปล่าไม่ทราบ แต่สะท้อนถึงความรู้สึกของคนปัจจุบันได้ดี เพราะไปไหนผู้คนหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ไม่สนใจที่จะสื่อสารกับคนที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือสถานที่สาธาณะ ลองย้อนกลับไปตอนที่คนอ่านหนังสือพิมพ์เป็นหลัก เขาจะตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือพิมพ์โดยไม่สนทนากันเลยหรือไม่? ฉากนี้ไม่น่าจะเกิดในชีวิตจริงในอดีต แต่สมมติว่าย้อนเวลากลับไปได้ พฤติกรรมอย่างนี้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร? น่าคิด

Tuesday, October 8, 2013

มาแล้ว Nielsen Twitter TV Ratings

และแล้ว Nielsen ซึ่งวัดจำนวนคนดูทีวีมาหลายสิบปีจากหน้าจอทีวีอย่างเดียวก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง...คนทั่วไปไม่ได้ดูจอทีวีอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่เสพเนื้อหาผ่าน Second Screen มากขึ้นจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ปฏิเสธไม่ได้แล้ว

คำว่า "จอที่สอง" หมายถึงทุกจอที่ไม่ใช่จอทีวี ไม่ว่าจะเป็นมือถือ, แทบเบล็ท, โน็ตบุ๊คหรือจอกลางแจ้งทั้งหลายทั้งปวงที่ก่อให้เกิดการใช้ social media เพื่อแสดงความเห็นหรือแบ่งปันกับเพื่อนและผู้อยู่ร่วมเครือข่ายสังคมไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์, เฟซบุ๊คหรือเครื่องมือการสร้างปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ทุกอย่าง

แต่ก่อน Nielsen วัดได้แต่เพียงจำนวนคนดูหน้าจอทีวีแต่เพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมการเสพสื่อของคนปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจนการวัด audience ratings แบบเก่าไม่สามารถตอบโจทย์ของนักการตลาดและนักวิเคราะห์ความนิยมของผู้คนได้อีกต่อไป

เมื่อวานนี้่ Nielsen ประกาศจับมือกับ Twitter เพื่อสร้าง Nielsen Twitter TV Rating เพื่อหาวิธีการวัดความนิยมของคนดูทีวีผ่านการทวิตในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ Retweet หรือการแสดงความเห็นต่อรายการทีวีที่ดูอยู่หรือที่เพื่อนส่งมาให้ดูต่อก็ตาม

ความหมายของคำว่า Metrics และ Benchmark ในการประเมินพฤติกรรมคนดูทีวีจึงปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

การวัดความนิยมของคนดูต่อรายการจึงไม่เพียงแต่ประเมินจากการที่คนดูแสดงความเห็นต่อเนื้อหาที่ดูหน้าจอทีวี (ซึ่งอาจจะดูจากคลิบในมือถือหรือแทบเบล็ท ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่หน้าจอทีวีเหมือนแต่ก่อน) เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการวัดจำนวนและคุณภาพของคนทุกคนที่ได้รับข้อความผ่านทวีตเกี่ยวกับสาระและเนื้อหานั้น ๆ อีกด้วย

จึงเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างทีวีกับโซเชียลมีเดียอย่างลึกซึ้งมากขึ้นตามลำดับ

นีลสันวิเคราะห์แล้ว พบว่าจำนวนคนดูโดยเฉลี่ยผ่านทวิตเตอร์ของรายการดัง ๆ ใน NBC เช่น The Voice มีมากกว่าคนที่ทวิตถึง 50 เท่า

จึงเป็นที่มาของการที่องค์กรวัด Ratings ทีวีเก่าแก่อย่าง Nielsen อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องกระโดดเข้ามาวัดความนิยมของคนดูรายการทีวีผ่านทวิตเตอร์อย่างชนิดที่ช้าไม่ได้อีกต่อไป

ทวิตเตอร์ทุกเปรียบเสมือนที่ชุมนุมของคนทั้งหลายที่แลกเปลี่ยนความเห็นต่อรายการทีวีสด ๆ นาทีต่อนาทีโดยเฉพาะเมื่อมีรายการร้อน ๆ เช่นตอนจบของหนังได้รางวัลเอมมี่อย่าง Breaking Bad หรือรายการกีฬาระดับโลกเช่น Super Bowl

นีลสันบอกว่าคนอเมริกันประมาณ 19 ล้านคนส่งข้อความในทวิตเตอร์กว่า 263 ล้านทวิตเกี่ยวกับรายการทีวีในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ หรือกระโดดขึ้น 38% ของจำนวนข้อความทวีตเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเดียวกันในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น

ปรากฎการณ์ใหม่นี้สะท้อนว่าทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คกำลังกลายเป็น "ใจกลางของการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูล" เกี่ยวกับการดูทีวีอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

อีกทั้งยังเป็นการยืนยันว่าพฤติกรรมผู้ดูทีวีวันนี้เป็นการเสพเนื้อหามากกว่าหนึ่งจออย่างแน่นอน

และเมื่อพูดถึง "ดูทีวี" ก็ย่อมหมายถึงการ "ดูวีดีโอคลิบ" ทุกเรื่องในทุกสถานการณ์เช่นกัน

สำหรับคนข่าวเนชั่นที่กำลังซ้อมใหญ่สำหรับการเปิดตัวของดิจิตัลทีวี, นี่คือ Second Screen ที่จะเสริมส่งให้การผลิตเนื้อหาทางทีวีเพิ่มความคึกคักขึ้นอีกหลายชั้นทีเดียว

Tuesday, October 1, 2013

ยุทธศาสตร์ 5 จอ

เครือเนชั่น"ย้ำวิชั่นลุยดิจิทัลมีเดีย ชูกลยุทธ์โฟกัส 5 หน้าจอ ผสานห้องข่าวคอนเวอร์เจนท์ "สุทธิชัย"ชี้ไม่ปรับตัวมีโอกาสตาย

นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) กล่าวในการบรรยายหัวข้อ "Digital Yours" งาน "ซอฟต์แวร์ เอ็กซ์โป เอเชีย 2013" ว่า เครือเนชั่นเดินหน้าบุกหนักสมรภูมิดิจิทัลมีเดีย บนภูมิทัศน์สื่อใหม่ซึ่งมีทีวีดิจิทัลเป็นจุดโฟกัส รับมือเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะโมบาย ที่ค่อยๆ ผลักดันให้แวดวงสื่อสารมวลชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมที่ คำว่า "NEWS" มาจาก North, South, East และ West ปัจจุบันกลายเป็น NOW, Everywhere, Why wait? และ Share it ตามลำดับ

นอกจากนี้ ไม่มีใครสามารถควบคุมการไหลของโซเชียล มีเดียได้ การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดดังกล่าวส่งผลให้เครือเนชั่นเร่งปรับกลยุทธ์โดยก่อตั้ง “Convergent Newsroom” ขึ้นมาเพื่อดึงจุดแข็งของทีมงานพร้อมผสานการทำงานระหว่างห้องข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ รวมถึงสื่ออื่นๆ ที่มีอยู่ในเครือเข้าไว้ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์สำคัญวางจุดโฟกัสไว้ที่ 5 หน้าจอหลัก (5-Screen Strategy) คือ โทรทัศน์, แทบเล็ต, คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และสื่อดิจิทัลที่อยู่ภายนอกสถานที่ มองว่าขณะที่สื่อมวลชนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น ทุกช่องทาง ทุกเวลา ผู้มีบริโภคเองมีตัวเลือกที่หลากหลาย โดยมีคอนเทนท์เป็นพระราชา ทุกช่วงเวลาคือไพรม์ไทม์ โมบายได้เข้าไปแทรกซึมทุกจังหวะของชีวิตตั้งแต่ตื่นนอน การนำเสนอข่าวจึงต้องเป็นรูปแบบมัลติมีเดียแพลตฟอร์ม ขณะที่ช่วงปลายปีนี้แวดวงสื่อจะยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นเมื่อวงการทีวีถูกปฏิวัติไปสู่ทีวีดิจิทัล โดยเนชั่นหวังเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อเนื่องคือความพร้อมของคน เพราะแม้ปรับเปลี่ยนมาแล้วช้านาน ทว่าในอนาคตไม่อาจทราบว่าเทรนด์จะเป็นอย่างไร จากนี้ต้องคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

Sunday, September 29, 2013

Open Newsroom: อีกช่องทางหนึ่งของห้องข่าวดิจิตัล

คำว่า "ห้องข่าวเปิด" หรือ Open Newsroom เป็นนวัตกรรมของคนข่าวที่ต้องการให้คนอ่านและผู้บริโภคข่าวมีส่วนร่วมในการเสริมให้คนข่าวอาชีพสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับโลกยุคที่ social media สามารถทำให้ทุกคนมีส่วนในการสร้างเนื้อหาสาระของข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นส่วนรวมได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

Storyful เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะก้าวเข้าสู่ภูมิทัศน์แห่งห้องข่าวยุคดิติจัลเช่นนั้น เป็นรูปแบบของ "สำนักข่าว" ที่ใช้เครือข่ายสื่อสังคมเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างคนทำข่าวกับผู้บริโภคข่าวที่สามารถแลกเปลี่ยนและเสริมการทำงานของกันและกัน

เริ่มต้น Storyful ใช้ Google+ เป็นแหล่ง "พบปะ" ของคนข่าวและสมาชิกจำนวนหนึ่งที่จะช่วยตรวจสอบภาพ, วีดีโอ, และเนื้อหาอื่น ๆ ที่ผ่านเข้ามาทาง Twitter, Facebook, Youtube และ Flickr และนำเสนอร่วมกันด้วยการประสานงานของมืออาชีพข่าวกับผู้รู้ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ที่จะให้ความเห็นร่วมกันต่อข่าวใหญ่ประจำวัน

บรรณาธิการของ Storyful Markham Nolan บอกว่าเป้าหมายของการเปิด "ห้องข่าวเปิด" ก็เพื่อจะได้เปิดประตูกว้างให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมตรวจสอบว่าข่าวและภาพแต่ละชิ้นนั้นมีความถูกต้องแม่นยำเพียงใด

เช่นหากมีข่าวเรื่องสงครามที่ซีเรีย อาจจะคนเขียนบล็อกบางคนที่เชี่ยวชาญด้านอาวุธเข้ามาให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ในการทำศึกสงคราม และตรวจสอบว่าข่าวที่เขียนจากภาคสนามเกี่ยวกับอาวุธที่ใช้นั้นถูกต้องแม่นยำเพียงใด

ห้องข่าวเปิดเช่นนี้มีลักษณะละม้ายกับที่ BBC เปิด "โต๊ะ User-Generated Content" ในห้องข่าวเพื่อให้คนดูและประชาชนทั่วไปส่งข่าว, ภาพและวีดีโอเข้ามาเพื่อแบ่งปันกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นักข่าวบางคนเช่น Andy Carvin แห่ง NPR ก็เคยขอให้เพื่อน ๆ ของเขาในทวิตเตอร์ช่วยตรวจสอบภาพของเหยื่อสงครามในอียิปต์และตูนีเซีย หรือวีดีโอของตึกรามบ้านช่องที่ถูกระเบิดถล่มพังเสียหายและเนื้อหาข่าวอื่น ๆ ที่เขาเตรียมจะรายงาน แต่อยากให้ผู้รู้จริงใน social media ได้ช่วยตรวจสอบดูก่อนว่าถูกต้องและตรงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใดหรือไม่

แวดวงข่าวของไทยเรายังไม่มีการทำ "Open Newsroom" ลักษณะนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแม้จะมีนักข่าวบางคนจะใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กในการสร้างบทสนทนากับผู้คนในวงการเครือข่าวสือสังคมในการตรวจสอบและถามไถ่ถึงรายละเอียดในประเด็นที่เป็นข่าวบ้างก็ตาม

น่าเชื่อได้ว่า Open Newsroom จะค่อย ๆ เกิดขึ้นได้ในห้องข่าวขององค์กรข่าวที่ต้องการจะขยับขยายการทำหน้าที่ให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในกระบวนการเฟ้นหาความจริงและตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาก่อนการนำเสนออย่างแน่นอน

Sunday, September 8, 2013

Jeff Bezos บอกคนข่าว Post: "No 1 Rule: Don't be boring."

Jeff Bezos เจ้าของคนใหม่ของ Washington Post พบกับคณะบรรณาธิการเป็นครั้งแรกและประกาศจะแจ้งว่า "The Number One Rule has to be: Don't be boring."
พูดง่าย ๆ คือคนข่าวยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ต้องใส่ใจผู้บริโภคมาเป็นอันดับหนึ่ง และสัจธรรมข้อแรกของการอยู่รอดคือต้องไม่ทำอะไรที่ผู้คนบอกว่า "น่าเบื่อ"
เจฟ เบซอสรับปากว่าจะให้การสนับสนุนทางการเงิน และจะเสนอ "point of view" หรือวิธีคิดของเขาให้กับผู้บริหารหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เพื่อที่จะทดลองหาสูตรที่จะทำให้การทำหน้าที่ด้านข่าวสารนี้อยู่รอดทางธุรกิจด้วย
"Making money isn't enough. It also has to be growing." เป็นอีกหนึ่งถ้อยแนะนำจากเจ้าพ่อด้านดิจิตัลที่กลายเป็นมหาเศรษฐีจากการขายของผ่านอินเตอร์เน็ทด้วยนวัตกรรมต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งในรูปของ Amazon.com
ความหมายของเขาก็คือว่าแค่ทำเงินอย่างเดียไม่พอ ธุรกิจด้านสื่อจะต้องสร้างฐานเพื่อการเติบโตด้วย หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่าถ้าไม่โต, ก็อยู่ไม่รอดเช่นกัน เพราะคนอื่นเขาจะโตเร็วกว่าและกลืนสื่อที่ย่ำอยู่กับที่
เขาบอกว่า "All businesses need to be young forever. If your customer base ages with you, you're Woolworth's."
เจ้าของอเมซอนดอทคอมยืนยันว่าธุรกิจทุกอย่างจะต้อง "รักษาความเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดเวลา" เพราะหากฐานลูกค้าของคุณร่วงโรยในวัยตามคุณ, คุณก็จะหมดสภาพเช่นเดียวกับเครือข่ายขายปลีกชื่อดังอย่างวูลเวิร์ทส์ที่ถูกโลกดิจิตับแซงหน้าจนเกือบจะไม่มีที่ยืนแล้ว แกบอกว่าหากจะสามารถค้นพบ "ยุคทองใหม่" ของวอชิงตันโพสต์ ก็จะต้องมาจากความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ โดยทีมงาน "ผมจะให้คำแนะนำจากที่ห่าง ๆ ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้ ผมก็ไม่ควรจะได้เครดิตว่าเป็นฝีมือของผม" แกบอกกับบรรณาธิการและนักข่าวในการพบปะกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการหลังการประกาศซื้อธุรกิจโพสต์จากตระกูลแกรแฮมที่เป็นเจ้าของมา 80 ปีที่ราคา 250 ล้านเหรียญหรือประมาณ 7,500 ล้านบาท เจฟ เบซอสก่อตั้ง Amazon.com เมื่อปี 1994 และสร้างเป็นยักษ์ใหญ่วงการอินเตอร์เน็ทอย่างร้อนแรง วันนี้ประเมินกันว่าแกมีความมั่งคั่งอยู่ที่ 22,000 ล้านเหรียญหรือ 660,000 ล้านบาท แกบอกคนทำข่าวว่าหลักการทำงานสำคัญ 3 ข้อของอเมซอนที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ "Put the customer first. Invent. And be Patient." ฟังดูง่าย แต่ปฏิบัติได้ยากยิ่ง นั่นคือให้ยึดถือลูกค้ามาก่อน, สร้างนวัตกรรมและอดทนรอเก็บเกี่ยวผลที่ตามมา แกบอกว่าหากคนข่าวของวอชิงตันโพสต์เปลี่ยนคำว่า "ลูกค้า" เป็น"คนอ่าน" ได้เมื่อไหร่, นั่นคือความสำเร็จแน่นอน

Monday, August 12, 2013

ไทม์เพิ่มฝ่ายผลิตสารคดีสั้น...เพื่อความอยู่รอดของสิ่งพิมพ์

นิตยสารไทม์ประกาศก้าวเข้าสู่การผลิตสารคดีดิจิตัลเพื่อเสริมเนื้อหาของตน...เป็นอีกก้าวหนึ่งของการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์สหรัฐฯ

ไทม์ไม่ได้บอกว่าจะทำทีวี เพียงแต่ต้องการให้คนข่าวของเขาทำสารคดีเพื่อจะได้เพิ่มเนื้อสาระสำหรับคนที่ต้องการจะเสพข่าวมากกว่าเพียงแค่ตัวหนังสือ นิตยสารรายสัปดาห์เก่าแก่ฉบับนี้จึงตัดสินใจตั้ง Red Border Films เพื่อฝึกให้คนข่าวสิ่งพิมพ์ก้าวข้ามอุปสรรคเก่ามาฝึกทำสารคดีบนแผ่นฟิล์มบน digital interative platform ที่เขาหวังว่าจะสามารถดึงให้คนอ่านยังอยู่กับตัวหนังสือและเข้าไปในเว็บไซท์เพื่อดูสารคดีสั้นได้

ผมดูสารคดีสั้นที่ใช้เปิดตัวสารคดีสั้นในหัวข้อ One Dream แล้วก็พอเห็นศักยภาพของคนข่าวไทม์เขียนสคริปท์, ถ่ายทำ, และตัดต่อเป็นสารคดีสั้นได้ในระดับหนึ่ง แต่จะยั่งยืนและผลิตสารคดีได้ต่อเนื่องอย่างไรยังเป็นคำถามที่ต้องแสวงหาคำตอบอยู่

คู่แข่งเก่าของ Time คือ Newsweek แปรสภาพจากสิ่งพิมพ์เป็นนิตยสารออนไลน์มาได้ระยะหนึ่ง และบัดนี้ถูกขายต่อไปอีกทอดหนึ่ง อนาคตดูมืดมนอย่างไรชอบกล...

Thursday, August 8, 2013

หรือเพราะปรับตัวสู่โลกดิจิตัลช้าไป?

ภาพนี้แสดงว่า Washington Post ปรับตัวสู่โลกดิจิตัลช้ากว่าสื่ออื่น ๆ...อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เกิดภาวะอ่อนแอภายในจนตระกูล Graham ที่เป็นเจ้าของมายาวนานถึง 80 ปีต้องตัดสินใจขายให้กับเจ้าของสื่อดิจิตัลแนวหน้าอย่างเจ้าของ Amazon.com ...เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของ legacy media ในภาวะที่ผมเรียกว่า "Perfect Storm" ซึ่งแปลว่าพายุร้ายกลางมหาสมุทรที่ถาโถมมาจากทุกทิศทาง กัปตันเรือและลูกเรือต้องปรับตัวและประสานงานกันตลอดเวลา หากไม่ขี่ "ยอดคลื่น" ก็ถูกทะเลบ้ากลืนหายไปเท่านั้นเอง

เมื่อเจ้าของ Amazon.com ซื้อ Washington Post

อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้, ก็เกิดขึ้นให้ได้เห็นในช่วงชีวิตอันสั้น ๆ ของคนแล้ว
ข่าวตระกูล Graham ขายหนังสือพิมพ์ Washington Post เก่าแก่ 80 ปีให้กับ Jeff Bezos เจ้าของ Amazon.com ทำเอาวงการสื่อทั้งโลกตื่นตะลึงพอสมควร
ความคิดแรกสำหรับบางคนอาจจะตีความว่าสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ถูกสื่อดิจิตัลอย่างเว็บไซท์ขายของยึดครองเสียแล้ว
ความคิดต่อมาคือหากบีซอสที่ประสบความสำเร็จด้านโลกออนไลน์อย่างเกรียวกราวกล้าควัก 250 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท) เพื่อเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านความกล้าหาญและขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวระดับชาติอย่างนี้แล้ว, ก็ย่อมแปลว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีความหวังที่จะอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงและรุนแรง
แปลว่าเจ้าของอะเมซอนเชื่อว่าตัวเองจะรักษาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เอาไว้ได้อย่างน้อยอีกระยะหนึ่งทีเดียว
คนทำงานหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่ถือว่าเป็นสถาบันของวงการข่าวมายาวนานยอมรับว่าเมื่อได้รับทราบข่าวเรื่องนี้เช้าวันจันทร์ ปฏิกิริยาแรกคืออาการช็อก เพราะการเจรจาซื้อขายครั้งนี้เงียบกริบ ไม่มีข่าวแพร่งพรายออกมาก่อนแม้แต่น้อย
ประธานบริษัทคือ Donald Graham และกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นหลานสาวชื่อ Katharine Weymouth เรียกประชุมพนักงานทั้งหมดเพื่อประกาศข่าวนี้ หลายคนที่ทำงานมานานร้องไห้ อีกหลายคนตะลึงงัน
โดนัล แกรแฮมยอมรับว่าเมื่อเริ่มเจรจาพูดคุยเรื่องขายหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตัวเองก็ช็อกเหมือนกัน แต่เมื่อคุยกับเจ้าของอะเมซอนคนที่คุ้นเคยและเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป
“หากยังอยู่เหมือนเดิม เราก็ยังเชื่อว่าวอชิงตันโพสต์จะอยู่รอดและทำกำไรได้ แต่เราต้องการทำอะไรมากกว่าเพียงแค่อยู่รอด ผมไม่ได้รับรองว่านี่จะประกันความสำเร็จได้ แต่มันทำให้เรามีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากกว่าเดิม...” เขาบอก
นายบีซอสเองเขียนจดหมายถึงพนักงานวอชิงตันโพสต์เพื่อยืนยันว่าจะไม่ก้าวก่ายการบริหารวันต่อวัน
“ไม่ว่าจะเปลี่ยนเจ้าของหรือไม่ ก็หนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี แต่วอชิงตันโพสต์เป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมอเมริกัน ผมไม่ได้ยืนยันว่าผมมีแผนสำหรับอนาคตที่เบ็ดเสร็จแล้ว เราคงต้องทดลองหลาย ๆ สูตร แต่สิ่งที่ผมรู้ว่าจะไม่ต้องเปลี่ยนคือคุณค่าของความเป็นวอชังตันโพสต์ หน้าที่ของหนังสือพิมพ์มีต่อคนอ่าน, ไม่ใช่เจ้าของ...”
เขาบอกว่าเขาจะยังทำงานอยู่ที่ “วอชังตันอีกแห่งหนึ่ง” (หมายถึงเมืองซีแอตเติล, รัฐวอชิงตัน, ไม่ใช่เมืองหลวงวอชิงตันอันเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์วอชิงตันโพสต์) และจะให้ฝ่ายบริหารปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิม
ความสำเร็จของบีซอสในการสร้าง Amazon.com เป็นเว็บไซท์ขายปลีกสินค้าสารพัดชนิดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีและพร้อมที่จะรองรับสภาวะเสี่ยงทางการเงินของวอชิงตันโพสต์ที่รายได้ตก 44% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา  และยอดขายหนังสือพิมพ์ที่หดตัว 7% ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้
ตัว Amazon.com เองมีรายได้ก้าวกระโดดมาตลอด ปีที่แล้วรายงานรายได้กว่า 60,000 ล้านเหรียญหรือ 1,800,000 ล้านบาท
หรือเท่ากับเกือบ 3 เท่าของรายได้รวมของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ทั้งประเทศสหรัฐฯ!
แต่กระนั้น ตัวเลขการเงินของอะเมซอนตอนสิ้นปีที่แล้วก็ยังเป็นตัวแดง แม้ว่าราคาหุ้นของบริษัทจะสูงโด่งเพราะนักลงทุนเชื่อมั่นว่าที่บีซอสทุ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจของเขาจะกลับกลายมาสร้างรายได้มหาศาลในอนาคต
Amazon.com กระตุ้นความมั่นใจให้กับวงการนักลงทุนเพราะสร้างรายได้จากโฆษณาได้เกือบ 610 ล้านเหรียญหรือประมาณ 18,300 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดกันว่าจะโตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 33% ในปีนี้
และหากเจ้าของอะเมซอนเชื่อว่าเขาสามารถจะปกปักรักษาสิ่งพิมพ์ที่มีประวัติศาสตร์อันโดดเด่นในฐานะสื่ออาชีพมายาวนานอย่าง Washington Post แล้วไซร้, ก็แปลว่าเขาพร้อมที่จะเล่นเกมยาวพอสมควรทีเดียว
ในฐานะที่ยังเชื่อมั่นในสื่อสิ่งพิมพ์และมีความหวังในสื่อดิจิตัลเต็มที่, ผมเชื่อในความมุ่งมั่นที่จะให้ Washington Post เสริมฐาน Amazon.com ของเขา

Sunday, August 4, 2013

โอกาสทองของผู้ผลิตเนื้อหา...สตรีมขึ้นจอทีวีตรงผ่าน Chrome!

คนทำทีวีอย่างผมเมื่อเห็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนสามารถดูคลิบวีดีโออย่างสะดวกดายในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นทุกวันก็ย่อมตื่นเต้นที่จะผลิตเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้นทุกเวลา
ล่าสุด Google ออก Chromecast มาสร้างความฮือฮารอบใหม่ เพราะเจ้าอุปกรณ์เล็ก (ขนาด 2 นิ้ว, หน้าตาเหมือน thumb drive)  ที่เห็นอยู่นี้สามารถช่วยให้คุณสตรีมเนื้อหาจากอินเตอร์เน็ททุกรูปแบบไปอยู่บนจอทีวีใหญ่ได้อย่างง่ายดาย
แค่มีเครือข่าย Wi-Fi เท่านั้น คุณก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์, มือถือหรือแทบเบล็ทของคุณเป็นตัว remote control เพื่อโอนย้ายคลิบวีดีโอทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ทขึ้นจอทีวีเพื่อนั่งดูให้เต็มหูเต็มตาอย่างสบายใจได้เลย
กูเกิลประกาศว่านี่คืออุปกรณ์ขนาดจิ๋วที่สะดวกถึงขั้น “…zero setup time, no learning curve, and one that works with all platforms and devices.”
แปลว่าไม่ต้องใช้เวลาติดตั้ง ไม่ต้องมีใครมาสอนว่ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร และทำงานกับทุกสื่อได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
สนนราคาแค่ 35 เหรียญหรือประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น
ณ วันนี้ เจ้า Chromecast สามารถสตรีมได้จาก YouTube, Google Play และ Netflix แต่กำลังจะขยายออกไปสู่ apps อื่น ๆ เช่น Pandora ในอนาคตอันใกล้
แน่นอนว่าอุปกรณ์ใหม่ของกูเกิลนี้เป็นการปะทะซึ่ง ๆ หน้ากับ Apple TV และกล่อง Roku ที่ทำหน้าที่เป็น Internet-on-TV solutions ซึ่งยังใช้กันจำกัดอยู่ที่คนจำนวนหนึ่งเท่านั้น
หากเจ้า Chromecast ทำงานได้ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า, ตลาดด้านนี้จะเปิดกว้างขึ้นอย่างคึกคักแน่นอน
เพราะอุปกรณ์ใหม่ชิ้นนี้ทำให้คุณไม่ต้องพึ่งพากล่องเคเบิลต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เพราะมันไม่ได้สตรีมจากเครื่องแล็บท็อปของคุณไปยังจอทีวี แต่มันสามารถสตรีมตรงเข้าจอทีวีเลย ด้วยการเสียบเข้าไปใน HDMI port และสามารถใช้ได้กับทั้ง Android และ Apple iOs อีกด้วย
สิ่งที่จะตามมาสำหรับผู้บริโภคสื่ออย่างผมก็คือ
ผมจะดูเนื้อหาจากอินเตอร์เน็ทมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมันง่ายกว่าเดิมเยอะ และจะดูในจอทีวีใหญ่ ซึ่งหมายความว่ารายการทีวีที่ผมจะดูผ่านจอทีวีจะไม่จำกัดเฉพาะที่เจ้าของสถานีทีวีกำหนดเท่านั้น ผมดูรายการจากอินเตอร์เน็ทได้ทุกเรื่องโดยที่ผมเป็นคนกำหนดและคลิกเองทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเมื่อใช้เจ้าอุปกรณ์ของกูเกิลเพื่อดูคลิบได้จากที่ต่าง ๆ ในจอทีวีแล้ว กูเกิลก็จะรู้ว่าเราชอบดูอะไร และจะแนะนำให้เราดูอะไรบ้าง ซึ่งก็จะนำไปสู่การที่กูเกิลจะขายโฆษณาได้มากและหลากหลายยิ่งขึ้น
อีกด้านหนึ่ง กูเกิลก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการเสนอขายรายการและหนังจาก Play Store ซึ่งเท่ากับเป็นการแข่งขันกับ Apple และ Amazon โดยตรงเช่นกัน
การดูทีวีก็จะไม่ใช่การที่เราต้องพึ่งพาตัวเครื่องหรืออุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป เพราะคนดูจะเป็นผู้กำหนดสิ่งที่ตนต้องการดู เช่นเริ่มดูที่ห้องหนึ่ง และดูต่อในอีกห้องหนึ่ง และสามารถดูต่อได้ขณะเดินทางบนแท็บเบล็ทเป็นต้น
ใครที่ต้องนำเสนอภาพและวีดีโอในการประชุมหรือสัมมนา ก็หยิบเจ้า Chromecast ไปด้วย สามารถใช้ทำงานได้อย่างสนุกสนานในทุกสถานที่และกาลเวลาทีเดียว
ทั้งหมดนี้คือโอกาสทองสำหรับผู้ผลิตเนื้อหาที่ไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของสถานีทีวี (ที่เคยชินกับการผูกขาดและปฏิบัติต่อผู้ผลิตเนื้อหาเยี่ยงทาสมาหลายสิบปี) อีกต่อไป เพราะท่านสามารถส่งเนื้อหารายการของตนเข้าตรงถึงผู้บริโภคได้
สำหรับเครือเนชั่นที่เตรียมประมูลทีวีดิจิตัลอีกสองสามเดือนข้างหน้าพร้อมยุทธศาสตร์ “ห้าจอ” หรือ 5-Screen Strategy (จอทีวี, คอมพิวเตอร์, แทบเบล็ท, มือถือและเอาท์ดอร์) นั้น, นี่คือโอกาสทองที่จะสื่อตรงถึงผู้ชมหลายสิบล้านคนตลอดวันตลอดคืน
สอดคล้องกับแนวทาง Prime Time, All the Time อย่างเหมาะเจาะยิ่ง!

Sunday, July 28, 2013

ทักทาย Jeff Jarvis แห่ง BuzzMachine ที่กรุงเทพฯ

ผมเจอ Jeff Jarvis ที่กรุงเทพฯเมื่อเร็ว ๆ นี้ เสียดายไม่มีเวลานั่งถกแถลงถึงโลกแห่งสื่อดิจัตัลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะมีเวลาเจอกันน้อยนิด แกเดินเข้ามาทักทายหลังจากผมขึ้นเวทีพูดเรื่องวิถีปรับตัวของเครือเนชั่นในโลกของความเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
แกเดินมาพร้อมกับคนฟังอีกหลายคน และบอกผมว่า "I like what you are doing."
ผมขอบคุณเขา และบอกว่าผมเป็นแฟนของ blog BuzzMachine มาช้านานแล้ว และได้อ่านหนังสือโด่งดัง What Would Google Do? มาหลายปีแล้ว
Jeff Jarvis เป็นนักหนังสือพิมพ์อเมริกัน และเป็นอาจารย์สอนหนังสือด้านสื่อยุคดิจิตัล อีกทั้่งยังเป็นนักวิพากษ์ทางทีวีในประเด็นเรื่องโลกสื่อสมัยที่เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
แกเขียนคอลัมน์ประจำใน MediaGuardian ของอังกฤษที่ตีพิมพ์ทุกสองสัปดาห์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ที่เอาจริงเอาจังกับวิวัฒนาการของโลกมีเดียอย่างยิ่ง
หนังสือ What Would Google Do? สะท้อนถึงความนิยมเลื่อมใสของเขาต่อ Google และแนะนำให้ธุรกิจและคนทั่วไปเลียนแบบสูตรความสำเร็จของกูเกิลในการสร้างตัวเองเป็นผู้ประกอบการทางอินเตอร์เน็ทอย่างน่าประทับใจ
แกบอกว่าในหนังสือไม่ได้เพียงแต่มอง Google อย่างนิยมชมชื่นจากระยะไกลเท่านั้น แต่ก็ยังเขียนถึงเรื่องราวที่น่าทึ่งของ Mark Zuckerberg แห่ง Facebook กับ Craig Newmark แห่ง Craigslist และ Jeff Bezos แห่ง Amazon อีกด้วย
Jeff Jarvis เป็นหนึ่งในนักคิดนักวิพากษ์เกี่ยวกับโลกมีเดียยุคใหม่ที่ผมติดตามและจับประเด็นเพื่อนำมาวิพากษ์และปรับความคิดในหลาย ๆ ด้านมาใช้ในชีวิตจริงของการทำสื่อในภาวะ Perfect Storm อย่างทุกวันนี้

Tuesday, July 16, 2013

สมัครงานผ่านทวิตเตอร์และยูทูปได้เลย!

ถ้าใครมาสมัครงานห้องข่าว, แทนที่จะอ่านใบสมัครและข้ออ้างอิงถุงวุฒิการศึกษากับประสบการณ์, ผมจะเข้าไปตรวจดู "digital profile" ของเขาหรือของเธอเป็นสำคัญ

เพราะหากผู้สนใจจะมีอาชีพทางด้านสื่อสารมวลชนยุคนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวที่คึกคักในโลก social media ก็ย่อมไม่ใช่บุคคลที่น่าสนใจสำหรับผม เพราะใครคนนั้นอาจจะยังอยู่ในโลกของสื่ออดีต และไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเองตามยุคสมัยที่เรียกร้องต้องการให้ทุกคนที่ทำสื่อของปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์

เข้าไปตรวจดูทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คของผู้สนใจจะมาร่วมงานแล้ว ก็ต้องเช็คลงไปในรายละเอียดว่าเขาหรือเธอทวิตบ่อยแค่ไหน โพสต์ข้อความหรือรูปในเฟซบุ๊คว่าอย่างไรบ้าง

และเพราะการเขียนข้อความในโซเชียลมีเดียมักจะเป็นไปในลักษณะ "ดิบ ๆ" จึงพอจะจับได้ว่าคน ๆ นั้นมีความสามารถในการเขียนหนังสือและสื่อสารด้วยภาษาที่ตรงกับความต้องการของผมหรือไม่

"บุคลิก" ของคนสะท้อนในโลกโซเชียลมีเดียได้ไม่น้อย เพราะทุกความเคลื่อนไหวของคนที่เข้าไปในชุมชนของโซเชียลมีเดียคือส่วนปลีกย่อยของวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของคน ๆ นั้นที่หากรวมกันแล้วก็จะเห็นภาพรวมของบุคลิกของคนนั้นอย่างชัดเจนพอสมควร

อีกหน่อย ใครสมัครงานกองบรรณาธิการเครือเนชั่นก็เขียนข้อความในทวิตเตอร์ และส่งคลิบวีดีโอที่อัดและตัดต่อด้วยตนเอง ก็น่าจะตัดสินได้ว่าเราต้องการเขาหรือเธอคนนั้นมาร่วมงานหรือไม่

เพราะเราคงไม่ต้องการให้คนมาทำงานในฝ่ายข่าวต้องเรียนรู้เรื่องโซเชียลมีเดียตั้งแต่ ก. ไก่ ข. ไข่ ณ วันแรกของการเข้าทำงาน

คนข่าวยุคนี้กระโดดร่มจากท้องฟ้าลงถึงพื้นก็ต้องวิ่งได้เลย!

Saturday, June 8, 2013

เมื่อหนังสือพิมพ์มะกันโล๊ะช่างภาพทั้งแผนก

อยู่ดี ๆ หนังสือพิมพ์ Chicago Sun-Times ของสหรัฐฯก็ประกาศโล๊ะช่างภาพประจำทั้งหมด 28 คน สร้างความตื่นตะลึงให้กับช่างภาพมืออาชีพไปทั่วโลกกันทีเดียว
เพราะการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นการตอกย้ำความกลัวที่มีมาระยะหนึ่งแล้วว่าหลายตำแหน่งให้ห้องข่าวอาจจะกำลังถูกประเมินใหม่เพื่อความอยู่รอดของสิ่งพิมพ์ที่กำลังดิ้นรนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในขณะที่รายได้จากโฆษณาและการขายหนังสือพิมพ์ร่วงหล่นลงมาตามลำดับ แม้ว่าสถิติล่าสุดจะยังยืนยันว่าหนังสือพิมพ์ในซีกตะวันออกของโลก (เอเซียเป็นหลัก) ยังมีอัตราโตได้ขณะที่ทางตะวันตกกำลังถูกระหน่ำด้วยสื่อดิจิตัลอย่างต่อเนื่องเช่นกราฟฟิกจากนิตยสาร The Economist ล่าสุดที่บอกว่า "สื่อสิ่งพิมพ์เหมือนดวงอาทิตย์...ขึ้นทางตะวันออก และตกทางตะวันตก"
หนังสือพิมพ์ Chicago Sun-Times อธิบายว่าที่ต้องปลดช่างภาพประจำออกก็เพื่อหันไปให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาที่เป็นวีดีโอที่ไปกับข่าว และเพื่อที่จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ก็จะต้องปรับวิธีการบริหารสื่อหลากหลาย รวมถึงการทำงานด้านภาพ
แถลงการณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอกว่า:

"The Sun-Times business is changing rapidly and our audiences are consistently seeking more video content with their news. We have made great progress in meeting this demand and are focused on bolstereing our reporting capabilities with video and other multimedia elements. The Chicago Sun-Times continues to evolve with our digitally savvy customers, and as a result, we have had to restructure the way we manage multimedia, including photography, across the network..."

วิธีการทดแทนช่างภาพที่หายไปจากห้องข่าวของเขาก็คือการฝึกนักข่าวให้ใช้ iPhone เพื่อถ่ายรูปแทนช่างภาพที่หายไป
บรรณาธิการบริหาร Craig Newman เขียนบันทึกถึงคนข่าวที่เหลืออยู่ว่า

"In the coming days and weeks, we'll be working with all editorial employees to train and outfit you as much as possible to produce the content we need."

แน่นอนว่านโยบายเช่นนี้ย่อมได้รับเสียงคัดค้านต่อต้านจากช่างภาพอาชีพจำนวนหนึ่งที่นั่งยันยืนยันว่าการใช้นักข่าวหรือช่างภาพเฉพาะกิจที่เรียกว่า "ฟรีแลนซ์" มาทดแทนช่างภาพอาชีพที่ได้รับฝึกปรือและสั่งสมประสบการณ์มาช้านานนั้นย่อมเป็นหนทางที่ผิดพลาดเพราะความละเอียดอ่อนของช่างภาพอาชีพย่อมไม่อาจจะทดแทนโดยนักข่าวที่เพียงแค่กดปุ่มถ่ายภาพจากกล้องมือถือเท่านั้น
นั่นคือประเด็นของการถกเถียงที่คงจะต้องดำเนินต่อไป อยู่ทีว่าคุณยืนอยู่ตรงไหนของ "สี่แยกแห่งความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงและรุนแรง" แห่งนี้
แต่เมื่อผู้บริโภคข่าวสารข้อมูลต้องการข้อมูลข่าวสารที่เป็นวีดีโอมากขึ้น และภาพนิ่งมีการใช้ที่จำกัด หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารห้องข่าวมีสูงกว่ารายได้ของสื่อสิ่งพิมพ์ การตัดสินใจของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวอีกรอบหนึ่งในห้องข่าวส่วนอื่น ๆ ของโลกก็ได้
ในห้องข่าวหลอมรวม Convergent Newsroom ของเครือเนชั่นได้มีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือการฝึกให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์เรียนรู้ทักษะการถ่ายวีดีโอควบคู่กับการทำงานประจำ อีกทั้งยังเปิดการฝึกสอนวิธีการตัดต่อและการรายงานภาพและข่าว breaking news ผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่ว
ผู้ที่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้คือผู้ที่ไม่ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เราเห็นอยู่รอบ ๆ ตัวเราขณะนี้, ไม่ว่าจะเป็นห้องข่าวที่สหรัฐฯ, ยุโรป, เอเซียนหรือรอบ ๆ บ้านเราก็ตาม



Sunday, May 12, 2013

Back to the Future ด้วย "เสียง"

คุณเทพชัย หย่องกับผมกลับมาทำรายการวิทยุอีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนานพอสมควรเพราะเราเชื่อว่า "เสียง" จะกลับมามีบทบาทสำคัญในภูมิทัศน์สื่อดิจิตัลที่กำลังร้อนแรงอีกวาระหนึ่ง
ความจริงในประสบการณ์การทำสื่อของผม "เสียง" ไม่เคยลดความสำคัญในการสื่อสารกับผู้บริโภคข่าวสาร อยู่ที่เราจะใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำหน้าที่เป็นคนข่าวมืออาชีพได้อย่างไรเท่านั้น
เพราะ "เสียง" คือสื่อที่สะท้อนความใกล้ชิดระหว่างคนทำข่าวกับผู้รับสารได้ดีที่สุด และความผูกพันของคนข่าวกับคนฟังผ่านเสียงนั้นยั่งยืนยาวนานและถาวรที่สุด...มากกว่าคลิบวีดีโอและตัวหนังสือด้วยซ้ำไปหากเรารู้จักใช้เสียงในการรายงานและวิเคราะห์ความเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าการฟัง "วิทยุ" จะลดน้อยลง แต่ผู้คนก็ฟังเสียงผ่านสมาร์ทโฟน, เว็บไซท์และช่องทางอินเตอร์เน็ทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นจำนวนคนที่รับสารผ่านเสียงจึงไม่ได้ลดน้อยลง ตรงกันข้ามกลับจะมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เพราะคุณสามารถใช้เสียงติดต่อสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคข่าวสารได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลาแม้ผู้เสพข่าวสารจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
ดังนั้น การกลับมาจัดรายการด้วย "เสียง" ของผมและคุณเทพชัยจึงเป็นปรากฏการณ์ Back to the Future อย่างมีความหมายยิ่ง
ฟังเราได้ทาง FM90.5 เช้า 9.30 น และตอนเย็น 18.30 น. จันทร์ถึงศุกร์ และฟังได้ตลอดเวลาที่ www.nation-radio.co.th หรือผ่านบล็อก www.oknation.net/blog/cheepajornlok และ www.soundcloud.com กับ Facebook และ Twitter

Thursday, May 9, 2013

Facebook ในบทบาทเป็น Rolodex ยุคดิจิตัลสำหรับคนข่าว

คนข่าวยุคนี้หากไม่รู้จักใช้โซเชียลมีเดียในการทำงานอาจจะถูกเพื่อล้อเลียนว่า "เสียชาติเกิด" กันทีเดียว
เพราะการเกาะติดข่าวนาทีต่อนาที การนัดหมายแหล่งข่าว การหาประเด็นข่าว รวมไปถึงการค้นข้อข้อมูลและเสาะหาเบื้องหลังเรื่องราวต่าง ๆ นั้นสามารถทำผ่านทวิตเตอร์, ยูทูป, เฟซบุ๊คและเครื่องมือเครือข่ายสังคมได้อย่างมากมายตลอดเวลา
มีคนเปรียบเฟซบุ๊คเป็นเหมือน Rolodex สมัยใหม่สำหรับนักข่าวสำหรับ
๑. หาแหล่งข่าวด้วยการเข้าไปพิมพ์ข้อความหรือชื่อคน
๒. ติดต่อสัมพันธ์กับคนอ่าน
๓. ใช้เฟซบุ๊คเป็นฐานสำหรับการเล่าเรื่องให้กับผู้คนทั้งหลายเพื่อเสริมความเข้มข้นของงานคนข่าวไม่ว่าจะทำหนังสือพิมพ์, ทีวี, วิทยุ, เว็บไซท์หรือเป็นคนเขียนการ์ตูน, ทำ animations และ data journalism
ข้อสำเหนียกสำหรับคนข่าวมืออาชีพคือไม่ควรใช้ social media เพียงเพื่อโพสต์รูปและข้อความรำพึงรำพันความไม่พอใจในชีวิตของตน หรือถ่ายรูปอาหารที่กินเท่านั้น หากแต่ควรจะต้องสามารถใช้เป็น platforms สำหรับการทำหน้าที่เป็นคนข่าวมืออาชีพที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคข่าวสารและเนื้อหาอย่างต่อเนื่องและด้วยมาตรฐานระดับสูงด้วย

Saturday, April 20, 2013

จิตวิญญาณของคนข่าว

นี่ไงวิญญาณนักข่าวที่แท้จริง...ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวยุคเก่าหรือยุคดิจิตัล ความสำคัญอยู่ที่จิตวิญญาณของการทำหน้าที่
นักข่าวสาวคนนี้กำลังเข้าพิธีแต่งงานของตัวเอง แต่ระหว่างทำพิธีก็มีข่าวแผ่นดินไหวที่เสฉวน ตายเป็นร้อยและบาดเจ็บหลายพัน เธอไม่ลังเลเลยที่จะวิ่งออกจากงานแต่งงานของตัวเองเพื่อเช็คข่าวและทำหน้าที่รายงานสดให้ทีวีช่องของเธอก่อนที่จะกลับไปทำพิธีต่อ
ข่าวไม่ได้บอกว่าแฟนของเธอมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าคนดูข่าวจะต้องประทับใจกับความเสียสละของเธอในการตัดสินใจทำหน้าที่ให้คนดูก่อนที่จะเป็นห่วงภารกิจส่วนตัวของตนเอง
พรุ่งนี้ของคนบ้าข่าวก็ยังต้องอาศัยวิญญาณแห่งการทำงานที่ไม่เลือกเวลา, สถานที่หรือภารกิจส่วนตน

Monday, April 15, 2013

บีบีซีพลาดท่ากับกลยุทธ "รายงานแอบอำพราง"

บีบีซีมีประเด็นถูกวิจารณ์ว่าใช้นักศึกษาเป็น "โล่มนุษย์" ในการซ่อนตัวไปทำข่าวเกาหลีเหนือ (นักข่าว John Sweeney เปิดหน้าในรายงานพิเศษ) เพราะไม่บอกกล่าวกันให้ชัดเจนก่อนจะ "ปฏิบัติการลับ" ครั้งนี้
เรื่องของเรื่องคือนักข่าวบีบีซีคนนี้, กับภรรยาและ producer อีกคนหนึ่งของสารคดีชื่อดัง Panorama เข้าไปเกาหลีเหนือกับนักศึกษาจาก London School of Economics 10 คน
ทีมข่าวบีบีซีอ้างว่าได้แจ้งกับคณะนักศึกษาชุดนี้แล้วว่าจะแอบถ่ายทำสารคดีชุดนี้โดยทำเสมือนหนึ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งของคณะนักศึกษา
นักศึกษาบางคนบอกทีหลังว่าทีมข่าวบีบีซีไม่ได้พูดชัด ๆ อย่างนั้น หรือบอกแต่ไม่ได้บอกทุกคน ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องว่าจะยอมเป็น "เครื่องมือ" หรือ "เกราะกำบัง" ให้กับทีมข่าวหรือไม่
มารู้อีกทีก็เมื่อถ่ายทำเสร็จแล้ว จึงเรียกร้องขอให้บีบีซีระงับการออกอากาศสารคดีชุดนี้เพราะทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าบีบีซีได้ละเมิดความน่าเชื่อถือของนักศึกษาในเรื่องนี้
แต่บีบีซียืนยันว่าจะออกอากาศอยู่ดีเพราะถือว่า "สิทธิของการรับรู็ข่าวสารของประชาชน" สำคัญกว่าประเด็นที่ทางมหาวิทยาลัยยกขึ้นมาวิจารณ์บีบีซี
ผู้อำนวยการของ LSE บอกว่าการกระทำของนักข่าวบีบีซีเช่นนี้สุ่มเสี่ยงกับการที่เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือรู้เข้า และจับกุมนักศึกษาทั้งคณะในฐานะเข้าประเทศอย่างซ่อนเร้น
หนึ่งในนักศึกษาอายุเพียง 18 ปี หากเกิดเรื่องเกิดราวก็อาจจะถูกจับขังเดี่ยวในคุกเกาหลีเหนือที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะในขณะที่มีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และสหรัฐฯเรื่องการทดลองขีปนาวุธอยู่ด้วย
นักเรียนบางคนบอกว่าไม่รู้ว่านอกจากนักข่าวคนนี้แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่บีบีซีอีกสองคนที่ไปร่วมคณะที่ปักกิ่งก่อนบินไปเปียงยาง
นักศึกษาสามคนในคณะได้ร้องเรียนต่อบีบีซีว่าหากเอารูปพวกเขาออกอากาศจะมีความเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาได้ บีบีซียอมใช้เครื่องมือปิดหน้านักศึกษาเหล่านี้
แต่ผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งนี้บอกว่าเหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบทางลบต่องานวิชาการในประเทศต่าง ๆ อย่างมาก
ผมเห็นว่าบีบีซีพลาดอย่างจังที่ไม่ขอความเห็นชอบจากทางนักศึกษาและมหาวิทยาลัยก่อนที่จะใช้วิธี "รายงานอำพราง" อย่างนี้ทั้ง ๆ ที่โดยหลักของการทำข่าวลักษณะนี้จะต้องมีความโปร่งใสชัดเจนและตรงไปตรงมากับคนที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะหากมีความเป็นไปได้ว่าคนที่ร่วมคณะและไม่ได้เป็นพนักงานของสำนักข่าวนั้นอาจจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับอันตรายเช่นกรณีเกาหลีเหนือนี้
งานนี้ผมเชื่อว่า BBC ต้องขอโทษ LSE อย่างเป็นทางการและต้องแก้ไขวิธีการทำงานทำนองนี้ในอนาคตให้เรียกฟื้นความน่าเชื่อถือให้ได้
กิ้งกือตกท่อได้จริง ๆ

Wednesday, April 3, 2013

เด็กวัย 15 กับ apps Summly 900 ล้าน

พอข่าวบอกว่า Yahoo! ตัดสินใจซื้อ Summly ซึ่งเป็น apps สรุปประเด็นข่าวให้เหลือไม่เกิน 400 อักษร (มากกว่า 140 ของทวิตเตอร์แต่สั้นกว่าประโยคเต็ม ๆ ของข่าวและบทความส่วนใหญ่) วงการข่าวออนไลน์และสื่อก็ต้องฮือฮา
เพราะเจ้าของ apps นี่อายุเพียง 15 ปีชื่อ Nick D'Aloisio ซึ่งคิดสร้างแอปส์นี้ที่บ้านลอนดอนเหมือนเป็นของเล่นยามว่าง
แต่กลายเป็นธุรกิจใหญ่เพราะข่าวบอกว่ายาฮู! ซื้อด้วยสนนราคา 30 ล้านเหรียญหรือเกือบ 900 ล้านบาททีเดียว
แกบอกว่าความคิดสร้าง apps สรุปประเด็นข่าวเป็นบริการผู้คนทั้งหลายทั้งบนคอมพิวเตอร์และในมือถือก็เพราะวัน ๆ มีข่าวและเรื่องราวให้อ่ื่นล้นหลาม ไม่สามารถจะย่อยได้ทัน เป็นภาระหนักอึ้งแสนสาหัส จึงหาทางสร้างเครื่องมือออนไลน์ที่จะช่วยสรุปประเด็นข่าวให้อย่างสั้น ๆ สะดวกต่อไปพกพาและติดตามเรื่องราวอย่างใกล้ชิด
และยังแยกแยะตามความต้องการและรสนิยมของแต่ละคนด้วย
สำหรับคนข่าวยุคดิจิตัล นี่คืออีกสัญญาณหนึ่งที่ตอกย้ำว่าการนำเสนอข่าวและเนื้อหาในอนาคตจะต้องมีนวัตกรรมในการย่นย่อและปรับให้สอดคล้องกับวิถีชิวิตคนยุคนี้ในทุกรูปแบบ
Summly เป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจและโดนใจคนที่ต้องการรู้ทุกอย่างที่ผ่านตา ขณะเดียวกันก็สามารถหาอ่านรายงานเต็ม ๆ ได้เมื่อมีเวลาว่างสำหรับความสนใจในภาพกว้างและลึก
อายุ 15 ก็รวยได้ฉับพลันถ้าคิดนอกกรอบและไปนั่งในใจของผู้บริโภค content วันนี้! 

Friday, March 29, 2013

เรียกมันว่า Drone Journalism

กองบรรณาธิการเครือเนชั่นกำลังสั่งเครื่องร่อน Drone ไร้คนขับมาเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานข่าวแล้ว...เพราะ Drone Journalism กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันที่สหรัฐฯ ถึงขั้นมีการสอนวิชานี้ให้กับนักศึกษากันในวิชานิเทศศาสตร์กันแล้ว
ความจริงการใช้เครื่องบินเล็กบังคับได้เพื่อลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อบันทึกภาพจากข้างบนได้มีการลองใช้กันบ้างแล้วในเมืองไทย แต่ยังไม่ได้ทำกันอย่างเป็นฝั่งเป็นฝานัก
เมื่อสนนราคาของเครื่องบินไร้คนขับ (ยังไม่ถึงกับเป็น Stealth หรือ "เครื่องบินล่องหน" อย่างที่อเมริกาส่งมาบินเหนือเกาหลีใต้เพื่อแสดงแสนยานุภาพให้เกาหลีเหนือได้เห็น) เริ่มจะถูกลง ก็ถึงจังหวะที่ Convergent Newsroom ของเครือเนชั่นจะนำมาใช้ให้คึกคักเพื่อเสริมงานด้านข่าวอย่างจริงจัง
ผมกำลังคิดจะใช้ "ฝูงบินโดรน" ขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อถ่ายทอดสดบางสถานการณ์ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ดูรายการข่าวทางโทรทัศน์ของเรากันทีเดียว
 ความจริง Drone Journalism มีประโยชน์มากมายหลายด้านเช่น
๑. ทำข่าวและถ่ายภาพจากบนท้องฟ้าได้ไม่ว่าจะเป็นข่าวจราจรติดขัด, ข่าวอากาศ, อุบัตเหตุหรือภัยธรรมชาติรวมถึงสภาพอากาศเป็นพิษหรือตำรวจตามล่าผู้ร้ายเป็นต้น
แต่ก่อนต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ราคาแพงจึงจะรายงานข่าวจากข้างบนได้ แต่วันนี้เมื่อมี Drone แล้ว อะไร ๆ ก็ง่ายขึ้น และใครที่กระโดดเข้าใช้โดรนก่อนก็จะได้เปรียบก่อน
๒. เครื่องบินโดรนไม่ใช่จะเพียงแค่ทำหน้าที่เก็บภาพสวย ๆ จากที่สูงเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้อุปกรณ์ที่เป็น sensor เพื่อเก็บข้อมูลหรือสแกนเพื่อประเมินสถานการณ์เขตน้ำท่วม, น้ำมันหรือสารเคมีรั่วลงน้ำ, หรือเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย
๓. โดรนสามารถช่วยให้นักข่าวและช่างภาพทำหน้าที่ของตัวได้ได้ปลอดภัยหรือเสี่ยงน้อยลงขณะทำข่าวที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายได้
อีกไม่นานเกินรอ เตรียมพบกับ "กองกำลังฝูงโดรน" ของเครือเนชั่นบนน่านฟ้าเพื่อรายงานข่าวและภาพอย่างคึกคักยิ่ง