Tuesday, February 14, 2012

รุ่งอรุณของโซเชียลมีเดีย


คุณ "พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์" สัมภาษณ์ผมลง "วารสารสมาคมนักข่าว" เมื่อเร็ว ๆ นี้...แม้หัวข้อจะเป็น "รุ่งอรุณของโซเชียลมีเดีย" และก็เข้าข่าย "พรุ่งนี้ของคนบ้าข่าว" ไม่น้อย

จึงขออนุญาตนำคำถาม-คำตอบมาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน


00 ทำไมถึงคิดนำโซเชียลมีเดียมาใช้ทำข่าว

ผมเห็นเมื่อ 4-5 ปีก่อน ต่างประเทศเริ่มใช้เฟซบุ๊คกับทวิตเตอร์ จริงๆมันเริ่มตั้งแต่ Hi5 แต่ Hi5 เป็นแค่การทักทายมากกว่า แต่เฟซบุ๊คกับทวิตเตอร์มันสามารถสื่อได้รวดเร็ว และสร้างเครือข่ายได้ จึงคิดว่านี่มันสุดยอดของการที่นักข่าวจะได้ไปสัมผัสคนทั้งหลายแหล่ สื่อจากตัวเองไปหาคนอื่น และสื่อจากคนอื่นมาหาตัวเอง ดังนั้นแหล่งข่าวที่เคยได้อย่างยากเย็น ส่งอีเมล์ไปเขาอาจจะตอบหรือไม่ก็ได้ แต่ทวิตเตอร์มันส่งได้ทั้ง Direct Message ข้อความตรง) และ Link (เชื่อมโยงข้อมูล) ไปได้ด้วย ทำให้เราสามารถตามข่าวได้เร็ว เหมือนกรณีที่เครื่องบินตกในแม่น้ำฮัดสัน สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้โดยสารถ่ายรูปเอาขึ้นทวิตเตอร์เลย ผมถึงรู้สึกได้ว่านี่มันสุดยอดของการทำข่าวแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าว ชาวบ้านที่ไหนก็สามารถถ่ายรูปเอาลงทวิตเตอร์ได้
ผมถึงมองว่าความที่เป็นนักข่าวอาชีพต้องทำตัวให้ทันกับเทคโนโลยีนี้ จึงหาทางที่จะทำอย่างไรให้นักข่าวไทยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อ 1.ออกข่าวเร็ว 2.ดูว่าใครดูข่าวเราได้ และ 3.ใช้ติดต่อแหล่งข่าว ขอสัมภาษณ์ ขอข้อมูลต่างๆ เมื่อเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์มาก็จะทำให้การสืบหาความเห็นของคนได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ทีวีเวลาจะสัมภาษณ์คนต้องออกไปดักคนที่กลางถนน แต่พอใช้เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ เรากลับสามารถตั้งคำถามให้คนตอบได้อย่างหลากหลาย รวดเร็ว และสะดวกกว่า Old Media ทั้ง นสพ. ทีวี และวิทยุ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและพื้นที่ พอเห็นเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ผมถึงมองว่า โอ้โห! มันคือการเปิดฟ้าใหม่ให้นักข่าวไปถามความเห็นของผู้คนได้ และรู้ด้วยว่าคนที่ตอบเรา เป็นใคร อาชีพอะไร อยู่ที่ไหน ทำให้เราสามารถรายงานสะท้อนความรู้สึกคนทั่วไปได้

00 ตอนที่คิดว่าโซเชียลมีเดียจะมา มีข้อมูลรองรับหรือไม่ หรือเป็นแค่เซ้นส์ในฐานะนักข่าวว่ามันใช่

ตอนแรกก็ลองเข้าไปดูก่อน นึกว่ามันจะมาแล้วไปเป็นแฟชั่น เหมือน Hi5 หรือ ICQ ฯลฯ แต่พอผมเล่นเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์อยู่พักนึง เลยคิดว่าไม่ใช่แฟชั่น มาแล้วก็ไปแน่ มันจะสามารถเป็นเครื่องมือในการทำงานได้ เลยให้นักข่าวบางคนที่สนใจและเล่นเป็น ลองให้คนมาตามเพื่อดูว่าเขาสนใจหรือไม่อย่างไร ปรากฎว่าคนสนใจมาก เพราะเข้าได้ข่าว ได้ข้อมูล ได้ใกล้ชิดคนทำข่าว นอกจากนี้ยังใช้ทวิตเตอร์เพื่อประสานงาภายในด้วย แทนที่จะโทร.สั่งงาน เราก็ส่งเป็น Direct Message ไปยังนักข่าว ช่างภาพ มันจึงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ทั้งประสานงานภายในหรือให้คนวงนอกเข้ามาร่วม
ผมจึงเห็นว่ามันเป็นประโยชน์แน่จึงต้องรีบเข้าไปใช้ ใหม่ๆนักข่าวก็ไม่เชื่อ เขาก็บอกว่า เอ๊ะ มันทำได้จริงเหรอ เสียเวลามากเลย ทำข่าวเสร็จ ต้องมาทวีต ก่อนหน้านั้นอีก ผมเคยขอให้นักข่าวเอาแลบทอปออกไป ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอเสร็จ ให้ส่งทางอีเมล์ ทางอินเตอร์เน็ตก่อน ช่วงแรกก็มีปัญหาพอสมควร เขาบอกว่ามันเสียเวลามาก มันเกะกะ อินเตอร์เน็ตไม่เวิร์ค กว่าจะโหลดวีดีโอได้มันก็ช้า ผมก็บอกว่าใจเย็นๆ ค่อยๆฝึกไป เพราะอินเตอร์เน็ตมันจะเร็วขึ้น จะทำให้เราส่งข่าวได้เร็วขึ้น มันจะสะดวกมากขึ้น จากเดิมที่ถ่ายรูปเสร็จ ต้องเรียกมอเตอร์ไซค์มาส่ง หรือพิมพ์ดีดเสร็จ ต้องส่งแฟกซ์มาอีก
พอมีทวิตเตอร์ผมก็บอกว่าเห็นไหมมันเร็วขึ้นเยอะ คุณถ่ายรูปเสร็จ ไม่ต้องเข้าคอมพิวเตอร์เลย ส่งผ่านมือถือได้เลย ทั้งข่าว รูป วีดีโอ นักข่าวและช่างภาพถึงค่อยๆเห็นประโยชน์และเชื่อในท้ายที่สุด ถ้ามันใช้ไม่ได้จริงเขาไม่เชื่อผมหรอก เขาไม่ทำ เขาต่อต้าน
“ใหม่ๆ เขาก็ต่อต้านอย่างเงียบๆ ฟัง แต่ไม่ทำ เพราะเรื่องแบบนี้ ต้องพิสูจน์ว่ามันมีประโยชน์จริงสำหรับเขา ไม่สามารถบังคับได้ว่า ฉันต้องการให้แกทำ แกต้องทำ พอเขาลองใช้ดู ลองเล่นดู เขาก็เห็นว่ามันใช้ได้จริง มันก็เลยเป็นวัฒนธรรมใหม่ในโต๊ะข่าวของเราว่า เออ มันทำได้”

00 แต่ข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียทำข่าว มองกันว่าทำได้แต่ข่าวฉาบฉวย ทำข่าวเชิงลึกไม่ได้ จะแก้ปัญหาอย่างไร
ต้องดูว่าประโยชน์มันคืออะไรก่อน ประโยชน์มันคือ 1.ความเร็ว 2.สื่อสารได้กว้างขึ้น 3.เจาะจงกลุ่มคนที่จะตามได้ และ 4.ส่งรูปได้อย่างรวดเร็ว โทษของมันอาจจะคือข่าวลือ ผิวเผิน ไม่เน้นความลึก แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้ในสิ่งที่เป็นทางลบ ใช้สิ่งที่เป็นทางบวกมากที่สุด และสิ่งที่เป็นทางลบ ผมกลับมองว่า ไม่จริง ตอนนี้มีนักข่าวบางคนทวีตทีละ 10-20 ทวีต แต่เขียนเหมือนเป้นรายงานข่าวอย่างละเอียด คนอ่านที่ตามก็เหมือนอ่านนิยายได้เรื่องหนึ่งเลย ฉะนั้นความสั้นของมัน ถ้าใช้ให้ดี ก็ใช้มันสร้างความลึกได้ ซึ่งวันนี้เราก็ทำ เช่นถ้ามีข่าวใหญ่ข่าวนึง นักข่าวของเราก็ทวีตเป็นท่อนๆ คนอ่านก็อ่านตาม Timeline เป็นข่าวอย่างละเอียดได้เลย

นักข่าวบางส่วนก็ใช้โซเชียลมีเดียทำข่าวสืบสวนสอบสวนได้เลย จากที่คนบอกว่า เฮ้ย! ไม่ได้หรอก โซเชียลมีเดียดีแค่เร็วอย่างเดียว แต่ไม่ลึก ซึ่งไม่จริง เราใช้เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ยูทูบ วิกิพีเดีย เช่นเวลาเราจะตามข่าวสิ่งแวดล้อมเรื่องเหมือง เราก็ใช้เฟซบุ๊คเข้าไปดูชื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ตามไปที่เว็บไซต์ ก่อนใช้วิกีพีเดีย ซึ่งแหล่งข่าวที่รวมตัวกันต่อต้าน เขาก็จะเข้ามาในเฟซบุ๊ค ทั้งที่แหล่งข่าวเหล่านี้บางทีหาตัวไม่เจอ โทรศัพท์ไปก็ไม่รับ พอเจอตัวกันก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ใช้เฟซบุ๊ค ใช้อีเมล์ในการส่งข้อมูล ดังนั้นโซเชียลมีเดียจึงเป็นอุปกรณ์ชั้นเยี่ยมในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน
คนของเราเคยทวีตตอนจะไปสัมภาษณ์คนๆหนึ่ง ว่าใครมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฝากคำถามมาได้นะครับ นักข่าวของเราได้มา 20 คำถาม จากที่คิดไม่ออก เพราะคนที่รู้เรื่องกับสิ่งที่เราจะไปสัมภาษณ์มีมากกว่าที่เราเคยคิด เช่น หมอ วิศวกร เอ็นจีโอ นักศึกษา นักวิชาการ มีหมดในทวิตเตอร์ ถ้าเราใช้เป็น เราจะสามารถเริ่มต้นวางแผนในการเจาะข่าวแต่ละเรื่องได้อย่างกว้างไกล จากที่เดิมเคยมีแค่โทรศัพท์
"มีคนเคยยกตัวอย่างคดี Watergate ที่นักข่าว 2 คน วิ่งไปหาอัยการแอบขอเอกสาร ต้องไปตามแหล่งข่าว ไปรอคอย ต้องนัดกับแหล่งข่าวว่า ถ้าโทร.ไปกี่กริ๊งให้รับสาย แล้วค่อยบอกโค้ด แต่ทุกวันนี้ใช้โซเชียลมีเดีย SM ทำทุกอย่างได้หมด แหล่งข่าวสำคัญของนักข่าว 2 คนนั้น เคยให้เอกสารดู แต่บอกว่า คุณห้ามจด ตอนนั้นไม่มีมือถือ ที่สามารถถ่ายรูป แชะๆๆๆได้ นักข่าว 2 คนนั้นเลยใช้วิธีการท่อง จากนั้นจึงวิ่งเข้าห้องน้ำไปจด แล้วค่อยวิ่งกลับมาอ่านอีก หรือการพบแหล่งข่าว แต่ก่อนคุณต้องไปดักหน้าบ้านตี 1 ตี 2 รอให้กลับมาเพื่อขอเข้าไปคุยในบ้าน แต่ทุกวันนี้คุณสามารถใช้เฟซบุ๊คกับทวิตเตอร์ขอนัดคุยแทนได้ ฉะนั้นอุปกรณ์ทุกอย่างที่มีวันนี้สามารถใช้เจาะอย่าง Watergate ได้เลย"
00 วิธีการหาข่าวแบบคลาสสิคในอดีตจะหายไป เพราะใช้เทคโนโลยีแทนได้

(ตอบทันที) มันไม่จำเป็นต้องลำบากยากเย็นเหมือนแต่ก่อน ที่ต้องไปเจอ ขับรถไปดักรอหน้าบ้านแต่เช้า แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง คุณสามารถไปถึงตัวเขาได้ มันง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะมาก สมมุติคุณได้ข้อมูลอะไรมา คุณจะเช็คว่ามีใครรู้เรื่องอย่างนี้บ้าง คุณต้องติดต่อผู้เชี่ยวชาญ แต่เดี๋ยวนี้สมมุติมีประเด็น.เรื่องสิ่งแวดล้อม มีสารเคมีอันตรายบางอย่าง คุณก็แค่ทวีตเข้าไป จะมีคนทวีตมาบอกคุณในเวลาไม่ถึงชั่วโมง

“อย่างตอนฮ.ตกที่แก่งกระจาน มีอุปกรณ์ที่ชื่อว่า ELT นักข่าวที่เพิ่งทำข่าวครั้งแรกไม่รู้เลยว่ามันคือเครื่องอะไร เขาก็ไปเขียนในทวิตเตอร์ว่าเจอกล่อง ELT แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ภายใน 10 นาที มีคนเขียนตอบมาว่า ELT มันคือ Black Box ของ ฮ. มันย่อมาจากคำนี้ เคยใช้ในอุบัติเหตุที่นั่นที่นี่ ถ้าเปิดดู มันจะบอกได้ว่า นาทีสุดท้ายก่อนตกมีเสียงดังอะไร คนขับพูดอะไรไว้บ้าง นี่คือสุดท้ายของการทำข่าวลึก อธิบายข่าวได้ ซึ่งแต่ก่อนไม่มี ถ้าคุณเห็นคำนี้ 2 ทุ่มแล้ว กูจะเขียนยังไง ถ้ารับผิดชอบหน่อย ก็อาจจะบอกว่าไว้ค่อยเช็ค ถ้าซี้ซั้วหน่อย ก็ลงไปก่อน แต่คนอ่านไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่โซเชียลมีเดียเกือบจะบอกข้อมูลเหล่านี้ได้ในทันที"

00 โซเชียลมีเดียจะ ทำลายระบบการทำข่าวแบบเดิม ที่ต้องผ่านกองบก. รีไรท์ ซับเอดิเตอร์ บก.หน้าหนึ่งไปหรือเปล่า เพราะนักข่าวคนเดียวจะกลายเป็นสำนักข่าวด้วยตัวเขาตัวเอง

(นิ่งคิด) มันก็ทำให้กระบวนการตรวจสอบแบบแต่ก่อนหายไป แต่ไม่ได้แปลว่าคุณภาพมันจะตกลงไป เพราะนักข่าวก็ต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง ต้องเป็นทั้ง Rewriter และ Editor บทบาทหน้าที่ต้องปรับ เพราะขั้นตอนมันจะลัด คุณจึงต้องรับผิดชอบเนื้อหาตั้งแต่ต้นก่อนที่จะส่งเข้าไป แต่แน่นอนว่าถ้าคุณยังทำนสพ. ทีวี วิทยุ เว็บไซต์ ก่อนที่จะยิงออกไป ก็ต้องผ่านกองบก.อยู่ดี แต่ถ้าคุณจะขึ้นในโซเชียลมีเดียส่วนตัว นั่นคือความรับผิดชอบส่วนตัวคุณโดยตรง มันมี Trade Off (การแลกเปลี่ยน) ในข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย คุณได้อะไรมาก็ต้องเสียบางอย่างไป

00 สิ่งที่เถียงกันคือนักข่าวที่ทำตัวเป็นเซเลป แทนที่จะส่งข่าวป้อนออฟฟิศกลับนำข่าวมาโฆษณาในฐานะข่าวของตัวเองก่อน

ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหา การที่นักข่าวมีเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ก็มีสร้างแบรนด์ 2 ด้าน คือให้กับออฟฟิศตัวเอง ที่เป็นแบรนด์ องค์กร ซึ่งขณะเดียวกันก็มี Personal Brand ที่เป็นเรื่องส่วนตัว แปลว่ามันสร้าง 2 อันพร้อมๆกัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียจะดังเป็นเซเลป หมด ถ้าคุณทำได้ไม่ดี ไม่รับผิดชอบ ข่าวคุณห่วย ไม่เช็คไม่ตรวจสอบก่อน คุณก็เจ๊งได้เหมือนกัน

แต่ก่อนมันจะอิงกับแบรนด์ องค์กร อาจจะมีบายไลน์ แต่ยังไงคนก็เชื่อสถาบันมากกว่า แต่ตอนนี้มันไปคู่กัน ต้องทำให้กับแบรนด์ ตัวเองและองค์กร ความรับผิดชอบจึงต้องมีคู่กัน ผมจึงไม่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวจะเสียหาย ยิ่งทำให้คนทำยิ่งรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น แล้วก็แข่งกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเซเลป ได้หมด เออ คนนี้เก่ง ผมตามแล้วสนุก เขาเร็วดี มุมเขาดี ต่างกับอีกคน มีโซเชียลมีเดียเหมือนกัน แต่เขียนไม่ได้เรื่อง เนื้อหาข่าวไม่ดี ช้า ปมความเห็นส่วนตัวมากไป มันก็ไม่เป็นเซเลป นะ

00 แต่ความดังของการเป็นนักข่าวโซเชียลมีเดียหลายครั้งไม่ได้เกิดจากการข่าวนั้น มีข้อมูลดี ถูกต้อง อาจจะเกิดจากการเขียนมันส์ อ่านสนุก
เหมือนสมัยก่อนจะมีโซเชียลมีเดีย คุณเขียนคอลัมน์ เขียนมันดี ภาษาดุ ข้อมูลอาจจะไม่ดี แต่คนชอบ เพราะคุณมีซุบซิบ มันก็เป็นเซเลปเหมือนกัน แต่พอมีโซเชียลมีเดียมันก็เข้าถึงคนได้กว้างขึ้น ไวขึ้น เร็วขึ้น

00 โอกาสสื่อใหม่( New Media) จะเข้ามาแทนสื่อเก่า( Old Media) 100% เป็นไปได้หรือไม่

New Media มันคงไม่ 100% แต่จะค่อยๆเพิ่งความสำคัญ และบางครั้งก็เสริม Old Media ไปในตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ทั้ง นสพ. ทีวี วิทยุ ก็ได้ประโยชน์จากการหาข่าวด้วยโซเชียลมีเดีย
“ผมไม่คิดว่าสื่อเก่าจะตายทั้งหมด ถ้าสื่อเก่าใช้เป็น คือใช้โซเชียลเสริม ตัวเองให้อยู่นานที่สุด เท่าที่จะนานได้ ต้องทำตัวให้ดีขึ้น ทุกวันนี้ข่าวนสพ.ได้มากขึ้น แต่ก่อนนี้นักข่าวคนนี้ทำได้แค่ 2 ข่าว แต่พอมีโซเชียลมีเดีย ทำให้การหาข่าว ทำได้ง่ายขึ้น นักข่าวคนเดิมอาจจะทำได้ 5 ข่าวต่อวัน ก็เอามาให้ Old Media แต่ถ้าคุณไม่ใช้ ต่อต้าน มันก็จะไม่ได้ประโยชน์ นั่นแหล่ะจะทำให้ Old Media ยิ่งวันยิ่งมีข่าวน้อยลง เพราะไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียมาเสริมตัวเองได้ ผมจึงไม่คิดว่า จะมาแทนกัน 100% ได้ อยู่ที่คนทำ Old Media จะปรับตัวอย่างไร”

00 บทบาท Old Media ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? แค่ตัวคอนเฟิร์มข่าวที่ลงใน New Media ไปแล้ว?

Old Media ก็จะต้องอยู่ได้ด้วยความลึก ความหลากหลาย สีสันของตัวเองแบรนด์ของตัวเอง ใช้ในสิ่งที่ New Media ยังทำให้ไม่ได้ เช่นคุณมีเลย์เอาท์สวย กราฟฟิคสวย ผมว่าต่อไปนสพ.จะต้องไปเน้นที่ กราฟฟิกทำเป็นภาพ 3 มิติ เพื่อให้มันรู้สึกว่า เออ มันน่าดู เพราะคุณอย่าลืมว่าโซเชียลมีเดียมันมาแล้วไป มันไม่มีเสน่ห์ของความน่าชื่นชม นั่งดูได้นาน อย่างนสพ.สามารถจัดหน้า ให้นั่งดูแล้วดูอีก ซึ่งนี่คือเสน่ห์ที่สื่อเก่าต้องปรับ ต้องรักษาความสวย มีศิลปะ ความสร้างสรรค์

Friday, February 10, 2012

ทวิตก่อนหรือหลังส่งข่าวเข้าโต๊ะข่าวของคุณ?


หากนักข่าวได้ข่าว "สกู๊ป" หรือ "exclusive" มา, สมควรจะทวีตก่อนจะเขียนข่าวให้กับองค์กรข่าวของตนหรือไม่?

แต่ละสำนักมีนโยบายเรื่อง social media ของตัวเองในประเด็นนี้

ล่าสุด, BBC ระบุเป็นนโยบายว่านักข่าวจะต้องส่งข่าว (ที่ไม่เป็นสกู๊ปพิเศษหรือ exclusive) เข้าที่โต๊ะข่าวของตนและทวีตพร้อม ๆ กัน...ไม่ใช่ทวิตก่อนแล้วจึงเขียนข่าวส่งหัวหน้าข่าวของตนอย่างที่อาจจะเป็นวิถีปฏิบัติมาตลอด

ที่บีบีซีต้องออกนโยบายนี้ให้คนข่าวของตนก็เพื่อต้องการให้ข่าวเข้าสู่กระบวนการผลิตของตนเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยไม่ห้ามนักข่าวทวีตพร้อม ๆ ไปด้วย เพราะการทวีตก็เท่ากับเป็นการเชื้อชวนให้ผู้บริโภคข่าวติดตามข่าวนั้น ๆ จากบีบีซีไปด้วย

อีกทั้งยังเป็นการใช้ social media เพื่อเสริมสร้าง brand ของตัวเองในขณะที่การแข่งขันในหมู่สำนักข่าวระหว่างประเทศสูงขึ้นตามลำดับ

อีกสำนักหนึ่งที่ออกนโยบายใหม่เกี่ยวกับการใช้ทวิตเตอร์สำหรับนักข่าวของตนคือ Sky News

คำสั่งใหม่บอกว่าห้ามนักข่าวและนักเขียนของตัวเอง retweet เนื้อหาขององค์กรหรือสำนักข่าวที่เป็นคู่แข่ง หรือทวีตเนื้อหาที่อยู่นอกเหนือสายข่าวของตัวเอง

ซึ่งแปลว่านักข่าวสกายนิวส์ที่ทำข่าวการเมืองไม่สามารถทวิตเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลที่ตัวเองชื่นชมอีกต่อไป และนักข่าวกีฬาที่สนใจการเมืองก็ไม่สามารถจะทวีตข้อความเกี่ยวกับข่าวการเมืองเช่นกัน

ในคำชี้แจงนโยบายใหม่เรื่องนี้ Sky News บอกว่าต้องการจะให้ "โต๊ะข่าว" เป็น "ศูนย์รวม" ของข้อมูลและข่าวสารของกองบรรณาธิการทั้งหมดอย่างแท้จริง ซึ่งก็แปลว่าเขาเป็นห่วงว่าหากนักข่าวทวีตทุกข่าวเอง โต๊ะข่าวหลักในที่ทำงานอาจจะ "ตกข่าว" ของนักข่าวตนเองก็ได้

จังหวะเดียวกันนั้น นักข่าวซีเอ็นเอ็นชื่อ Roland Martin ถูกสั่งพักงานเพราะข้อความในทวิตของเขาระหว่างการแข่งขัน Super Bowl เมื่อวันอาทิตย์ก่อน เพราะองค์กรว่าด้วยสิทธิของเกย์หลายแห่งประท้วงว่านักข่าวคนนี้มีคติต่อพวกเขาขณะที่ส่งทวิตเรื่องที่นักฟุตบอลอังกฤษคนดังเดวิด เบกเฮ็มโฆษณากางเกงในยี่ห้อตัวเอง

ความเห็นของผมเรื่องให้นักข่าวส่งข่าวและทวิตเนื้อหาเรื่องเดียวกันพร้อมกันเป็นเรื่องถูกต้อง ความจริง ถ้าบีบีซีจะให้ชัดเจนกว่านี้ก็จะต้องบอกว่านักข่าวต้องให้แน่ใจว่าโต๊ะข่าวได้ข่าวชิ้นนั้นเรียบร้อยก่อน แล้วจึงจะทวิต เพราะหาไม่แล้ว นักข่าวอาจจะทวิตเพลินจนลืมไปว่าความรับผิดชอบแรกเริ่มของตนนั้นคือต่อผู้อ่าน, ผู้ฟัง, และผู้ชมขององค์กรของตน...และ social media เป็นตัวเสริมให้เนื้อหานั้น ๆ ได้รับการกระจายให้กว้างขวางและสร้างชุมนุมข่าวเท่านั้น

ส่วนที่ Sky News ไม่ให้คนข่าวของตนเอง retweet เนื้อหาขององค์กรข่าวคู่แข่งนั้นผมว่าค่อนข้างจะล้าสมัย เพราะอย่างไรเสียก็จะมีคนอื่นที่ retweet ข่าวทั้งหลายที่ปรากฏในเครือข่ายสังคมอยู่แล้ว, ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรหรือคู่แข่งของคุณก็ตาม