Wednesday, April 18, 2012

ข่าวชั้นเทพทำผ่านแพลตฟอร์มใด...ไม่สำคัญ


นักข่าวสายทหารของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Huffington Post ชื่อเดวิด วู้ดคนนี้บอกว่าตื่นเต้นมากที่ได้รางวัล Pulitzer จากผลงานข่าวเจาะเกี่ยวกับชีวิตทหารที่กลับจากสมรภูมิอัฟกานิสาถนและอิรักพร้อมด้วยความบาดเจ็บที่ยากจะเยียวยาโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ

เขาได้รางวัลสุดยอดการทำข่าวประจำปีประเภท "national reporting" อย่างที่เขาไม่เคยคาดหมายมาก่อน

คณะกรรมการรางวัลพูลิซเซอร์ได้ยอมรับว่าสื่อออนไลน์ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าสื่อดั้งเดิมในการทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นนักข่าวไม่ว่าจะทำหน้าที่ขุดคุ้ย, เจาะหาความจริงเพื่อประชาชนผ่านแพลตฟอร์มใดกำลังได้รับการยอมรับในฐานะ "มืออาชีพ"ได้เช่นกัน

อย่างที่นายเดวิด วู้ดพูดไว้อย่างน่าฟังว่า

"การทำข่าวชั้นเทพนั้น คุณทำผ่านสื่อใดหรือแพลตฟอร์มใด ๆ ได้ทั้งสิ้น" (You can do great journalism from any platform."

หัวใจของคนข่าวที่มีความสามารถ และสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นย่อมมี "กลยุทธ" ในการทำงานไม่ต่างกัน นั่นคือการมีความเป็นอิสระ, การกล้านำความจริงมาเปิดเผย, การตรวจสอบข่าวสารและข้อมูลอย่างรอบด้าน, การไร้อคติและปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน,
และทุ่มเทอดทนกับหน้าที่ของตน

เขาบอกว่าหลักการทำงานในการเจาะข่าวของเขาคือ "Think about your subject, ask good questons, be a continuously a good listener and go deep."

ชัด ๆ ง่าย ๆ ก็คือขอให้คิดใคร่ครวญเกี่ยวกับหัวเรื่องที่เกาะติดอย่างทุ่มเทตลอดเวล ตั้งคำถามที่ดี (แปลว่าเจาะถึงหัวใจของเรื่อง), เป็นผู้ฟังที่ดีอย่างต่อเนื่องและที่สำคัญที่สุดคือการลงลึก

รายงานต่อเนื่องภายใต้หัวข้อ "Beyond the Battlefield" นั้น เขาใช้เวลาสืบค้นหาข้อมูลอย่างละเอียดรอบด้าน 8 เดือนซึ่งแปลว่าคนเป็นบรรณาธิการจะต้องเห็นความสำคัญของการทำข่าวสืบสวนสอบสวนมากพอที่จะอนุญาตให้คนข่าวคนใดคนหนึ่งใช้เวลาเกาะติดประเด็นนั้น ๆ อย่างยาวนานและต่อเนื่องเพียงพอที่จะทำหน้าที่ของตนได้อย่างได้มาตรฐานของวิชาชีพนี้

เดวิดบอกว่าเขาติดตามสัมภาษณ์ทหารที่บาดเจ็บจากสนามรบอัฟกานิสถานและอิรักจำนวนมากมาย และไม่ได้สนใจเพียงว่ารอดตายมาได้อย่างไร หากแต่ต้องการจะรู้ว่า "ชีวิต" จริง ๆ ของพวกเขามีมิติอะไรที่คนทั่วไปมักมองไม่เห็นหรือมองข้ามไปจากรายงานข่าวกระแสหลักตามปกติ

ตอนเริ่มต้น, เดวิดยอมรับเหมือนนักข่าวทั่วไปมีความหวาดหวั่นว่าทหารบาดเจ็บจากสงครามจะยอมพูดกับนักข่าวหรือ? บางคนเสียแขนเสียขาจากสนามรบ, นักข่าวที่ดีจะเข้าไปชวนสนทนาได้อย่างไร? จะมิเป็นการเข้าไปล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลหรือ?

แต่เมื่อลงมือทำ, เขาก็พบว่าทหารหาญเหล่านี้มีความพร้อมที่จะเล่าเรื่องชีวิตและความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับสงคราม, ชีวิตกลางสนามรบ, ชีวิตส่วนตัว, และชีวิตหลังจากหมดหน้าที่การสู้รบ

กลายเป็นการรายงานข่าวที่ตรึงให้คนอ่านติดตามอย่างสนอกสนใจ และมีผลต่อการวางนโยบายของรัฐบาลต่อทหารผ่านศึก และสร้างความเข้าใจระหว่างคนอเมริกันกับทหารอเมริกันทั่วไปอย่างน่าสนใจยิ่ง

ตอกย้ำว่างานข่าวชั้นเลิศนั้นไม่ว่าจะผ่านสื่อใด, แพลตไหนแบบใด, ก็คือข่าวชั้นเลิศที่ประชาชนและผู้บริโภคข่าวต้องการและถามหาอย่างไม่มีวันจืดจางแน่นนอน

Saturday, April 14, 2012

ถ้า อดีต บก. ทั้งหลายกลับมาคุมห้องข่าววันนี้....


นิตยสารรายสามเดือน Nieman Reports เล่มใหม่นี้ขึ้นปกน่าสนใจมาก...เขาไปถามอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดัง ๆ ว่าหากให้กลับมาคุมข่าวอีกครั้งในวันนี้, พวกเขาและเธอจะเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานอย่างไรบ้าง?

คำตอบจากบรรณาธิการหลายคนน่าสนใจยิ่งนัก

สรุปได้ว่าความเห็นส่วนใหญ่ของคนทำข่าวในยุคเปลี่ยนผ่านหากวันนี้กลับมาเป็นหัวหน้าทีมคุมกองบรรณาธิการในภาวะที่บรรยากาศการทำงานพลิกผันไปอย่างมากนั้นจะทำเรื่องใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

๑. จะยังรักษาวัฒนธรรมการทำข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative Reporting Culture) อย่างเหนียวแน่น เพราะยิ่งข่าวสารทั่วไปหาง่ายขึ้น, ความโดดเด่นของคนทำข่าวก็จะอยู่ที่การสามารถเจาะข่าวลึก, ตั้งคำถามให้ผู้มีอำนาจต้องตอบ, เปิดโปงคอรร์รับชั่น, ปกป้องผู้ด้อยโอกาส โดยยังต้องยึดหลักการดั้งเดิมของคนทำสื่อที่มีจริยธรรมมั่นคงว่าให้ Comfort the Afflicted, Afflict the Comfortable ซึ่งหมายความว่าให้ช่วยเหลือเกื้อกูลคนที่ถูกกลั่นแกล้งขณะเดียวกันก็ตรวจสอบและค้นหาความไม่ชอบมาพากลจากคนที่มีชีวิตอยู่สบายกว่าชาวบ้านคนอื่น ๆ

๒. เจาะข่าวเกี่ยวกับชุมชนใกล้ตัวของสื่อนั้น ๆ ให้ลุ่มลึกและละเอียดกว่าใครคนอื่นทั้งหมด เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปเพียงไหนอย่างไร และข่าวสารทั่วไปจะสามารถกระจายไปอย่างกว้างขวางเพียงใด สิ่งที่ผู้บริโภคข่่าวทุกคนต้องการยังเป็นข่าวใกล้ตัวที่ไม่มีใครสามารถทำได้ดีเท่ากับคนข่าวในท้องถิ่นนั้น ๆ

๓. ขับเคลื่อนให้เร็วและคล่องแคล่วสู่โลกดิจิตัลเพื่อให้ตนเป็นผู้นำในด้านนี้ก่อนที่จะถูกแซงหน้าจนตัวเองตกอยู่ในสภาพ "ตกรถไฟ" และต้องหมดสภาพไปโดยปริยาย สื่อที่จะอยู่ได้ยั่งยืนนั้นจะต้องสามารถนำส่งเนื้อหาไปยังผู้อ่านในทุกรูปแบบที่ผู้บริโภคข่าวสารต้องการ และห้องข่าวจะต้องสามารถใช้ social media ในการเสริมการทำงานด้านข่าว

๔. เป็นผู้นำของชุมชนด้วยเสียงแห่งความเห็นที่เข้มแข็ง อันหมายถึงการสร้างเนื้อหาที่สะท้อนความคิดเห็นที่ท้าทายและกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางสำหรับชุมชนอย่างต่อเนื่องและเปิดเผย คนอ่านนั้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับความเห็นของคนข่าว สิ่งที่เขาและเธอไม่ต้องการแน่นอนคือความเห็นและบทความที่อ่อนปวกเปียก, ไร้จุดยืน หรือเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

๕. ยอมรับเสียว่าห้องข่าวไม่สามารถทำทุกข่าวที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งก็แปลว่าจะต้องมีการสร้างเครือข่ายแห่งความร่วมมือ ต้องให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการรายงานข่าว, เขียนบทความเห็น, ส่งคลิบและภาพมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งการสื่อสารในยุคดิจิตัลอย่างอบอุ่นและจริงจัง

๖. ฟื้นกิจกรรมการฝึกฝนคนในห้องข่าวให้คึกคัก การทำ training ให้สอดคล้องกับความต้องการของสื่อยุคใหม่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องทำอย่างเป็นระบบ

๗.ปรับวิธีคิดใหม่ เราต้องยอมรับว่าเราจะเป็นสื่อดิจิตัลที่มีสิ่งพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ ไม่ใช่เป็นห้องข่าวสิ่งพิมพ์ที่มีบางส่วนเป็นเนื้อหาด้านดิจิตัล

๘. อาจจะต้องปรับแผนให้หนังสือพิมพ์ออกอาทิตย์ละสามวัน อีกสี่วันที่เหลือให้คนอ่านมีเครื่องอ่านเช่น Kindle หรือ Nook เพื่ออ่านเนื้อหาของเราจากจออิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งหากทำได้ก็จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับตัวหนังสือพิมพ์ในวันหลัก ๆ ของสัปดาห์ และขณะเดียวกันก็สร้างนิสัยการอ่าน e-reading เพื่อปูทางสู่โลกการบริโภคข่าวสารในช่องทางดิจิตัลอย่างแท้จริงในวันข้างหน้า

๙. โต๊ะข่าวจะแบ่งเป็นทีมที่ทำ breaking news ส่งออกไปทางมือถือและ social media และจะส่ง news alerts ไปทางอีเมลและทวิตเตอร์ กับโต๊ะ บก., นักข่าว, ช่างภาพ, นักเขียนกราฟฟิกที่จะผลิตเนื้อหาลุ่มลึกและหลากหลายมุมมองสำหรับสื่อสิงพิมพ์, แท็บเล็ต และเว็บไซท์

๑๐. สื่อของเราจะไม่เป็นเพียง "แหล่งแห่งข่าวสาร" เท่านั้น หากแต่จะเป็นคลังข้อมูลความรู้สำหรับชุมชนที่ผู้คนสามารถแสวงหาเกร็ดความรู้และเนื้อหาที่สำคัญเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งหาจากที่อื่นไม่ได้

๑๑. เราจะสร้างเนื้อหาและคนข่าวเป็น brand เฉพาะเรื่องต่าง ๆ ภายใต้ brand ใหญ่ เช่นเราอาจจะมีเนื้อหากีฬาที่คนอ่านจ่ายเป็นค่าสมาชิกรายเดือนที่ถูกกว่าค่าสมาชิกสำหรับบริการทั้งหมด และให้สมาชิกสามารถแลกเปลี่ยน, เข้าถึงความเห็นและข้อมูลจากนักข่าวเฉพาะกิจนั้น ๆ เป็นกรณีพิเศษ

นี่เป็นเพียงบางส่วนจากอดีตบรรณาธิการที่เคยทำงานในบรรยากาศยุคก่อนความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก่อความโกลาหลให้กับวงการข่าวอย่างใหญ่หลวงอย่างที่เป็นอยู่วันนี้

อีกห้าปีข้างหน้า คนที่ทำข่าววันนี้อาจจะต้องเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ที่แตกต่างไปจากวันนี้อย่างคาดไม่ถึงก็ได้!

Tuesday, April 3, 2012

นักข่าวยุคดิจิตัลในภาคสนาม...ในสนามข่าว, เราคือตัวจริง


บก.ศูนย์ใต้ แมว" ในเครื่องแบบเต็มยศ (หน้า 1 ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ 2 เมษายน) วันรายงานสดเหตุคาร์บอมบ์ หาดใหญ่ หู:ใส่บลูทูธ สำหรับโฟนอิน มือใช้กล้องไอโฟนสำหรับส่งภาพสด Skype คอห้อยกล้องวิดีโอสำหรับส่งภาพเข้า FTP กระเป๋าสะพายสัมภาระ , กองบก.เนชั่นทีวีและระวังภัย ขอปรบมือให้ทีมศูนย์ใต้ทุกคนที่ปฏิบัติงานในวันนั้นอย่างเต็มที่ ทั้งภาพ ประเด็นและความฉับไว โดยเฉพาะการใช้เครื่อง
มือต่างๆในการส่งภาพและข่าวในแบบฉบับ new media journalist อย่างแท้จริง