Saturday, March 24, 2012

ข่าวดีและข่าวร้ายของพฤติกรรมบริโภคข่าวจากแท็บเล็ต


ข่าวดีก็คือเทคโนโลยีโมบาย เช่นแท็บเล็ตทั้งหลายทำให้การบริโภคข่าวสารคึกคักขึ้น ข่าวยังไม่ดีก็คือว่ายังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ผลิตเนื้อหาสาระข่าวหรือไม่

อย่างน้อยนี่ก็คือแนวโน้มในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะสะท้อนแนวโน้มในบ้านเราหรือไม่ก็ได้

ผลการสำรวจของโครงการ Projet for Excellence in Journalism ของ Pew Research Center พบว่า 27% ของคนที่ถูกตั้งคำถามยืนยันว่าได้รับข่าวจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของตน

และส่วนใหญ่ก็แสวงหาข่าวจากเว็บไซท์จากสื่อกระแสหลักเดิม หรือไม่ก็ apps ที่มีแบรนด์ของสื่อที่น่าเชื่อถือมาก่อน

ที่น่ายินดีสำหรับคนทำข่าวก็คือว่าคนใช้ tablets ติดตามอ่านข่าวสารนั้นอ่านบทความข่าวที่ยาวขึ้น และใช้เวลาอยู่กับเว็บไซท์ข่าวยาวนานกว่าอยู่บนโทรศัพท์หรือคอมฯตั้งโต๊ะ

นักวิจัยในโครงการนี้บอกว่าคนที่ถูกสำรวจจำนวนไม่น้อยบอกว่าก่อนนอนทุกคืน จะมีนิสัยที่ต้องตรวจข่าวล่าสุดจากแท็บเล็ตเพื่อเช็คว่าจะมีข่าวใหญ่อะไรในหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้นบ้าง

รายงานวิจัยนี้บอกว่า unique visits ไปหาเว็บไซท์ข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2010 ถึง 2011 ซึ่งเท่ากับอัตราเพิ่มขึ้นของหนึ่งปีก่อนหน้านั้น

แปลว่าความต้องการเนื้อหาสื่อในรูปแบบกระแสหลักนั้นยังมั่นคงและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น และแหล่งที่มาของเนื้อหานี้ยังมาจากสื่อกระแสหลักเดิม

ซึ่งควรจะเป็นการปลอบใจคนทำข่าวกระแสหลักว่ายังไม่ถูกทอดทิ้งจนหมดอนาคตเสียเลยทีเดียว

แต่ข่าวไม่ค่อยจะสวยสำหรับสื่อเดิมก็คือว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นกลับไปอยู่ที่บริษัทเทคโนโลยี (มิใช่ธุรกิจทำข่าวและเนื้อหา) ซึ่งรวมกันแล้วสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ถึง 68% ของรายได้โฆษณาดิจิตัลทั้งหมดของปี 2011

นั่นคือ Microsoft, Google, Facebook, AOL และ Yahoo!

นั่นย่อมหมายความว่าธุรกิจสื่อเดิมยังไม่สามารถสร้างเนื้อหาหรือมีวิธีนำเสนอที่สามารถดึงเอาผู้มีงบโฆษณาทางดิจิตัลมาใช้งบกับตนเองได้เพียงพอ

ข้อสรุปก็คือว่าธุรกิจสื่อนั้นมีเนื้อหาที่คนต้องการ แต่ในแง่ของการ "รุกหนัก" ทางด้านการสร้างช่องทางและวิธีการนำเสนอที่จะสร้างความน่าดึงดูดผู้ลงโฆษณานั้นยังแพ้เหล่าบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่มี content ของตนแต่อย่างไร

ยังมีการบ้านที่ต้องทำกันอีกมากมายก่ายกองนัก

Sunday, March 18, 2012

เมื่อ Larry King จับมือ Carlos Slim ตั้งทีวีออนไลน์


พลันที่ผมได้ข่าวว่า Larry King แห่งซีเอ็นเอ็นจับมือกับมหาเศรษฐีเม็กซิกันระดับโลกอย่าง Carlos Slim เพื่อเปิดสถานีทีวีออนไลน์ที่ชื่อ Ora.TV ก็เห็นภาพของ "อนาคตของข่าว" ชัดขึ้นอีกระดับหนึ่งทันที

เพราะนี่ย่อมหมายความว่าคนทำข่าวที่มีเนื้อหาคุณภาพย่อมเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคข่าวสาร และนักลงทุนด้านสื่อสารมวลชนย่อมมองเห็นได้จะแจ้งว่าอนาคตของสื่ออยู่ที่คนสร้าง content มากกว่าช่องทางของการสื่อไปถึงสาธารณชนเพราะช่องทางกำลังจะเกิดขึ้นมาอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

แทนทื่ Carlos Slim จะคิดใช้เงินทองของตนเองไปซื้อหุ้นของสถานีโทรทัศน์ยักษ์ ๆ ที่มีชื่อเสียง แต่กลับคิดการณ์ไกลด้วยการประเมินแล้วว่าโลกดิจิตัลกำลังเปิดทางให้อนาคตของทีวีมาอยู่ออนไลน์ แทนที่จะไปอยู่หน้าจอโทรทัศน์ที่มีรายการกำหนดผังตายตัวซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นนี้อีกต่อไป

เพราะเมื่อผู้คนมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถดูคลิบวีดีโออย่างมีคุณภาพได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน และมีรายการที่น่าดูน่าชมกว่าในผังรายการทีวีปกติ อีกทั้งเมื่อรายการเช่นนี้สามารถเอาขึ้นอุปกรณ์สื่อสารยุคใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว, อนาคตของโทรทัศน์ก็มีอันจะต้องเปลี่ยนโฉมไปอย่างหนักหน่วงและรุนแรงอย่างแน่นอน

นายคาร์ลอส สลิมเคยให้หนังสือพิมพ์ New York Times กู้เงินเพื่อผ่อนคลายปัญหาการเงินของสถาบันสื่อมีชื่อเสียงแห่งนี้ แต่ไม่ได้เข้าไปในฐานะผู้ลงทุน มาวันนี้ เมื่อเขามีโอกาสที่จะลงทุนในสื่อที่เขาเห็นว่ามีอนาคตอย่างแท้จริง, เขาก็เลือกคนทำเนื้อหาระดับโลกเป็นหุ้นส่วนเพราะท้ายที่สุดการแข่งขันจะไม่ได้อยู่ที่ฮาร์ดแวร์หรือซอล์ทแวร์ทางเทคโนโลยี

หากแต่อยู่ที่ว่าใครจะมีเนื้อหาที่น่าสนใจกว่ากัน

ตอกย้ำอีกครั้งว่า "อนาคตของข่าว" อยู่ที่ "คนผลิตข่าว" ที่ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ให้ได้จริง ๆ

Thursday, March 15, 2012

Encyclopaedia Britainnica ในโลกดิจิตัล


หลังจากเป็น "เสาหลัก" แห่งข้อมูลมา 244 ปี เจ้าของ Encyclopaedia Britainnica ก็ประกาศหยุดพิมพ์สารานุกรมชุดที่มีตั้งหมด 32 เล่มอย่างเป็นทางการและถาวร

สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตัลที่มีผลกระทบต่อสิ่งพิมพ์ในโลกตะวันตกอย่างชัดแจ้งเห็นจริง

Britainnica ได้พยายามปรับตัวมาตลอดเวลาหลายปีหลังจากอินเตอร์เน็ทโดยเฉพาะ search engines ที่ให้ข้อมูลต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางรวดเร็วและฟรีมีผลต่อยอดขายและคนอ่านสารานุกรมกระแสหลักอย่างมิอาจปฏิเสธได้

Wikipedia คือสิ่งที่คุกคามความอยู่รอดของสารานุกรมกระแสเก่าอย่างชัดแจ้ง

จากนี้ไป Encyclopaedia Britainnica จะบริการทางดิจิตัลเท่านั้น ซึ่งมีทั้งเว็บไซท์ www.britainnica.com และ apps โดยเป็นระบบสมาชิกที่ต้องจ่ายเงิน

รูปแบบเช่นนี้จะยั่งยืนอยู่ได้เพียงใด, อีกไม่นานก็รู้

ประธานบริหารของบริษัท George Cauz เขียนจดหมายถึงลูกค้าว่าอย่างนี้

I understand that for some the end of the Britannica print set may be perceived as an unwelcomed goodbye to a dear, reliable, and trustworthy friend that brought them the joy of discovery in the quest for knowledge. I would like to take this opportunity to share with them a different perspective, one shared by all of us at Encyclopaedia Britannica and by the more than 100 million students and knowledge seekers who have access to www.britannica.com, our educational sites, or our apps. By concentrating our efforts on our digital properties, we can continuously update our content and further expand the number of topics and the depth with which they are treated without the space constraints of the print set.

Saturday, March 10, 2012

Live blogs กับ Storify เสริมงานนักข่าวยุคดิจิตัลให้เร็ว, กว้าง, ลึก


เมื่อวาน เชิญอาจารย์สกุลศรี ศรีสารคาม แห่งคณะนิเทศศาสตร์ ม. ธุรกิจบัณฑิตย์ที่เกาะติดการใช้ social media สำหรับนักข่าวมาแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนข่าวของเครือเนชั่น

ได้ความรู้และแรงกระตุ้นให้คนข่าวของเราทำ live blogs และ Storify กันอย่างคึกคักยิ่ง

อาจารย์ "ไอซ์" สอนนิเทศศาสตร์แบบคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ social media อย่างน่าสนใจยิ่ง และยืนยันว่าการใช้ Twitter และ Facebook ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือกระจายข่าวสารและความเห็นที่ "เร็ว" เท่านั้น แต่ถ้าหากคนข่าวใช้เป็นก็สามารถใช้ social media ในการทำข่าว "กว้างและลึก" รวมไปถึงทำข่าวสืบสวนสอบสวนได้อีกด้วย

อาจารย์ตอกย้ำว่าการใช้โซเชียลมีเดียจะช่วยเสริมความต้องการของผู้บริโภคจากสื่อกระแสหลัก เพราะมีทั้งความเร็วและความลึก และที่สำคัญคือสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนช่วยเผยแพร่หรือบอกต่อข่าวต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วอย่างยิ่ง

อาจารย์เชียร์ให้นักข่าวรุ่นใหม่ใช้ live blogs และ Storify เพื่อรวบรวมและจัดระบบข่าวสาร, คลิบและเสียงไว้ในที่เดียวกันเพื่อความสะดวกสำหรับผู้ติดตาม และเป็นการสร้างชุมชนข่าวให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการเสริม brand ของคนข่าวเองได้อย่างเด่นชัด

การใช้ "ฝูงชนเป็นแหล่งข่าว" หรือ crowdsourcing ก็เป็นอาวุธสำคัญสำหรับคนข่าวยุคดิจิตัลเพื่อการหาข่าวและความเห็นในมุมกว้างและหลากหลาย

อ. สกุลศรีบอก "ยกตัวอย่างงานศพของวิทนีย์ ฮุสตัน คนข่าวก็นำไลฟ์บล็อกมาอัพเดทความเคลื่อนไหวตลอด ทั้งภาพ, ข้อความและคลิบอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ"

อาจารย์สรุปว่าสื่อกระแสหลักจะไม่ล้มหายตายจากไปแน่หากรู้จักใช้ social media เสริมให้แข็งแกร่ง, ต่อเนื่องและจริงจัง

ติดตามเธอได้ใน @imsakulsri