Tuesday, November 27, 2012

Smartscreen: อีกมิติหนึ่งสำหรับคนข่าวพรุ่งนี้

อนาคตของข่าวอีกมิติหนึ่งเป็นการมี "ตู้แทบเบล็ท" สำหรับข่าวสารและข้อมูลเพื่อสาธารณชนแทนที่ "ตู้โทรศัพท์" แบบเก่า
ภาพที่เห็นนี้เกิดแล้วที่นครนิวยอร์ก ขนานนามเสียเก๋ไก๋ว่า "Smartscreen" ซึ่งเป็นบริการให้ข่าวสารร้อน ๆ ล่าสุด, พร้อมกับให้สอบถามเส้นทางและติดตามหน่วยงานราชการในยามฉุกเฉินได้อย่างสะดวกสบายสำหรับคนยุคดิจิตัล
นครนิวยอร์กประกาศว่าจะมีโครงการนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน แต่เพิ่งจะเกิด "ตู้สมาร์ทสกรีน" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมี Cisco Systems กับ City24x7 เป็นเดินโปรแกรม
ถึงวันนี้ ตู้ดิจิตัลแบบนี้เกิดแล้ว 10 จุดในเมืองที่ไม่เคยหลับไหลของสหรัฐฯ ตามแผนงานใหญ่จะต้องตั้งทั้งหมด 250 จุดด้วยกัน
เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการสื่อสารกันอย่างรวดเร็วทันใจเช่นนี้คือ Wi-Fi ฟรีสำหรับทุกคน
ประโยชน์อีกประการหนึ่งของ Smartscreen นี้คือความพร้อมที่จะแปลงเป็น "ตู้ช่วยเหลือยามฉุกเฉิน" เช่นกรณีฟายุแซนดี้ (หากไม่ถูกน้ำท่วมกระหน่ำหรือไฟดับเสียก่อน)
City24x7 บอกว่าตู้พิเศษเช่นนี้สามารถส่งข่าวสารเตือนภัยได้อย่างฉับพลันทันเหตุการณ์ไปยังชุมชนท้องถิ่นและตอบสนองความต้องการของคนอยู่บ้าน, เดินทางและทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพยิ่ง
Smartscreen เช่นนี้สามารถใช้ความเป็นดิจิตัลเชื่อมโยงได้กับบริการอื่น ๆ อย่างสะดวกยิ่งไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพหรือวีดีโอรวมไปถึงอุปกรณ์ sensors ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ,ปกป้องและคุ้มกันมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสะดวกและรวดเร็วอีกด้วย
จอขนาด 32 นิ้วใหญ่พอที่จะใส่ apps เพื่อทำงานด้านต่าง ๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจอีกด้วย
คนข่าวดิจิตัลวันนี้เห็นช่องทางใหม่ที่จะทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นอีกหนึ่งมิติหรือยัง?

Saturday, November 24, 2012

วิกฤตศรัทธาที่บีบีซี...ความน่าเชื่อถืออยู่เหนือเทคโนโลยีเสมอ

วิกฤตศรัทธาที่ BBC เผชิญอยู่ขณะนี้ตอกย้ำสัจธรรมที่ว่าแม้โลกสื่อมวลชนจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตัลที่มีความเร็วและกว้างไกลเป็นลักษณะพิเศษ, แต่ในท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญกว่าการรายงานข่าวเร็วและเร่งด่วนก็คือ "ความเชื่อถือ" (trust) ที่เป็นตัวกำหนดความเป็นความตายขององค์กรสื่อไม่ว่าจะเป็นเมื่อวาน, วันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ตาม
เมื่อวานนี้ คณะผู้บริหารแต่งตั้งนาย Tony Hall เป็นผู้อำนวยการคนใหม่แทนนาย Gorge Entwistle ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้เพียง 54 วันเท่านั้น
เท่ากับว่าเขาเป็นผู้อำนวยการที่มีช่วงเวลาทำงานสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของบรรษัทกระจายเสียงอังกฤษที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทั่วโลกมาตลอด 90 ปีตั้งแต่ก่อตั้งมาเป็นสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาและผู้ฟังผู้ชมให้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากการเมืองและผลประโยชน์ธุรกิจ
แต่ก็เกิดเรื่องอื้อฉาวที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กรอย่างรุนแรง
เรื่องแรกคือการที่บีบีซีไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของอดีตพิธีกรคนดัง Jimmy Savile ที่ถูกกล่าวหาว่าได้ประพฤติผลทางเพศต่อเด็ก ๆ เป็นร้อย ๆ คนตลอดเวลา 40 ปีของการทำงานหน้าจอ เขาเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วในวัย 84 ปี
ทีมข่าวของบีบีซีได้เจาะข่าวเรื่องราวของ  Jimmy Savile แต่ไม่ได้เอามาออกอากาศโดยไม่มีคำอธิบายแต่ประการใด
เรื่องอื้อฉาวที่สองที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายคือการที่รายการ Newsnight ที่เป็นรายการสร้างชื่อเสียงให้บีบีซีมาตลอดที่พลาดท่าเสียทีจนผู้อำนวยการต้องไขก๊อกออกไปอย่างฉับพลัน
นั่นคือข้อกล่าวหาในรายการนี้ที่อ้างว่ามีนักการเมืองจากพรรคอนุรักษ์นิยมจากยุคของอดีตนายกฯมากาเร็ต แทชเชอร์ที่ชื่อ Lord McAlpine ได้กระทำความผิดทางเพศกับเด็กผู้ชายที่บ้านของเด็กที่เวลส์ในช่วย 1970s
ปรากฏภายหลังว่าข่าวชิ้นนี้ไม่มีพื้นฐานแห่งความจริงเลย เป็นการเอ่ยอ้างผิดฝาผิดตัวโดยที่ทีมข่าวบีบีซีไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพื้นฐานดั่งที่เป็นมาตรฐานปกติของการทำข่าว
นี่คือภาวะการตกต่ำของมาตรฐานวิชาชีพบีบีซีที่ร้ายแรง ผู้อำนวยการ Entwistle จึงประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
และเมื่อ Tony Hall รับตำแหน่งแทนก็ประกาศว่าจะต้องรื้อฟื้นศรัทธาของบีบีซีกลับมาให้จงได้เพราะบีบีซีเป็น "หนึ่งในสถาบันที่มีความสำคัญยิ่งต่ออังกฤษและชาวโลก"
ประธานคณะกรรมการบริหารบีบีซี Chris Patten (อดีตผู้ว่าฮ่องกง) ยอมรับว่าชื่อเสียงและเกียรติภูมิของบีบีซีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา จึงต้องเร่งหาทางฟื้นฟูความน่าเชื่อถือนั้นกลับมาให้จงได้
เท่ากับเป็นการย้ำเตือนว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปเพียงใด ไม่ว่าคุณจะเคยโด่งดังมาแค่ไหน แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการทำหน้าที่สื่อก็ยังอยู่ที่คุณสมบัติประการเดียว
นั่นคือ "ความเชื่อถือ" ที่เป็นหัวใจของการสื่อสารทุกยุคทุกสมัย ทุกสื่อ ทุกเหตุการณ์ และทุกผู้ทุกคน

Friday, November 16, 2012

เมื่อนักรบทำศึกบนทวิตเตอร์

สงครามบนทวิตเตอร์ระเบิดแล้ว!
กองทัพอิสราเอล
ซึ่งมีความคล่องแคล่วช่ำชองทางด้านดิจิตัลไม่น้อยได้ใช้ทวิตเตอร์ประกาศศึกสงครามและรายงานการโจมตีศัตรูในฉนวนกาซ่าอย่างรวดเร็วและทันการ
กองทัพของอิสราเอลใช้ @IDF ซึ่งย่อมาจาก Israel Defence Force เพื่อรายงานให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าได้เปิดศึกกับกลุ่มฮามาสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันกลุ่ม Hamas ก็ตอบโต้ผ่านทางทวิตเตอร์อย่างฉับพลัน (อย่างที่ผมเอาเรียงให้ดูข้างบนนี้)
นักวิเคราะห์โซเชียลมีเดียบอกว่านี่อาจจะถือว่าเป็น "ทิศทางใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการทำสงครามทั้งบนในสมรภูมิจริง และการส่งสารตรงจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายผ่าน social media"

ความหมายของคำว่า "อนาคตแห่งข่าว" จึงปรับเปลี่ยนไปอย่างกระทันหันเมื่อนักรบทั้งสองฝ่ายเป็นคนส่งข้อความขึ้นในทวิตเตอร์เพื่อแสดงจุดยืนของตน และเพื่อตอบโต้กันและกันนาทีต่อนาที

ก่อนหน้านี้ ผู้ประท้วงและผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพใช้โซเชียลมีเดียเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน แต่วันนี้นักรบผู้ติดอาวุธจริงเข้ามาใช้เครื่องมือสื่อสารในโลกดิจิตัลเพื่อประกาศศักดาในการทำศึกสงครามแล้ว

แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ทหารเคยใช้วิทยุเพื่อกระจายข่าวด้านของตนให้เกิดความได้เปรียบทั้งทางด้านการข่มขวัญฝ่ายตรงกันข้ามและทำสงครามจิตวิทยาในการศึก แต่วันนี้การใช้ทวิตเตอร์ของทั้งสองฝ่ายถือเป็นการต่อยอดการสื่อสารอย่างรวดเร็วทันการและไปถึงผู้คนทั่วโลกอย่างฉับพลันทันที

นักรบวันนี้ไม่ต้องอาศัยนักข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของตนเองอีกต่อไป หากแต่กระโดดเข้าไปใช้ social media เพื่อทำภารกิจการสื่อสารและออกโฆษณาชวนเชื่อตามแนวทางของตน

แน่นอนว่าข้อความทวิตเตอร์ที่คู่กรณีเอาขึ้นเครือข่ายสังคมดิจิตัลนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือเหมือนที่นักข่าวมืออาชีพจะรายงานและวิเคระห์ แต่เมื่อผู้บัญชาการรบและทหารเองใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คเพื่อเป็นกระบอกเสียงของตนเอง, การปล่อยข่าวลวง, การบิดเบือนข้อเท็จจริงและการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบกันทุกขั้นตอน

หากคนข่าวมืออาชีพปรับตัวทันและใช้ความเป็นคนทำสื่อที่มีมาตรฐานสากล ตรวจสอบข่าวและรายงานเนื้อหาสาระอย่างน่าเชื่อถือ ก็ยังสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "gate-keeper" ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

แต่ก็ต้องสำนึกว่าคนข่าวมิได้ "ผูกขาด" สิทธิและโอกาสที่จะรายงานข่าวสงครามแต่เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไปแล้วเช่นกัน

Sunday, November 4, 2012

เมื่อช่างภาพมืออาชีพใช้ Instagram ทำงานระดับมาตรฐานอาชีพ

สิบกว่าปีก่อน ตอนที่กล้องถ่ายรูปดิจิตัลออกมาใหม่ ๆ ผมเอาไปให้ช่างภาพในห้องข่าวดู เขาบอกว่ามันเป็น "ของเด็กเล่น" ไม่ใช่อุปกรณ์ของมืออาชีพแน่นอน
หลายปีต่อมา กล้องถ่ายรูปของช่างภาพมือาชีพทั้งหลายก็กลายเป็นดิจิตัลหมด ยุคการใช้ฟิล์มถ่ายภาพข่าวค่อย ๆ จางหายจนวันนี้ไม่มีเหลืออีกแล้ว
วันนี้ ไม่เพียงแต่กล้องดิจิตัลเท่านั้นที่กลายเป็นส่วนสำคัญของห้องข่าว แต่ apps ถ่ายภาพในโทรศัพท์มือถือและแทบเบล็ทก็กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในห้องข่าวอย่างปฏิเสธไม่ได้
ปกของนิตยสารไทม์เล่นล่าสุดนี้ เป็นภาพที่มาจากช่างภาพใช้ apps Instagram ถ่ายมุมข่าวร้อนแรงจากกรณีเฮอร์ริเคน "แซนดี้" ที่พัดกระหน่ำเข้าทางตะวันออกของสหรัฐฯอย่างบ้าบิ่น
การใช้ Instagram สำหรับงานอาชีพที่ต้องมีคุณภาพระดับนิตยสารข่าวระดับโลกอย่างไทม์ต้องเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวมาก
Kira Pollack มีตำแหน่งเป็น "ผู้อำนวยการฝ่ายภาพ" ของไทม์ประชุมกับทีมช่างภาพแล้วก็มอบหมายให้ช่างภาพห้าคนประจำภาคตะวันออกให้ถ่ายรูปทุกแง่ทุกมุมของผลพวงจากภัยพิบัติครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย Instagram และส่งเข้าไปใน Instagram feed ของไทม์เอง
เพราะช่างภาพทั้งห้าคนนี้เล่นอินสตาแกรมอย่างคึกคักมาตลอด และได้ทดสองใช้กับงานอาชีพแล้ว คุณภาพของภาพอยู่ในขั้นดีอย่างน่าประหลาดใจ
ส่วนเรื่องความเร็วและการสร้างชุมชนข่าวใน Instagram นั้นไม่เป็นประเด็นที่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว
นายโพลลักบอกว่าเขาได้ใช้ Instagram เป็นช่องทางส่งภาพด่วนและร้อนออกไปสู่คนอ่านมาก่อนแล้ว
"ความริเริ่มนี้มันเกิดจากความจำเป็นก่อน เพราะ apps Instagram เป็นวิธีการเร็วที่สุดในการเสนอข่าวด่วน และมันเป็นเส้นทางตรงดิ่งถึงสาธารณชน ผมไม่ได้มองว่านี้เป็นเรื่องของเทรนด์ใหม่ ผมเพียงคิดว่าอะไรคือช่องทางที่ผมจะส่งภาพถึงคนทั่วไปได้เร็วที่สุด และนี่คือคำตอบ"
ผลก็คือภาพชุดจากเหตุการณ์เฮร์ริเคนแซนดี้ใน "บล็อกภาพของไทม์" นี้มีคนเข้ามาดูและแสดงความเห็นคึกคักที่สุดเท่าที่เคยมีมา...คนที่เข้ามาดูภาพชุดนี้มีสูงถึง 13% ของจำนวนผู้เข้ามาติดตามข่าวในเว็บไซท์ของไทม์ตลอดสัปดาห์
แค่ในช่วง 48 ชั่วโมงมีคนมา "follow" อินสตาแกรมของไทม์เพิ่มขึ้นถึง 12,000 คน
และหนึ่งในภาพนั้นถูกใช้เป็นปกนิตยสารไทม์ล่าสุด (อีกปกหนึ่งเป็นเรื่องเลือกตั้งประธานาดี)
"แม้ว่าความละเอียดของภาพอาจจะไม่ดีเท่ากับกล้องดิจิตัลธรรมดา แต่พอเอามาพิมพ์ขึ้นปกแล้ว ออกมาสวยมาก มีบรรยากาศเหมือนภาพวาดที่ให้ความรู้สึกสมจริงสมจังอย่างยิ่ง"
หนึ่งในช่างภาพที่มีส่วนถ่ายภาพเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย Instagram เขียนเล่าถึงการปรับตัวของช่างภาพในยุค social media ว่าอย่างนี้
"แต่ก่อน ผมใช้กล้องดิจิตัลที่หนักและใหญ่ ต้องคอยปรับความเร็วแสง และ aperture กับต้องห่วงเรื่องตัดต่อและปรับโทนสีและแสงบนจอคอมพิวเตอร์ แต่ในสองสามปีที่ผ่านมา ผมพบว่าไอโฟนผมทำให้ผมสามารถจับภาพได้โดยไม่ต้องรู้สึกเหมือนทำงานอย่างเป็นทางการ การที่ผมสามารถ "เล็งแล้วยิงเลย" (point and shoot) นั้นเป็น "ประสบการณ์แห่งการปลดปล่อย" สำหรับผมทีเดียว มันทำให้ผมค้นพบอีกครั้งหนึ่งว่าความน่าตื่นเต้นของการเห็นความไม่เนี๊ยบทุกเม็ด และเหตุบังเอิญน่าอันสนุกสานผ่านเลนซ์บนมือถือของผมเป็นเรื่องเยี่ยมยอดทีเดียว..."
แน่นอนว่าช่างภาพบางคนก็ยังเห็นว่า "คุณภาพ" ระดับมืออาชีพจะยังต้องยึดการทำงานวิธีเดิมอยู่ดี แต่สำหรับคนข่าวที่พร้อมจะกระโดดเข้าทดลองกับของใหม่ที่สามารถสร้างมิติใหม่ ๆ แห่งการเสนอผลงานของคนข่าวผ่าน apps ใหม่ ๆ ที่ยิ่งวันยิ่งจะท้าทายความเชื่อเก่า ๆ อย่างรุนแรงหนักหน่วงขึ้นทุกคน, นี่คือการ "ปลดปล่อย" ของมืออาชีพที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างแน่นอน