Saturday, October 6, 2012

ทวิตเตอร์กับการจับโกหกนักการเมือง

การโต้วาทีรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบามากับผู้ท้าชิงมิทท์ รอมนีย์เป็นการยืนยันว่า "จอที่ 2 และ 3" มีความสำคัญไม่น้อยกว่า "จอที่ 1" ในการติดตามข่าวร้อน ๆ ที่มาพร้อมกับการแสดงความเห็นสด ๆ ระหว่างติดตามการแลกหมัดในการดีเบตอันเผ็ดร้อน
จอที่ 1 คือทีวี, จอที่ 2 คือคอมพิวเตอร์และจอที่ 3 วันนี้อาจจะเป็นมือถือหรือแท็บเล็ตที่ทำให้การบริโภคข่าวสารของคนยุคนี้มีความคล่องตัวอย่างยิ่ง
ผมติดตามดูว่าคนทั้งหลายเขาติดตามข่าวการดีเบตครั้งนี้นอกเหนือจากดูถ่ายทอดสดทางทีวีกันอย่างไรบ้าง
ผลปรากฏว่าทวิตเตอร์ชนะขาด ตามมาด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "fact-checking" ซึ่งหมายถึงการที่คนติดตามข่าวที่มีข้อมูลสามารถตรวจสอบว่าที่ทั้งสองฝ่ายอ้างข้อมูลแต่ละเรื่องนั้น "ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" กันแน่
ผมเชื่อว่าแนวโน้มของการ "จับผิดกันสด ๆ" อย่างนี้จะเกิดในเมืองไทยได้หากสื่อและแวดวงวิชาการจะเริ่มยกระดับการรายงานและตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของนักการเมืองด้วยการใช้ Social Media เป็นช่องทางเพื่อการสื่อสารให้ทันการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเบื้องหลังของเรื่องราวที่นักการเมืองนำมาอ้างระหว่างการถกแถลงถึงนโยบายที่มีผลต่อสาธารณชน
สื่อหลายสำนักของสหรัฐฯตั้งทีม fact-checking เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบว่าที่โอบามาและรอมนีย์นำมากล่าวอ้างในการอภิปรายครั้งนี้จริงหรือไม่จริงเพียงใด หรือมีการบิดเบือนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของตนเองอย่างไร
ผมเห็น New York Times ตั้งทีมพิเศษเพื่อการนี้อย่างคึกคัก และ NBC มีทีมเฉพาะกิจที่เรียกว่า "Truth Squad" เพื่อทำหน้าที่นี้ อีกทั้ง Washington Post.com ก็เอาจริงเอาจังกับการแก้ข้อผิดพลาดของผู้ร่วมดีเบตอย่างรวดเร็วทันใจ
นี่คือบทบาทของสื่อที่จะต้องเสริมพลังให้กับประชาชนเพื่อพิสูจน์ว่าสื่อไม่เพียงแต่รายงานว่าใครพูดอะไรเมื่อไหร่เท่านั้น แต่ยังจะต้องตรวจสอบว่ามีความถูกต้องหรือไม่เพียงใด
ความเร็วของยุคดิจิตัลต้องเสริมด้วยความลึกของกระบวนการตรวจสอบผ่าน Social Media
"การจับโกหก" ของนักการเมืองเป็นหน้าที่ของสื่อยุคนี้ที่จะต้องทำอย่งเข้มข้นมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีมาช่วยเสริมทัพอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

No comments: