Monday, December 24, 2012

Newsweek ฉบับอำลาโลกผู้อ่านสิ่งพิมพ์

นี่คือนิตยสารข่าวอันเลื่องลือของสหรัฐฯ...Newsweek...ฉบับสุดที่พิมพ์ด้วยกระดาษหลังจากเปิดตัวมา 80 ปีพอดี
ภาพปกเป็นรูปสำนักงานใหญ่ของนิตยสารแห่งนี้ที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ก พร้อมกับ #lastprintissue
อย่างที่ชาวทวิตเตอร์ใช้ในการส่งข้อความเพื่อให้ติดตามประเด็นใดประเด็นหนึ่งต่อกัน
เหมือนจะประชดว่าการที่นิตยสารกระเดื่องนามอันยาวนานต้องโบกมืออำลาจากรูปแบบกระดาษ หันมาเสนอเนื้อหาสาระทางออนไลน์อย่างเดียวนั้นเป็นเพราะสื่อดิจิตัลอย่างทวิตเตอร์นี่กระมัง
เหตุผลหลักที่นิวสวีคตัดสินเสนอเนื้อหาผ่านออนไลน์อย่างเดียวเ็นเพราะรายได้โฆษณาของสิ่งพิมพ์หดหายต่อเนื่อง และคนอ่านหันไปบริโภคข่าวและบทวิเคราะห์ทางออนไลน์มากขึ้นทุกขณะ
บรรณาธิการของ Newsweek ที่ชื่อ Tina Brown บอกว่านี่คือ "บทใหม่" ของนิตยสารเล่มนี้
ในยุครุ่งโรจน์ นิตยสารเล่มนี้เคยขายยอดสูงถึง 3 ล้านฉบับต่อสัปดาห์ สองปีก่อนบริษัท Washington Post ขายให้กับนักธุรกิจ Sidney Harman ในราคา 1 เหรียญ และสามเดือนต่อมาก็ถูกควบรวมกับ Daily Beast
นี่คือสัญญาณเตือนภัยวันนี้สำหรับ "คนข่าวพรุ่งนี้" อีกสัญญาณหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด

Sunday, December 23, 2012

คนข่าวพรุ่งนี้ต้องเป็น "มนุษย์พันธุ์ N"

เป้าหมายการสร้าง "มนุษย์พันธุ์ N"  ให้อยู่ใน DNA ของคนข่าวเนชั่นในปีใหม่นี้คือการฝึกปรือให้เป็นผู้ปรับตัวเรียนรู้และเสริมศักยภาพของการเป็น "คนข่าวพรุ่งนี้" เสียตั้งแต่วันนี้
นั่นย่อมหมายถึงการฝึกฝนอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการสามารถทำหน้าที่รายงาน, วิเคราะห์, ถ่ายภาพ, วิดีโอ, ใช้ social media อย่างคล่องแคล่วฉับพลัน ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ข่าวเชิงลึกและรอบด้าน อีกทั้งยังสร้างปฏิสัมพันธ์หรือ engagement กับผู้บริโภคเนื้อหาสาระทุกรูปแบบที่มิจำกัดแต่เพียงข่าวเร็วข่าวด่วนลักษณะ breaking news เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ report, edit and curate พร้อม ๆ กันไปด้วยอย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าความเป็นคนข่าวระดับ "กลาง ๆ" ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในวิชาชีพนี้ในจังหวะนี้อยู่
ปี 2556 จึงเป็นปีท้าทายที่สำคัญยิ่งสำหรับคนข่าวเนชั่นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ปรับตัวต่อเนื่องมาประมาณ 10 ปี และผ่านหลักหมุดสำคัญยิ่งในปีนี้เมื่อมีการต่อตั้ง Convergent Newsroom เพื่อหลอมรวมการทำหน้าที่ของทุกสื่อทุกรูปแบบมาอยู่ในศูนย์บัญชาการข่าวอันทรงพลัง ณ จุดเดียวโดยการฝึกให้นักข่าว, หัวหน้าข่าว, บรรณาธิการข่าว, ช่างภาพ, producers รวมถึงคนหน้าจอ, หลังจอ, กอง บก. หนังสือพิมพ์ตลอดถึง webmasters ทุกโต๊ะให้สามารถทำงานประสานกันอย่างไร้ขีดจำกัด
การ "รื้อกำแพง" ที่แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของสื่อแบบเดิม ๆ ยังเป็นกระบวนการที่จะต้องเดินหน้าทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกนาที
"มนุษย์พันธุ์ N" จึงเป็นคนข่าวเผ่าพันธุ์ใหม่ที่จะขี่ยอดคลื่นของการปรับเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ของวงการสื่อสารมวลชนอย่างคึกคักยิ่ง

Tuesday, December 18, 2012

ยุทธศาสตร์ "4 จอ" (Four-screen media strategy) สำหรับคนข่าวพรุ่งนี้

คนข่าวที่เตรียมตัวสำหรับอนาคต (ที่มาถึงแล้ว...เร็วว่าที่ใครจะคาดคิดได้) จะต้องผลิตผลงานสำหรับ "4 จอ" ที่ผู้บริโภคข่าวสัมผัสในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนอย่างปฏิเสธไม่ได้
นั่นคือจอทีวี, จอคอมพิวเตอร์, จอแท็บเบล็ทและจอมือถือที่ไม่อาจจะแยกแยะออกจากกันได้ต่อไป
เราต้องเข้าใจและทำงานให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า "The four-screen media strategy" ที่พุ่งเป้าไปที่ TVs, computers, smart phones, tablets อย่างสอดประสานกลมกลืนกันอย่างคล่องแคล่ว
นั่นย่อมหมายถึงการฝึกปรือการทำรายงานและเสนอข่าวและสาระผ่านวีดีโอที่มีคุณภาพ, ทันเหตุการณ์, ลุ่มลึกและสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถจะมีปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ด้วยอย่างไร้กำแพงขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็นกำแพงในโลกจริงหรือกำแพงในจินตนาการที่รื้อยากยิ่งกว่ากำแพงเมืองจีน
ผู้ที่ต้องการจะส่งสารไม่ว่าจะเป็นสาระหรือโฆษณาก็กำลังได้รับการเชื้อเชิญให้รู้จัก "กลยุทธสื่อ 4 จอ" ในการสื่อสารกับฝูงชนที่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ 4 จอนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน


Saturday, December 15, 2012

คนข่าวไม่มีสิทธิ์ซ้ำเติมเยาวชนด้วยการสัมภาษณ์เด็กในโศกนาฏกรรม

ข่าวโศกนาฏกรรมโรงเรียนประถมที่เมือง Newtown, Connecticut สหรัฐฯเมื่อวาน (เด็กถูกหนุ่มวัย 20 ยิงกราดเสียชีวิต 20 ผู้ใหญ่รวมถึงครูใหญ่อีก 6 มือปืนยิงตัวเองตายทีหลัง) เกิดคำถามสำหรับคนข่าวว่าสมควรจะพยายามสัมภาษณ์เด็กที่เห็นเหตุการณ์หรือไม่?
ในภาพนี้จะเห็นนักข่าวทีวีสัมภาษณ์แม่ของเด็ก และยังขอให้เด็กเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักข่าวซีเอ็นเอ็น Cooper Anderson ซึ่งรุดไปรายงานข่าวนี้ด้วยบอกผ่านทวิตเตอร์ว่าเขาจะไม่สัมภาษณ์เด็กเพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมในบรรยากาศเช่นนี้ เพราะจะเท่ากับเป็นสร้างแรงกดดันเด็กเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม
แน่นอน นักข่าวบางคนอาจจะอ้างว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องสืบเสาะหาคนที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกคนเพื่อรายงานเรื่องทั้งหมดให้ประชาชนทราบ จึงอาจจะจำเป็นต้องสัมภาษณ์เด็กด้วย
แต่ผมเห็นว่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาไมค์จ่อปากเด็กเพื่อให้พูดว่าเห็นอะไรในที่เกิดเหตุ หรือมีความรู้สึกอย่างไร
หลักการทำข่าวอย่างนี้สำหรับผมก็คือจะต้องไม่สัมภาษณ์เด็กโดยเฉพาะ ณ ที่เกิดเหตุ เพราะในภาวะเช่นนั้นเยาวชนที่เรียนชั้นประถมหรือมัธยมคงตกอยู่ในสภาพช็อก จิตใจไม่อยู่ในสภาพปกติ แต่ต้องการมีคนปลอบใจหรือให้กำลังใจมากกว่าที่จะถูกนักข่าวซักถามรายละเอียดที่ก่อความรู้สึกตกอกตกใจก่อนหน้านี้ไม่นาน
ที่สำคัญคือจะต้องให้โอกาสพ่อหรือแม่เด็กไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ (ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์อย่างเดียวหรือทีวีด้วย)
หากนักข่าวต้องการได้เรื่องราวและความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ควรจะต้องรอให้อารมณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ (โดยเฉพาะพ่อแม่ของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต) อยู่ในสภาพที่พร้อมจะพูดอย่างสมัครใจ
นักข่าวต้องตระหนักเสมอว่าในภาวะจิตใจที่เป็นทุกข์และสะเทือนใจอย่างหนักนั้น ความสามารถของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่จะพิจารณาว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูดนั้นมีจำกัด
ดังนั้น ถ้าคุณเป็นนักข่าวในสถานการณ์เช่นนี้ จะต้องถามตัวเองก่อนที่จะพยายามสัมภาษณ์พ่อแม่หรือเด็กว่า
๑. คุณกำลังซ้ำเติมความรู้สึกที่หวั่นไหวอยู่แล้วอย่างไรหรือไม่?
๒. ผู้รับสารจะประนามการกระทำของคุณต่อเหยื่อของเหตุการณ์หรือไม่?
๓. การสัมภาษณ์จะทำให้ได้อะไรเพิ่มเติมที่จะทำให้คนอ่านหรือคนดูของคุณเข้่าใจเรื่องราวดีขึ้นอย่างไรหรือไม่?
๔. ถ้าคุณอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน, คุณจะอยากให้ลูกของคุณถูกสัมภาษณ์โดยนักข่าวอย่างนี้หรือไม่?
สำหรับผมแล้ว นักข่าวไม่มีสิทธิ์จะสัมภาษณ์เด็ก ๆ ที่กำลังได้รับความรู้สึกสะเทือนใจอย่างหนัก แม้ผู้ปกครองจะไม่ห้ามก็ตาม หรือแม้แต่เด็กเองบอกว่าพร้อมจะพูด หรือแม้นักข่าวจะอ้างว่าเด็กคนนั้น "ดูไม่มีปัญหาอะไร" เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจริง ๆ แล้วเด็กจะรู้สึก "ปกติ" พอที่จะสนทนากับคุณเพื่อให้ออกข่าวไปสู่สาธารณะหรือไม่
หลักการง่าย ๆ ชัด ๆ สำหรับผมก็คือช่างภาพ, นักข่าวควรจะเคารพในสภาพจิตใจที่อ่อนไหวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายโดยเฉพาะหากเป็นเด็กหรือเยาวชน
ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวสังกัดสื่อยุคดั้งเดิมหรือคนข่าวยุคดิจิตัลก็ตาม!

Tuesday, December 11, 2012

วิเคราะห์ความล้มเหลวของ The Daily ของเจ้าพ่อสื่อเมอร์ดอก

พอมีคำประกาศจากเจ้าพ่อสื่อรูเพิร์ท เมอร์ดอกว่า วันที่ 15 ธันวาฯนี้จะปิด The Daily ซึ่งเป็น "หนังสือพิมพ์แท็บเบล็ท" อ่านได้เฉพาะในแท็บเบล็ทและสมาร์ทโฟนเพราะไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอก็มีคำวิจารณ์ "เหตุแห่งความล้มเหลว" กันหลากหลายมากมาย
แน่นอนว่าการกระโดดเข้าสู่ "หนังสือพิมพ์ดิจิตัล" ของเมอร์ดอกเมื่อเกือบสองปีก่อนนั้นเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย
เพราะอย่างน้อยก็มีคนเชื่อว่าเจ้าพ่อสื่อคนนี้มีกระเป๋าหนักพอที่จะลองทำอะไรอย่างที่คนอื่นเขาไม่กล้าคิดจะทำเพราะไม่มีสายป่านยาวเพียงพอที่จะลองผิดลองถูกได้
แต่แม้จะมีทุนหนาเพียงใด, เมอร์ดอกก็เป็นนักธุรกิจ การขาดทุนต่อเนื่องโดยไม่เห็นโอกาสสร้างรายได้เพียงพอก็ไม่อาจจะอยู่ยืนยาวได้เช่นกันกัน
คำแถลงการณ์ของเจ้าพ่อวันประกาศปิด The Daily บอกว่า
"Unfortunately, our experience was that we could not find a large enough audience quickly enough to convince us the business model was sustainable in the long term. Therefore, we will take the very best of what we have learned at The Daily and apply it to all our properties..."
ซึ่งก็คือการยอมรับว่าแม้จะทุ่มทุนสร้างกองบรรณาธิการแยกออกมาพร้อมทีมบริหารแยกส่วนออกมา แต่ก็ไม่สามารถสร้างฐานสมาชิกที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อรับข่าวและบทความรายวันทางแท็บเบล็ทได้เพียงพอ
ตอนที่เปิดตัว The Daily นั้นเสียงชื่นชมบอกว่าเมอร์ดอกกำลังทดลองกับสูตรที่จะรักษาสิ่งพิมพ์เอาไว้ นั่นคือการเอาเนื้อหาแบบสิ่งพิมพ์ใส่ในแท็บเบล็ท โดยไม่ต้องใช้กระดาษ ไม่ต้องมีสายส่ง ทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้วสัมผัสของผู้บริโภคข่าวดิจิตัล
ความจริง The Daily ก็หาสมาชิกจ่ายเงินได้กว่า 100,000 ราย และมี unique readers ถึง 250,000 รายต่อเดือนในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่สั้น ๆ นั้น
แต่กระนั้น ก็ยังขาดทุนปีละประมาณ 30 ล้านเหรียญ (900 ล้านบาท)
บทเรียนสำคัญจากความล้มเหลวของ The Daily มีมากมายหลายประการเช่น
๑. การจำกัดให้ต้องอ่านข่าวและบทความในอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งแม้จะเป็นดิจิตัลก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคข่าวยุคดิจิตัลที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาข่าวได้ตลอดเวลาผ่านสื่อหลากหลาย
๒. ผู้บริโภคข่าววันนี้ต้องการที่จะแชร์ข่าวพอ ๆ กับรับรู้ข่าว
๓. The Daily เป็นรูปแบบนำเสนอที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นเพราะมองข้ามความจริงที่ว่าในยุคดิจิตัลนี้คุณต้องสามารถเข้าถึงผู้รับรู้ข่าวสารที่กว้างขวางผ่านแพลตฟอร์มทุกรูปแบบโดยไม่ต้องออกแบบแยกส่วนสำหรับสินค้าข่าวสารแต่ละตัว
๔. The Daily ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนต้องมาหาตนเพื่อจะได้ข่าวสารและเนื้อหาขณะที่ผู้คนต้องการมีเสรีภาพที่จะไปหา device ทุกรูปแบบตลอดเวลา
๕. คุณไม่สามารถสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ให้คนลองสี่สัปดาห์แล้วเก็บเงินค่าสมาชิก และขณะเดียวกันก็จำกัดรอยเท้าของเนื้อหาในอินเตอร์เน็ท และตั้งความหวังว่าจะมีคนพร้อมจะจ่ายสตางค์เพื่อซื้ออ่านทุกวัน
๖. ความล้มเหลวของ The Daily อาจจะมาจากมากกว่าหนึ่งสาเหตุเช่นอาจจะเป็นเรื่องของ platform หรือ business model หรือโครงสร้างเทอะทะของบริษัท News Corp
หรืออาจจะเป็นเพราะเนื้อหาที่ค่อนข้างจะจืดและตื้น
๗. หรืออาจจะสรุปได้ว่าความล้มเหลวมาจากการผสมปนเปของสาเหตุต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ อย่างละเล็กละน้อยก็เป็นไปได้ (รวมถึงชื่อ The Daily ที่ไร้เสน่ห์เอามาก ๆ)
นักวิเคราะห์คนหนึ่งสรุปอย่างน่าฟังว่า
"The Daily applied traditional media tactics to what could have been a revolutionary product. Pay walls, once-daily publishing and single-platform delivery were not good enough to compete in a marketplace full of new products that meet user needs and are properly suited to phones, tablets, laptops and desktops..."
แต่จะสรุปจากประสบการณ์ของ The Daily ว่าการเคลื่อนตัวเข้าสู่แท็บเบล็ทหรือสมาร์ทโฟนของเนื้อหาสาระแห่งสิ่งพิมพ์เป็นเรื่องไร้อนาคตโดยสิ้นเชิงก็เห็นจะไม่ได้
เพราะนิตยสารอย่าง Popular Mechanics และ The Economist หรือ The New Yorker ก็สามารถสร้างฐานสมาชิกได้อย่างน่าประทับใจบนแทบเบล็ทและสมาร์ทโฟนไม่น้อย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเชื่อว่าเรื่องของ Brand และการสร้างความสะดวกง่ายให้กับผู้บริโภคข่าวและสาระวันนี้คือเส้นแบ่งระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลวค่อนข้างแน่นอน
ผมยังเกาะติดการปรับเปลี่ยนสะท้ายโลกสื่อสารมวลชนนี้อย่างใกล้ชิดทุกนาทีครับ

Wednesday, December 5, 2012

ไม่มี "อนาคต" ของข่าวเพราะอนาคตคือ "วันนี้"

เรียงความยาว 122 หน้าโดยนักคิดนักวิเคราะห์สื่อสามคนของสหรัฐฯนี้วิพากษ์และเสนอทางออกให้กับ "วันพรุ่งนี้ของข่าว" อย่างน่าสนใจยิ่ง
เริ่มต้นด้วยคำนำที่ว่า "บทความนี้มิใช่การทำนายอนาคตของอุตสาหกรรมข่าวเพราะ 1. อนาคตคือปัจจุบันแล้ว และ 2. สิ่งที่เรียกว่า "อุตสาหกรรมข่าว" ไม่มีอีกต่อไปแล้ว
ข้อสรุปของบทความนี้มีหลายประเด็นที่คนข่าววันนี้จะต้องเก็บไปประเมินและปรับให้เข้ากับวิถีแห่งอาชีพของตน
๑. บทบาทของคนข่าวจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป...แต่จะสรุปว่าคนข่าว (journalist) ถูกทดแทนไปเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก แต่ที่แน่ ๆ คือคนทำข่าวถูกโยกไปทำหน้าที่ที่ไม่เหมือนเดิม นั่นคือไม่ใช่เป็นผู้นำเสนอข่าวคราวที่เกิดขึ้น หากแต่เปลี่ยนบทเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง, ตีความ, อธิบายความหมายของการหลั่งไหลของเนื้อหา, เสียง, ภาพ, วีดีโอที่สาธารณชนสาธารถผลิตได้ด้วยตนเองอย่างไม่หยุดยั้งตลอดวันตลอดคืน
๒. "ข่าว" มิอาจจะถูกเข้าใจว่าเป็น "สินค้าเบ็ดเสร็จ" ในตัวไม่ได้อีกต่อไป กองบรรณาธิการหรือห้องข่าวจำนวนมากยังติดอยู่ใน "กับดัก" ของระบบงานประจำวันที่ยังคิดว่าเป้าหมายสุดท้ายของงานของคนข่าวคือการทำข่าวเสร็จเป็นชิ้่น ๆ แล้วก็หมดหน้าที่สำหรับวันนั้น แต่วันนี้ คนข่าวพรุ่งนี้จะต้องสำเหนียกว่าสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว" ในความหมายใหม่นั้นจะไม่มีขั้นตอนไหนที่เรียกว่า "ปิดข่าว" เหมือนที่ผ่านมา และจะไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันหรือข่าวทีวีช่วงหนึ่งช่วงใดที่จะสามารถอ้างได้ว่า "วันนี้สรุปข่าวเรื่องนี้เพียงแค่นี้..." เพราะข่าวจะเคลื่อนไหวไปกับผู้บริโภคข่าวทุกนาทีทุกสถานที่และผ่านทุกเครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าคนที่มีอาชีพข่าวเองจะคิดว่าข่าวนั้น "จบ" สำหรับวันนั้นหรือไม่ก็ตาม
๓. ความสำคัญของข่าวไม่ได้หดหายไปไหน ความหมายของ "มืออาชีพข่าว" ที่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่จำเป็นต้องหมดบทบาทไป สิ่งที่หมดไปก็คือกระบวนการข่าวแบบเดิม หรือความเชื่อเก่าว่าผู้บริโภคข่าวเป็นฝ่าย "ตั้งรับ" อย่างเดียว
สิ่งที่หายไปคือโลกที่ข่าวมาจาก "มืออาชีพ" แต่เพียงฝ่ายเดียวหรือที่บริโภคโดย "มิือสมัครเล่น" ที่ไม่สามารถผลิตเนื้อหาด้วยตนเอง หรือที่ไม่เรียนรู้วิธีการกระจายข้อมูลข่าวสารของตนเอง
เพราะ "ภูมิทัศน์" ของข่าวสารจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
๔. วิถีธุรกิจสื่อแบบเดิมเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
แม้องค์กรสื่อจะพยายามหาทางเพิ่มรายได้ทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด แต่แนวทางธุรกิจสื่อแบบศตวรรษที่ 20 ซึ่งสร้างกำไรอย่างสูงและต่อเนื่องให้กับเจ้าของกิจการจบสิ้นไปแล้ว อีกทั้งสิ่งแวดล้อมเดิมที่ผลิตผลพวงธุรกิจเช่นนั้นก็ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป
๕. ข่าวด่วนข่าวเร็วไม่ได้เป็นทรัพย์สินเฉพาะของสื่อดั้งเดิมอีกต่อไปเพราะ platforms ต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่กระจายข่าว breaking news พร้อม ๆ กับองค์กรข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน เพราะไม่มีสำนักข่าวใดจะแข่งกับทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คในแง่ความเร็วและความกว้างได้อีกต่อไป
๖. "ความเปลี่ยนแปลง" เพิ่งจะเริ่มขึ้น ทุกอย่างจะปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและความต้องการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งการปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ในทุกบริบทของการสื่อสาร
๗. คำแนะนำสำหรับคนข่าวที่ต้องการจะปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันและรุนแรงคือ "เดินหน้าไปจนกว่าจะเข้าใจมัน" ดั่งที่มีผู้บริหารข่าวคนหนึ่งบอกกับคนที่คิดค้นการทำ news feed ในทวิตเตอร์ว่า
"ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าคุณทำอะไรอยู่ แต่กรุณาทำต่อไป อีกหน่อยผมก็ต้องเข้าใจเอง..." แปลว่าคนข่าววันนี้แม้จะไม่แน่ใจว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็รู้ว่าทิศทางนี้ถูกต้องแล้ว และจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงพยายามเดินหน้าไป ทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เพราะหากจะรอให้เข้าใจทุกอย่างก่อนแล้วจึงจะปรับตัว, ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
๘. กระบวนการผลิตข่าวจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คนข่าวอาชีพเต็มเวลาก็ยังมีความสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่จะมาเสริมอย่างคึกคักคือ "นักข่าวพลเมือง" ที่มาในรูปของผู้อาสา, คนทำงานบางเวลา, และกระจายโดยคนที่ไม่ได้ถามว่า "อะไรเป็นข่าว?" แต่จะถามว่า "เพื่อนผมในโซเชียลมีเดียจะชอบเรื่องนี้ไหม?"
๙. ที่เป็นหัวใจของการโลกใหม่แห่งการสื่อสารก็คือความพร้อมและความมุ่งมั่นของคนข่าวที่จะ "ปรับตัว" ในทุก ๆ ทางเพื่อทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ตกขบวนรถด่วนที่เรียกว่า "พรุ่งนี้ของข่าว"
เพราะในท้ายที่สุดแล้วการทำหน้าที่เป็นคนข่าวที่มุ่งมั่นจริงจัง เน้นสาระที่เป็นสาธารณประโยชน์ มีจริยธรรมที่ได้มาตรฐานสากลยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคม
เพราะคนข่าวที่ดียังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม
นี่คือสัจธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นภารกิจที่คนข่าวที่รักอาชีพนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน


Tuesday, November 27, 2012

Smartscreen: อีกมิติหนึ่งสำหรับคนข่าวพรุ่งนี้

อนาคตของข่าวอีกมิติหนึ่งเป็นการมี "ตู้แทบเบล็ท" สำหรับข่าวสารและข้อมูลเพื่อสาธารณชนแทนที่ "ตู้โทรศัพท์" แบบเก่า
ภาพที่เห็นนี้เกิดแล้วที่นครนิวยอร์ก ขนานนามเสียเก๋ไก๋ว่า "Smartscreen" ซึ่งเป็นบริการให้ข่าวสารร้อน ๆ ล่าสุด, พร้อมกับให้สอบถามเส้นทางและติดตามหน่วยงานราชการในยามฉุกเฉินได้อย่างสะดวกสบายสำหรับคนยุคดิจิตัล
นครนิวยอร์กประกาศว่าจะมีโครงการนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน แต่เพิ่งจะเกิด "ตู้สมาร์ทสกรีน" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมี Cisco Systems กับ City24x7 เป็นเดินโปรแกรม
ถึงวันนี้ ตู้ดิจิตัลแบบนี้เกิดแล้ว 10 จุดในเมืองที่ไม่เคยหลับไหลของสหรัฐฯ ตามแผนงานใหญ่จะต้องตั้งทั้งหมด 250 จุดด้วยกัน
เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการสื่อสารกันอย่างรวดเร็วทันใจเช่นนี้คือ Wi-Fi ฟรีสำหรับทุกคน
ประโยชน์อีกประการหนึ่งของ Smartscreen นี้คือความพร้อมที่จะแปลงเป็น "ตู้ช่วยเหลือยามฉุกเฉิน" เช่นกรณีฟายุแซนดี้ (หากไม่ถูกน้ำท่วมกระหน่ำหรือไฟดับเสียก่อน)
City24x7 บอกว่าตู้พิเศษเช่นนี้สามารถส่งข่าวสารเตือนภัยได้อย่างฉับพลันทันเหตุการณ์ไปยังชุมชนท้องถิ่นและตอบสนองความต้องการของคนอยู่บ้าน, เดินทางและทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพยิ่ง
Smartscreen เช่นนี้สามารถใช้ความเป็นดิจิตัลเชื่อมโยงได้กับบริการอื่น ๆ อย่างสะดวกยิ่งไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพหรือวีดีโอรวมไปถึงอุปกรณ์ sensors ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ,ปกป้องและคุ้มกันมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสะดวกและรวดเร็วอีกด้วย
จอขนาด 32 นิ้วใหญ่พอที่จะใส่ apps เพื่อทำงานด้านต่าง ๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจอีกด้วย
คนข่าวดิจิตัลวันนี้เห็นช่องทางใหม่ที่จะทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นอีกหนึ่งมิติหรือยัง?

Saturday, November 24, 2012

วิกฤตศรัทธาที่บีบีซี...ความน่าเชื่อถืออยู่เหนือเทคโนโลยีเสมอ

วิกฤตศรัทธาที่ BBC เผชิญอยู่ขณะนี้ตอกย้ำสัจธรรมที่ว่าแม้โลกสื่อมวลชนจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตัลที่มีความเร็วและกว้างไกลเป็นลักษณะพิเศษ, แต่ในท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญกว่าการรายงานข่าวเร็วและเร่งด่วนก็คือ "ความเชื่อถือ" (trust) ที่เป็นตัวกำหนดความเป็นความตายขององค์กรสื่อไม่ว่าจะเป็นเมื่อวาน, วันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ตาม
เมื่อวานนี้ คณะผู้บริหารแต่งตั้งนาย Tony Hall เป็นผู้อำนวยการคนใหม่แทนนาย Gorge Entwistle ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้เพียง 54 วันเท่านั้น
เท่ากับว่าเขาเป็นผู้อำนวยการที่มีช่วงเวลาทำงานสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของบรรษัทกระจายเสียงอังกฤษที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทั่วโลกมาตลอด 90 ปีตั้งแต่ก่อตั้งมาเป็นสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาและผู้ฟังผู้ชมให้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากการเมืองและผลประโยชน์ธุรกิจ
แต่ก็เกิดเรื่องอื้อฉาวที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กรอย่างรุนแรง
เรื่องแรกคือการที่บีบีซีไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของอดีตพิธีกรคนดัง Jimmy Savile ที่ถูกกล่าวหาว่าได้ประพฤติผลทางเพศต่อเด็ก ๆ เป็นร้อย ๆ คนตลอดเวลา 40 ปีของการทำงานหน้าจอ เขาเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วในวัย 84 ปี
ทีมข่าวของบีบีซีได้เจาะข่าวเรื่องราวของ  Jimmy Savile แต่ไม่ได้เอามาออกอากาศโดยไม่มีคำอธิบายแต่ประการใด
เรื่องอื้อฉาวที่สองที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายคือการที่รายการ Newsnight ที่เป็นรายการสร้างชื่อเสียงให้บีบีซีมาตลอดที่พลาดท่าเสียทีจนผู้อำนวยการต้องไขก๊อกออกไปอย่างฉับพลัน
นั่นคือข้อกล่าวหาในรายการนี้ที่อ้างว่ามีนักการเมืองจากพรรคอนุรักษ์นิยมจากยุคของอดีตนายกฯมากาเร็ต แทชเชอร์ที่ชื่อ Lord McAlpine ได้กระทำความผิดทางเพศกับเด็กผู้ชายที่บ้านของเด็กที่เวลส์ในช่วย 1970s
ปรากฏภายหลังว่าข่าวชิ้นนี้ไม่มีพื้นฐานแห่งความจริงเลย เป็นการเอ่ยอ้างผิดฝาผิดตัวโดยที่ทีมข่าวบีบีซีไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพื้นฐานดั่งที่เป็นมาตรฐานปกติของการทำข่าว
นี่คือภาวะการตกต่ำของมาตรฐานวิชาชีพบีบีซีที่ร้ายแรง ผู้อำนวยการ Entwistle จึงประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
และเมื่อ Tony Hall รับตำแหน่งแทนก็ประกาศว่าจะต้องรื้อฟื้นศรัทธาของบีบีซีกลับมาให้จงได้เพราะบีบีซีเป็น "หนึ่งในสถาบันที่มีความสำคัญยิ่งต่ออังกฤษและชาวโลก"
ประธานคณะกรรมการบริหารบีบีซี Chris Patten (อดีตผู้ว่าฮ่องกง) ยอมรับว่าชื่อเสียงและเกียรติภูมิของบีบีซีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา จึงต้องเร่งหาทางฟื้นฟูความน่าเชื่อถือนั้นกลับมาให้จงได้
เท่ากับเป็นการย้ำเตือนว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปเพียงใด ไม่ว่าคุณจะเคยโด่งดังมาแค่ไหน แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการทำหน้าที่สื่อก็ยังอยู่ที่คุณสมบัติประการเดียว
นั่นคือ "ความเชื่อถือ" ที่เป็นหัวใจของการสื่อสารทุกยุคทุกสมัย ทุกสื่อ ทุกเหตุการณ์ และทุกผู้ทุกคน

Friday, November 16, 2012

เมื่อนักรบทำศึกบนทวิตเตอร์

สงครามบนทวิตเตอร์ระเบิดแล้ว!
กองทัพอิสราเอล
ซึ่งมีความคล่องแคล่วช่ำชองทางด้านดิจิตัลไม่น้อยได้ใช้ทวิตเตอร์ประกาศศึกสงครามและรายงานการโจมตีศัตรูในฉนวนกาซ่าอย่างรวดเร็วและทันการ
กองทัพของอิสราเอลใช้ @IDF ซึ่งย่อมาจาก Israel Defence Force เพื่อรายงานให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าได้เปิดศึกกับกลุ่มฮามาสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันกลุ่ม Hamas ก็ตอบโต้ผ่านทางทวิตเตอร์อย่างฉับพลัน (อย่างที่ผมเอาเรียงให้ดูข้างบนนี้)
นักวิเคราะห์โซเชียลมีเดียบอกว่านี่อาจจะถือว่าเป็น "ทิศทางใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการทำสงครามทั้งบนในสมรภูมิจริง และการส่งสารตรงจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายผ่าน social media"

ความหมายของคำว่า "อนาคตแห่งข่าว" จึงปรับเปลี่ยนไปอย่างกระทันหันเมื่อนักรบทั้งสองฝ่ายเป็นคนส่งข้อความขึ้นในทวิตเตอร์เพื่อแสดงจุดยืนของตน และเพื่อตอบโต้กันและกันนาทีต่อนาที

ก่อนหน้านี้ ผู้ประท้วงและผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพใช้โซเชียลมีเดียเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน แต่วันนี้นักรบผู้ติดอาวุธจริงเข้ามาใช้เครื่องมือสื่อสารในโลกดิจิตัลเพื่อประกาศศักดาในการทำศึกสงครามแล้ว

แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ทหารเคยใช้วิทยุเพื่อกระจายข่าวด้านของตนให้เกิดความได้เปรียบทั้งทางด้านการข่มขวัญฝ่ายตรงกันข้ามและทำสงครามจิตวิทยาในการศึก แต่วันนี้การใช้ทวิตเตอร์ของทั้งสองฝ่ายถือเป็นการต่อยอดการสื่อสารอย่างรวดเร็วทันการและไปถึงผู้คนทั่วโลกอย่างฉับพลันทันที

นักรบวันนี้ไม่ต้องอาศัยนักข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของตนเองอีกต่อไป หากแต่กระโดดเข้าไปใช้ social media เพื่อทำภารกิจการสื่อสารและออกโฆษณาชวนเชื่อตามแนวทางของตน

แน่นอนว่าข้อความทวิตเตอร์ที่คู่กรณีเอาขึ้นเครือข่ายสังคมดิจิตัลนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือเหมือนที่นักข่าวมืออาชีพจะรายงานและวิเคระห์ แต่เมื่อผู้บัญชาการรบและทหารเองใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คเพื่อเป็นกระบอกเสียงของตนเอง, การปล่อยข่าวลวง, การบิดเบือนข้อเท็จจริงและการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบกันทุกขั้นตอน

หากคนข่าวมืออาชีพปรับตัวทันและใช้ความเป็นคนทำสื่อที่มีมาตรฐานสากล ตรวจสอบข่าวและรายงานเนื้อหาสาระอย่างน่าเชื่อถือ ก็ยังสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "gate-keeper" ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

แต่ก็ต้องสำนึกว่าคนข่าวมิได้ "ผูกขาด" สิทธิและโอกาสที่จะรายงานข่าวสงครามแต่เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไปแล้วเช่นกัน

Sunday, November 4, 2012

เมื่อช่างภาพมืออาชีพใช้ Instagram ทำงานระดับมาตรฐานอาชีพ

สิบกว่าปีก่อน ตอนที่กล้องถ่ายรูปดิจิตัลออกมาใหม่ ๆ ผมเอาไปให้ช่างภาพในห้องข่าวดู เขาบอกว่ามันเป็น "ของเด็กเล่น" ไม่ใช่อุปกรณ์ของมืออาชีพแน่นอน
หลายปีต่อมา กล้องถ่ายรูปของช่างภาพมือาชีพทั้งหลายก็กลายเป็นดิจิตัลหมด ยุคการใช้ฟิล์มถ่ายภาพข่าวค่อย ๆ จางหายจนวันนี้ไม่มีเหลืออีกแล้ว
วันนี้ ไม่เพียงแต่กล้องดิจิตัลเท่านั้นที่กลายเป็นส่วนสำคัญของห้องข่าว แต่ apps ถ่ายภาพในโทรศัพท์มือถือและแทบเบล็ทก็กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในห้องข่าวอย่างปฏิเสธไม่ได้
ปกของนิตยสารไทม์เล่นล่าสุดนี้ เป็นภาพที่มาจากช่างภาพใช้ apps Instagram ถ่ายมุมข่าวร้อนแรงจากกรณีเฮอร์ริเคน "แซนดี้" ที่พัดกระหน่ำเข้าทางตะวันออกของสหรัฐฯอย่างบ้าบิ่น
การใช้ Instagram สำหรับงานอาชีพที่ต้องมีคุณภาพระดับนิตยสารข่าวระดับโลกอย่างไทม์ต้องเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวมาก
Kira Pollack มีตำแหน่งเป็น "ผู้อำนวยการฝ่ายภาพ" ของไทม์ประชุมกับทีมช่างภาพแล้วก็มอบหมายให้ช่างภาพห้าคนประจำภาคตะวันออกให้ถ่ายรูปทุกแง่ทุกมุมของผลพวงจากภัยพิบัติครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย Instagram และส่งเข้าไปใน Instagram feed ของไทม์เอง
เพราะช่างภาพทั้งห้าคนนี้เล่นอินสตาแกรมอย่างคึกคักมาตลอด และได้ทดสองใช้กับงานอาชีพแล้ว คุณภาพของภาพอยู่ในขั้นดีอย่างน่าประหลาดใจ
ส่วนเรื่องความเร็วและการสร้างชุมชนข่าวใน Instagram นั้นไม่เป็นประเด็นที่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว
นายโพลลักบอกว่าเขาได้ใช้ Instagram เป็นช่องทางส่งภาพด่วนและร้อนออกไปสู่คนอ่านมาก่อนแล้ว
"ความริเริ่มนี้มันเกิดจากความจำเป็นก่อน เพราะ apps Instagram เป็นวิธีการเร็วที่สุดในการเสนอข่าวด่วน และมันเป็นเส้นทางตรงดิ่งถึงสาธารณชน ผมไม่ได้มองว่านี้เป็นเรื่องของเทรนด์ใหม่ ผมเพียงคิดว่าอะไรคือช่องทางที่ผมจะส่งภาพถึงคนทั่วไปได้เร็วที่สุด และนี่คือคำตอบ"
ผลก็คือภาพชุดจากเหตุการณ์เฮร์ริเคนแซนดี้ใน "บล็อกภาพของไทม์" นี้มีคนเข้ามาดูและแสดงความเห็นคึกคักที่สุดเท่าที่เคยมีมา...คนที่เข้ามาดูภาพชุดนี้มีสูงถึง 13% ของจำนวนผู้เข้ามาติดตามข่าวในเว็บไซท์ของไทม์ตลอดสัปดาห์
แค่ในช่วง 48 ชั่วโมงมีคนมา "follow" อินสตาแกรมของไทม์เพิ่มขึ้นถึง 12,000 คน
และหนึ่งในภาพนั้นถูกใช้เป็นปกนิตยสารไทม์ล่าสุด (อีกปกหนึ่งเป็นเรื่องเลือกตั้งประธานาดี)
"แม้ว่าความละเอียดของภาพอาจจะไม่ดีเท่ากับกล้องดิจิตัลธรรมดา แต่พอเอามาพิมพ์ขึ้นปกแล้ว ออกมาสวยมาก มีบรรยากาศเหมือนภาพวาดที่ให้ความรู้สึกสมจริงสมจังอย่างยิ่ง"
หนึ่งในช่างภาพที่มีส่วนถ่ายภาพเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย Instagram เขียนเล่าถึงการปรับตัวของช่างภาพในยุค social media ว่าอย่างนี้
"แต่ก่อน ผมใช้กล้องดิจิตัลที่หนักและใหญ่ ต้องคอยปรับความเร็วแสง และ aperture กับต้องห่วงเรื่องตัดต่อและปรับโทนสีและแสงบนจอคอมพิวเตอร์ แต่ในสองสามปีที่ผ่านมา ผมพบว่าไอโฟนผมทำให้ผมสามารถจับภาพได้โดยไม่ต้องรู้สึกเหมือนทำงานอย่างเป็นทางการ การที่ผมสามารถ "เล็งแล้วยิงเลย" (point and shoot) นั้นเป็น "ประสบการณ์แห่งการปลดปล่อย" สำหรับผมทีเดียว มันทำให้ผมค้นพบอีกครั้งหนึ่งว่าความน่าตื่นเต้นของการเห็นความไม่เนี๊ยบทุกเม็ด และเหตุบังเอิญน่าอันสนุกสานผ่านเลนซ์บนมือถือของผมเป็นเรื่องเยี่ยมยอดทีเดียว..."
แน่นอนว่าช่างภาพบางคนก็ยังเห็นว่า "คุณภาพ" ระดับมืออาชีพจะยังต้องยึดการทำงานวิธีเดิมอยู่ดี แต่สำหรับคนข่าวที่พร้อมจะกระโดดเข้าทดลองกับของใหม่ที่สามารถสร้างมิติใหม่ ๆ แห่งการเสนอผลงานของคนข่าวผ่าน apps ใหม่ ๆ ที่ยิ่งวันยิ่งจะท้าทายความเชื่อเก่า ๆ อย่างรุนแรงหนักหน่วงขึ้นทุกคน, นี่คือการ "ปลดปล่อย" ของมืออาชีพที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างแน่นอน 

Tuesday, October 30, 2012

นี่คือ "social media election" อย่างแท้จริง

ไม่เพียงแค่การรายงานข่าวจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียบมีเดียอย่างกว้างขวางเท่านั้น การเมืองวันนี้ก็โยงใยกับทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กอย่างเหนียวแน่น
การเลือกตั้งสหรัฐฯรอบนี้ก็ชี้ชัดว่า social media มีบทบาทกำหนดผลการเลือกตั้งไม่น้อยเพราะสำรวจพบแล้วว่าร้อยละ 39 ของคนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งของสหรัฐฯเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองในเครือข่ายสังคมอย่างคึกคัก
ซึ่งก็แปลว่าการตัดสินใจจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดีและ ส.ส. หรือ ส.ว. ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้จะถูกอิทธิพลของ
ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กอย่างมาก
ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2008 ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็น "social media election" นั้นมีคนทวิตวันเลือกตั้งวันเดียวถึง 1.8 ล้านข้อความ
แต่ปีนี้ 2012 คนทวีตข้อความเพื่อแสดงความเห็นหรือส่งข่าวคราวให้กันและกัน 1.8 ล้านข้อความทุก ๆ 6 นาที
ในช่วงนี้ที่มีข่าวเฮอร์ริเคน Sandy เข้าถล่มฝั่งตะวันออกของอเมริกา ช่องทางที่ส่งข่าวรวดเร็วและกว้างขวางที่สุดไม่ใช่ทีวี, ไม่ใช่เว็บไซท์, ไม่ใช่วิทยุ...แต่คือ Twitter อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย 

Wednesday, October 24, 2012

แม้ Superman ยังต้องปรับให้ทันพรุ่งนี้ของข่าว

แม้แต่ "ซูเปอร์เมน" ยังต้องเข้าสู่ยุคดิจิตัล และประกาศตนเป็น "Citizen Reporter" เพราะการจะดำรงบทบาทเป็นผู้คุ้มครองโลกนั้น ยอดมนุษย์คนนี้จะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย
ยิ่งเมื่อ Clark Kent (บทของซูเปอร์แมนในฐานะนักข่าว) ต้องทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างทันเหตุการณ์ จึงต้องรู้ทันเทคโนโลยีข่าวสาร
ดังนั้นตอนต่อไปของ "Superman" โดย DC Comics ที่จะวางตลาดสัปดาห์นี้ คล้าก เค้นท์จะลาออกจากหนังสือพิมพ์ The Daily Planet เพื่อจะมาทำหน้าที่เป็น "นักข่าวพลเมือง" ในฐานะคนเขียนบล็อกเพื่อสะท้อนถึงความเป็นไปบนโลกที่เขาจะต้องช่วยเหลืดคนดีและผู้เสียสละ
คนเขียนการ์ตูนซูเปอร์แมน Scott Lobdell บอกว่าการที่คล้าก เค้นท์ต้องลาออกจากหนังสือพิมพ์ที่ตนทำงานมาช้านานก็เพื่อที่จะเล่นบทใหม่ เพื่อให้มีดุลถึงอันเหมาะสมระหว่างสื่อมวลชนกับความบันเทิง
อีกทั้งยังต้องการตอกย้ำถึงความสำคัญของโลกโซเชียลมีเดียและนักข่าวพลเรือน
ดังนั้นจึงอย่าได้แปลกใจถ้าหาก Superman จะไปปรากฏตัวที่สื่อออนไลน์เช่น Huffington Post หรือ Drudge Report แทนที่จะไปหางานที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น
โลกนี้ไม่มีที่วางสำหรับคนไม่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย, ไม่เชื่อถาม Superman ก็ได้

Thursday, October 18, 2012

อีกรายหนึ่ง...Newsweek หยุดฉบับพิมพ์ มุ่งสู้ดิจิตัลเต็มรูปแบบ

นิตยสารข่าวรายสัปดาห์อันโด่งดังอย่าง Newsweek อายุยืนยาวมา 79 ปีก็มีอันต้องปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการประกาศว่าจะเลิกฉบับตีพิมพ์ หันสู่เนื้อหาออนไลน์อย่างเดียวตั้งแต่ปีใหม่ที่จะถึงนี้
บรรณาธิการใหญ่ทีน่า บราวน์ย้ำว่านี่เป็นการ "เปลี่ยนผ่าน" ของสื่อ "มิใช่เป็นการประกาศอำลา" แต่อย่างไร
เธอบอกว่ากองบรรณาธิการยังยึดมั่นในคุณค่าและจุดยืนแห่งความเป็น "นิวสวีค" และการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพของแบรนด์ ซึ่งจะยังแข็งแกร่งทรงพลังต่อไป
"แต่ที่เราตัดสินใจเข้าสู่การนำเสนอเนื้อหาทางดิจิตัลเต็มรูปแบบก็เพื่อตอบสนองความท้าทายของเศรษฐกิจแห่งธุรกิจการพิมพ์และการจัดจำหน่ายในโลกวันนี้"
บก. ใหญ่บอกว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก็เพื่อคนอ่านที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา และมีความคิดความอ่านหลากหลายที่ต้องการข่าวคราวของโลกในบริบทที่ทันกับความเปลี่ยนแปลของโลก
นิวสวีคมีปัญหาทางด้านการเงินมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อสองปีก่อนนิตยสารฉบับนี้ประกาศรวมตัวกับ Daily Beast ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ และมีเจ้าของคนเดียวกันคือ Sydney Harman ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว
ทีนา บราวน์อ้างผลสำรวจว่าคนอเมริกันร้อยละ 39% รับรู้ข่าวสารจากแหล่งข่าวออนไลน์ทั้งสิ้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจไปสู่เส้นทาง "ดิจิตัล" และทิ้งแนวทางสิ่งพิมพ์โดยสิ้นเชิง
แนวโน้มลักษณะนี้กำลังจะกลายเป็นทิศทางสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ของสหรัฐฯมากขึ้นซึ่งทำให้คนข่าวต้องปรับตัวครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะความผันแปรหนักหน่วงรุนแรงในแวดวงสื่อตะวันตกยังไม่ "นิ่ง" และจะไม่นิ่งไปอีกนานทีเดียว

Saturday, October 6, 2012

ทวิตเตอร์กับการจับโกหกนักการเมือง

การโต้วาทีรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบามากับผู้ท้าชิงมิทท์ รอมนีย์เป็นการยืนยันว่า "จอที่ 2 และ 3" มีความสำคัญไม่น้อยกว่า "จอที่ 1" ในการติดตามข่าวร้อน ๆ ที่มาพร้อมกับการแสดงความเห็นสด ๆ ระหว่างติดตามการแลกหมัดในการดีเบตอันเผ็ดร้อน
จอที่ 1 คือทีวี, จอที่ 2 คือคอมพิวเตอร์และจอที่ 3 วันนี้อาจจะเป็นมือถือหรือแท็บเล็ตที่ทำให้การบริโภคข่าวสารของคนยุคนี้มีความคล่องตัวอย่างยิ่ง
ผมติดตามดูว่าคนทั้งหลายเขาติดตามข่าวการดีเบตครั้งนี้นอกเหนือจากดูถ่ายทอดสดทางทีวีกันอย่างไรบ้าง
ผลปรากฏว่าทวิตเตอร์ชนะขาด ตามมาด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "fact-checking" ซึ่งหมายถึงการที่คนติดตามข่าวที่มีข้อมูลสามารถตรวจสอบว่าที่ทั้งสองฝ่ายอ้างข้อมูลแต่ละเรื่องนั้น "ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" กันแน่
ผมเชื่อว่าแนวโน้มของการ "จับผิดกันสด ๆ" อย่างนี้จะเกิดในเมืองไทยได้หากสื่อและแวดวงวิชาการจะเริ่มยกระดับการรายงานและตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของนักการเมืองด้วยการใช้ Social Media เป็นช่องทางเพื่อการสื่อสารให้ทันการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและเบื้องหลังของเรื่องราวที่นักการเมืองนำมาอ้างระหว่างการถกแถลงถึงนโยบายที่มีผลต่อสาธารณชน
สื่อหลายสำนักของสหรัฐฯตั้งทีม fact-checking เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบว่าที่โอบามาและรอมนีย์นำมากล่าวอ้างในการอภิปรายครั้งนี้จริงหรือไม่จริงเพียงใด หรือมีการบิดเบือนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของตนเองอย่างไร
ผมเห็น New York Times ตั้งทีมพิเศษเพื่อการนี้อย่างคึกคัก และ NBC มีทีมเฉพาะกิจที่เรียกว่า "Truth Squad" เพื่อทำหน้าที่นี้ อีกทั้ง Washington Post.com ก็เอาจริงเอาจังกับการแก้ข้อผิดพลาดของผู้ร่วมดีเบตอย่างรวดเร็วทันใจ
นี่คือบทบาทของสื่อที่จะต้องเสริมพลังให้กับประชาชนเพื่อพิสูจน์ว่าสื่อไม่เพียงแต่รายงานว่าใครพูดอะไรเมื่อไหร่เท่านั้น แต่ยังจะต้องตรวจสอบว่ามีความถูกต้องหรือไม่เพียงใด
ความเร็วของยุคดิจิตัลต้องเสริมด้วยความลึกของกระบวนการตรวจสอบผ่าน Social Media
"การจับโกหก" ของนักการเมืองเป็นหน้าที่ของสื่อยุคนี้ที่จะต้องทำอย่งเข้มข้นมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีมาช่วยเสริมทัพอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

Sunday, September 23, 2012

การแสวงหาความจริงในยุค Social Media เฟื่องฟู

บางคนเชื่อว่าเนื้อหาในเครือข่ายสังคมหรือ Social Media มักจะเป็นข่าวลือข่าวปล่อยและข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเข้าไปสัมผัสกับมันจริง ๆ จะเห็นอีกด้านหนึ่งของโซเชียลมีเดีย
นั่นคือมันกลายเป็นช่องทางตรวจสอบความผิดพลาด, แสวงหาข้อเท็จจริงและจับผิดคนพยายามจะปล่อยข่าวเท็จได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน
ท้ายที่สุดอยู่ที่ว่าคนข่าวจะใช้ Twitter, Facebook หรือ YouTube อย่างไรให้เป็นเครื่องมือรับใช้ผู้บริโภคอย่างแท้จริงและเข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่ผมเรียก "จัตุรัสข่าวสารสังคม" ในอินเตอร์เน็ทที่ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงวินาทีต่อวินาทีแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้
สมัยก่อน นักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะคนไหนออกข่าวหรือแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอาจจะ "รอดตัว" ไปได้หลายวันก่อนที่ใครจะอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ และมีคนที่รู้ข้อมูลที่ถูกต้องออกมาแสดงความเห็นแย้ง
แต่โลกไซเบอร์ทุกวันนี้ ไม่กี่นาทีที่นักการเมืองออกข่าวเรื่องใดที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นจะถูก "แย้ง" ได้เกือบจะทันที
เว็บไซท์ของสหรัฐฯอย่าง FactCheck.org หรือ PolitiFact ประกาศตนเป็นผู้พร้อมจะ "จับผิด" นักการเมืองหรือสาธารณะบุคคลที่กล่าวอ้างข่าวสารหรือข้อมูลเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน
จะว่าไปแล้ว นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนบุคลากรและองค์กรที่มีบทบาทในการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาความผิดพลาดในข้อเท็จจริง (fact-checking and vertification) ในเวทีสาธารณะผ่าน Social Media
เพราะนี่คือยุคแห่งโลกใหม่แห่งข้อมูลข่าวสารล้นเหลือ ยุคแห่งการที่ข่าวสารได้รับการรายงานแบบ real time ตลอดเวลา และเป็นยุุคที่สมาร์ทโฟนมีกล้องถ่ายรูปดิจิตัลครบครัน พร้อมที่จะรายงานทุกเหตุการณ์ผ่าน social network ได้วินาทีต่อวินาที
บวกลบคูณหารข้อดีข้อเสียของโลกโซเชียลมีเดียวแล้ว ผมก็ยังยืนอยู่ข้างการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้เครือข่ายสังคมอย่างเต็มที่เต็มอัตราศึกอยู่ดี

Sunday, September 16, 2012

USA Today ปรับตัว...ทำงานแบบวง orchestra ไม่ใช่ต่างคนต่างแสดง

ซ้ายมือเป็นหน้าหนึ่งเก่า ขวามือคือหน้าหนึ่งออกแบบใหม่....หนังสือพิมพ์ USA Today อายุ 30 ปีปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการดีไซน์หน้าตาทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซท์ให้มีสันสันตระการตาขึ้นเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเสพสื่อของคนอเมริกัน
อีกทั้งยังประกาศจัดโต๊ะข่าวให้เป็นลักษณะ "Convergent Newsroom" เพื่อให้คนข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ต้องทำคลิบวีดีโอเหมือนกับที่เราเองต้องปรับตัวมาหลายปีแล้ว
จะว่าไปแล้ว USA Today ก็เพิ่งตื่นจากภวังค์เพราะหนังสือพิมพ์ยักษ์ของสหรัฐฯและยุโรปได้ลงมือปรับเปลี่ยนทั้งหน้าตาและระบบห้องข่าวกันขนานใหญ่มาแล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มียอดขายเป็นอันดับสองรองจาก Wall Street Journal มาตลอด จึงยังพยายามต้านแรงกดดันที่ต้องเปลี่ยนแปลงมาตลอด
ความเปลี่ยนแปลครั้งนี้ทำให้หน้าตาของหนังสือพิมพ์ดูเหมือนเว็บไซท์ และเว็บไซท์ก็เหมือน iPad
ประธานของ USA Today ชื่อ Larry Kramer บอกว่าวันนี้ปรัชญาการทำงานของสื่อแห่งนี้เปลี่ยนไปแล้ว
"เราไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ แต่เราเป็นบริษัทข่าวสาร" ("We are trying to think of USA Today not as a newspaper but as a news company")
ซึ่งผมคิดว่ายังปรับวิธีคิดไม่พอ เพราะแค่เปลี่ยนจาก newspaper เป็น news company ยังไม่พอที่จะยกเครื่องการทำงานครั้งใหญ่ได้ ต้องปรับให้เป็นองค์กรแห่งความรู้ยุคดิจิตัลเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้
เขาบอกว่าภายใต้แนวคิดการทำข่าวแบบใหม่นั้นจะให้นักข่าวที่เขียนรายงานสืบสวนสอบสวนระดับชาติประสานควบคู่ไปกับการทำข่าวระดับท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน
เขาเรียกแนวทางทำงานแบบใหม่นี้ว่า "เป็นวงดนตรีออเคสตร้า...มิใช่แค่เครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งเท่านั้น" ("This has to be an orchestra. It can't be a single instrument anymore.")
ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลจากแรงกดดันทางธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะรายได้โฆษณาของ USA Today (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือบริษัท Gannett) ในไตรมาสที่สองหดตัวลง 8.1% และจะยังคงอ่อนตัวลงในไตรมาสที่สามอย่างต่อเนื่อง
คำถามก็คือว่าเพียงแค่เปลี่ยนหน้าตาจะช่วยแก้ไขสถานการณ์เสื่อมทรุดได้หรือไม่
เมื่อ USA Today เกิดตอน 30 ปีก่อน จุดขายสำคัญคือการให้ข้อมูลข่าวสารกับคนเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นพยากรณ์อากาศทุกรัฐ หรือรายงานท้องถิ่นจากทุกรัฐ...แต่วันนี้ผู้คนที่เดินทางสามารถที่จะได้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้อย่างทันท่วงทีจากมือถือหมดแล้ว
รูปแบบการรายงานแบบ "หลอมรวม" หรือ convergent journalism สำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือการที่สามารถประสานกับทีมทำข่าวทีวีของเครือ Gannett ซึ่งมีนักข่าวรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 คน (มีหนังสือพิมพ์ทั้งหมด 82 ฉบับ และทีวี 23 ช่องทั่วอเมริกา) ซึ่งสามารถจะทำงานร่วมกันให้ได้เนื้อหาทั้งสิ่งพิมพ์, คลิบวีดีโอและเสียงอย่างพร้อมมูลได้
ประเด็นอยู่ที่ว่าเขาจะสามารถสร้าง editorial conductors มากำกับการแสดงของ orchestra วงใหญ่นี้ให้สอดประสานเพื่อผู้ฟังผู้ชมผู้อ่านเชื่อในความเร็วและความลึกกับความโดดเด่นที่คนอื่นไม่มีให้หรือไม่
นี่คือตัวอย่างของการพยายามจะตั้งรับกับ "อนาคตของข่าว" อีกกรณีหนึ่งที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไปอย่างต่อเนื่อง


ข่าวต้องเร็ว, แต่ก่อนเร็ว, ต้องแม่นยำ!

Tuesday, September 4, 2012

ฉันถ่ายทอดสดฉันเองก็ได้, ไม่เห็นต้องพึ่งฟรีทีวีเลย!

เมื่อสื่อออนไลน์สามารถไปถึงประชาชนคนดูที่ต้องการ, "ฟรีทีวี" ก็จะลดความสำคัญลงทันที และปรากฏการณ์นี้จะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อ social media สามารถเข้าถึงคนหมู่มากที่มีความสนใจแตกต่างกันโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อดั้งเดิมอย่างแต่ก่อนเก่า
พรรคเดโมแครตประกาศว่าจะ live-stream คำปราศรัยในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เมือง Charlotte, North Calrolina สัปดาห์นี้ตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อประกาศให้บารัก โอบามาเป็นตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัย
จะเป็นการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซท์ของ Democratic National Convention (DNC)
เท่านั้นไม่พอ คนของพรรคยังก้าวกระโดดไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการผลิตรายการการเมืองของตนโดยให้ดาราคนดัง Kal Penn ซึ่งเคยทำงานในทำเนียบขาวมาทำหน้าที่เป็นพิธีกรอีกด้วย
ผมเห็นเขาประกาศแล้วว่ารายการพิเศษที่ไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายทีวีนั้นจะมีนักการเมืองและแขกเวเล็บทั้งหลายมาร่วมรายการด้วยไม่ว่าจะเป็นดาราอย่าง Zach Braff หรือ Fran Drescher และนักร้องคนดัง Marc Anthony
เผลอ ๆ จะสามาระเชิญแขกคนดังมาเข้ารายการสดทางเว็บ
ได้มากกว่ารายการทีวีปกติด้วยซ้ำไป!
ทีวีและเคเบิลหลายช่องก็ใช้เว็บไซท์ของตัวเองถ่ายทอดการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตสดเหมือนกัน เพราะไม่ต้องการ "ตกข่าว"
เป็นการตอกย้ำว่าในยุคสื่อ digital วันนี้, สื่อทีวีดั้งเดิมต้องปรับตัวในอัตราที่เร่งร้อนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจริง ๆ

Sunday, August 26, 2012

คนสติดีวิ่งหนี, นักข่าวบ้าบิ่นวิ่งสวนเข้าไป

หนังสือเล่มนี้ยืนยันว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปถึงไหน พื้นฐานแห่งการเป็นนักข่าวมืออาชีพที่ดีและรับผิดชอบต่อสังคมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือการทำหน้าของตนเองอย่างตรงไปตรงมา และรายงานอย่าง "fair and balanced" นั่นคือต้อง "ยุติธรรมและไร้อคติ"
คนเขียนหนังสือเล่มนี้ Mort Rosenblum เป็นนักข่าวต่างประเทศของหลายสำนักเช่น AP และ International Herald Tribune
เขาเขียนหนังสือเล่มนี้เป็น "คู่มือ" ให้กับนักข่าวรุ่นปัจจุบันเพื่อตอกย้ำว่าการรายงานข่าวระหว่างประเทศยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แม้ว่าสื่อหลายสำนักในอเมริกาและยุโรปจะลดจำนวนนักข่าวที่ส่งไปต่างประเทศเพราะภาวะขาดทุนที่เกิดจากแรงกดดันของอินเตอร์เน็ทจนทำให้จำนวนนักข่าวประจำต่างประเทศที่เรียกขานกันว่า foreign correspondents นั้นเริ่มหดหายไปอย่างน่ากลัวว่าจะกระทบต่อคุณภาพของการรายงานข่าวจากต่างแดน
อาชีพการเป็น "นักข่าวต่างประเทศ" วันนี้จึงดูเหมือนจะลดความสำคัญลงในสายตาของเจ้าของสื่อหรือบรรณาธิการของสำนักสื่อใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะมีผลทางลบกับคุณภาพของการรายงานข่าวอย่างยิ่ง
ผมชอบที่คนเขียนอ้างถึงนักข่าวต่างประเทศของ Hearst คนหนึ่งชื่อ H.R. Knickerbocker ที่เป็นนักข่าวระดับโด่งดังในยุคปีทศวรรษ 1930 ที่เขียนเขียนไว้ว่า
"Whenever you find hundreds of thousands of sane people trying to get out of a place and a little bunch of madmen struggling to get in, you know the latter are newspapersmen."
เป็นการยืนยันว่าคนข่าวนั้นต้องมีคาวมบ้าบิ่นไม่น้อยในการทำหน้าที่เพื่อมวลชน
เพราะเขาบอกว่า "ถ้าคุณแห่งคนสติดี ๆ เป็นหมื่นเป็นแสน
พยายามจะวิ่งหนีออกจากที่ไหนสักแห่ง ขณะที่คนบ้า ๆ กลุ่มหนึ่งพยายามดิ้นรนจะวิ่งสวนทางกลับเข้าไป...คุณบอกได้เลยว่าพวกหลังนี้คือนักหนังสือพิมพ์..."
และนั่นคือที่มาของชื่อหนังสือคู่มือสอนคนข่าวยุคนี้ให้มีความกระตือรืนร้น มุ่งมั่น และทุ่มเทใหักับการทำข่าวต่างประเทศที่ยังมีความสำคัญมากสำหรับโลกที่จะต้องมีความเข้าใจในความเป็นไปของกันและกันอย่างยิ่ง

Thursday, August 2, 2012

ข่าวล่าจากสื่อระดับโลก...ก้าวย่างการปรับตัวที่สิ่งพิมพ์เกาะเกี่ยวดิจิตัล

หนังสือพิมพ์ยักษ์สองฉบับนี้กำลังปรับกลยุทธด้านสิ่งพิมพ์กับดิจิตัลอย่างคึกคัก, เป้าหมายหลักคือทำอย่างไรจึงให้เนื้อหาที่ได้มาตรฐานโลกของตนฝ่าข้ามความเปลี่ยนแปลงที่สร้างความสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว

ล่าสุด Financial Times รายงานว่าจำนวนสมาชิกดิจิตัลสูงกว่าคนอ่านสิ่งพิมพ์แล้ว...297,227 เปรียบเทียบกับ 301,471 ต่อวัน

นั่นแปลว่าจำนวนสมาชิกที่จ่ายเงินเพื่ออ่านเนื้อหาผ่านดิจิตัลเพิ่มขึ้น 31% ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันตัวเลขที่น่าสนใจสำหรับ New York Times ตอกย้ำเป็นครั้งแรกว่ารายได้หลักจะมาจากคนอ่านมากกว่าโฆษณา, ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าวิเคราะห์อย่างยิ่ง

รายได้โฆษณาของนิวยอร์กไทมส์ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง และผลประกอบการไตรมาสสองแสดงการขาดทุน $88.1 ล้าน

แต่รายได้จากสมาชิกทั้งสิ่งพิมพ์ (ที่ปรับขึ้นราคาต่อฉบับ) และออนไลน์กลับเพิ่มขึ้น

ภาพรวมรายได้จากโฆษณาของหนังสือพิมพ์ในเครือสามฉบับคือ New York Times, International Herald Tribune และ Boston Globe ทั้งสิ่งพิมพ์และดิจิตัลลดลด 6.6% ไปอยู่ที่ $220 ล้าน

แต่รายได้จากการขายหนังสือพิมพ์ทั้งสิ่งพิมพ์และดิจิตัลกลับเพิ่มขึ้น 8.3% ไปอยู่ที่ $233 ล้าน

นักวิเคราะห์มองว่านี่คือการปรับตัวครั้งสำคัญยิ่ง ชี้ไปที่แนวโน้มใหม่ว่ารายได้จากคนอ่านจะสูงกว่าเงินจากโฆษณาเป็นครั้งแรก

ทั้งเครือของบริษัท News Media Group นี้มีสมาชิกดิจิตัล 509,000  ซึ่งกระเตื้องขึ้นมาจากเมื่อเดือนมีนาคมซึ่งยืนอยู่ที่ 454,000 ราย

เป็นการตอกย้ำว่าคนอ่านพร้อมจะจ่ายเงินเพื่ออ่านเนื้อหาผ่านดิจิตัล ไม่เรียกร้องว่าต้องอ่านฟรีเหมือนที่เคยเชื่อกัน

ขอให้คุณภาพและยี่ห้อของสื่อนั้น ๆ เป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภคข่าว, โอกาสที่สื่อในยุคดิจิตัลจะรอดการล่มสลายก็ยังพอมีให้เห็นอยู่

กรณีของ Financial Times ก็น่าสนใจไม่น้อยที่ใช้กลยุทธดึงคนเข้าจ่ายเงินเพื่ออ่านเนื้อหาดิจิตัลอย่างเป็นล่ำเป็นสัน...อีกทั้งยังเพิ่มราคาค่าหนังสือพิมพ์ที่เป็นสิ่งพิมพ์พร้อมกันไปด้วย

ที่ FT ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนคือการเสนอเนื้อหาผ่าน apps หลายรูปแบบ เฉพาะ web app ของสื่อสำนักนี้แห่งเดียวมีผู้ใช้ถึง 2.7 ล้านคนตั้งแต่เปิดตัวมา

FT ไม่พึ่งพา Apple อย่างเดียวในการเสนอเนื้อหาผ่าน apps จึงได้ซื้อธุรกิจของบริษัท Assanka เมื่อเดือนมกราคมปีนี้เพื่อเป็นหน่วยเขียน apps และวิเคราะห์ข้อมูลของคนอ่านและเนื้อหาทางดิจิตับอย่างเป็นระบบ

ผู้บริหารของ FT บอกว่าประโยชน์อันสำคัญยิ่งของการเสนอเนื้อหาผ่านสื่อดิจิตัลคือความสามารถที่จะรับรู้ว่าผู้อ่านต้องการอะไรกันแน่

เพราะการทำสื่อสิ่งพิมพ์นั้นเกือบจะไม่รู้เลยว่าคนอ่านเป็นใครและต้องการอะไร เพราะวัดและประเมินได้ยากขณะที่สื่อดิจิตัลสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างละเอียด ถึงลูกถึงคน

"ตอนนี้เรารู้ว่าคนอ่านของเรามีอาชีพอะไร, พำนักที่ไหน, ชอบอ่านอะไรบ้าง, มีความชอบอะไรเป็นพิเศษ ข้อมูลอย่างนี้ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ยิ่งเรามีสมาชิกคนอ่านมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งสามารถจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอ่านของเรามากขึ้นเพียงนั้น" ผู้บริหารของ FT คนหนึ่งบอก

ซีกของ NYT บอกว่าการที่ปรับขึ้นราคาหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษนั้นดูเหมือนจะไม่มีผลทำให้คนอ่านหนีไปเท่าไหร่นัก "เพราะคนจำนวนไม่น้อยเห็นคุณค่าของสิ่งที่นิวยอร์กไทมส์ทำในฐานะเป็นองค์กรข่าว และพวกเขาพร้อมจะจ่ายค่าสมาชิกมากกว่าที่เราเคยคาดการณ์เอาไว้ด้วยซ้ำ...อีกทั้งการที่คนอ่านดิจิตัลสามารถเข้าถึง apps ที่มีคุณภาพและเนื้อหาที่ดีทำให้คนจำนวนไม่น้อยพร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่ออ่านเรา..." ผู้บริหารอีกคนหนึ่งบอก

FT สร้างคนอ่านรุ่นใหม่ด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษาวิชาธุรกิจเข้าไปใช้เว็บไซท์ MBA Newslines ซึ่งเปิดให้สามารถแสดงความเห็นต่อบทความใน FT และสามารถอ่านปฏิกิริยาต่อเนื้อหาเหล่านั้นจากนักศึกษาของสถาบันอื่นอีกด้วย

FT จับมือกับ Wall Street Institute สร้าง ForToday ซึ่งใช้บทความใน FT สอนภาษาในห้องเรียน

อีกทั้งยังเพิ่งเปิดตัว apps ที่เป็นเกมเพื่อการศึกษาเพื่อช่วยในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย

ต้องไม่ลืมว่าบริษัทแม่ของ FT คือ Pearson ซึ่งเป็นบริษัทแบบเรียนเพื่อการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

FT ใช้ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ตนเองในการสร้างบริการข่าวสารเบื้องลึกพิเศษเช่น China Confidential และ Brazil Confidential เพื่อเสริมรายได้ของตนด้วยการเสนอเนื้อหา exclusive และลึกกว่าที่จะหาได้จากแหล่งอื่น ๆ

FT เรียกการปรับตัวครั้งสำคัญนี้ว่าเป็น “A journey of transformation" หรือ "ก้าวย่างแห่งการปฏิวัติตัวเอง" และยังยืนยันว่าเมื่อทำได้เช่นนี้สื่อสิ่งพิมพ์เองก็ยังสามารถอยู่ต่อไป เท่ากับเป็น "a new lease of life" หรือเป็นการ "ต่ออายุ" สำหรับสิ่งพิมพ์อย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง


Thursday, July 12, 2012

ปุ่ม Ctrl, Alt, Del ที่ช่วยชีวิตคนข่าวดิจิตัลได้อย่างดียิ่ง

ชีวิตคนข่าวยุคดิจิตัลไม่จำเป็นต้องเครียดหรือจมปลักอยู่กับความจริงจังเสมอไป
ผมเป็น "กุญแจสามดอก" แห่งชีวิตสำหรับคนยุคใหม่แล้วก็เห็นพ้องด้วยทันที เพราะสามปุ่มบนคอมพิวเตอร์นั้น เราสามารถจะปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเราได้
Ctrl ควรจะหมายถึงความสามารถของเราที่จะกำหนดชีวิตเรา ไม่ต้องให้ใครคนอื่นหรือความเร่งร้อนของชีวิตดิจิตัลมาทำให้เราต้องหัวปั่นสั่นคลอนตลอดเวลา
Alt นั้นคือการหา "ทางเลือกอื่น" ที่อาจจะแก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ได้ดีกว่า อย่าจมปลักอยู่กับสูตรเก่า ๆ
และ Del นั้นไซร้เป็นการบอกเราว่าอะไรที่ทำให้เราเครียดเราอึดอัดหรือไม่ได้ดั่งใจก็กดลบทิ้งมันเสีย

เห็นไหมว่าชีวิตดิจิตัลก็มีทางออกที่สดใสและสนุกสนานได้เสมอ...

Sunday, June 24, 2012

อีกก้าวหนึ่งของเนชั่น...Social TV

เครือเนชั่นเปิดกลยุทธใหม่ Social TV ผนึกพลังเครือข่ายสังคม  social media ให้ "ดูไปทวีตไปขึ้นเฟสบุ๊กไป" จุดกระแสเพิ่มยอดคนดูทีวีในเครืออย่างคึกคักทุกสื่อทุกเวลาทุกสถานที่
ทีมบริหารของเครือยังก้าวหน้าต่อไปในการสร้างกลยุทธทางเนื้อหาและการตลาดยุคดิจิตัลอย่างไม่หยุดยั้ง ล่าสุดจะเปิดตัว Social TV เพื่อให้คนดูรายการทีวีของเครือทุกช่องมีการปฏิสัมพันธ์กันแบบ "เรียลไทม์" ผ่านทวิตเตอร์, เฟสบุ๊ค, ยูทูปและสื่อ social media อย่างร้อนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแวดวงสื่อของประเทศไทย
ครือเนชั่นได้สร้างกองทัพคนข่าวและนักการตลาดในทวิตเตอร์และเฟสบุ๊กที่รวมกันแล้วมีฐาน followers และ friends หลายล้านคน อีกทั้งคนดูช่องทีวีของเราไม่ว่าจะเป็น Nation Channel, Rawangpai, Mango TV และที่กำลังจะเกิดใหม่คือ Krungthep Turakij TV กับ KidZone ที่รวมกันแล้วมี audience ทั่วประเทศหลายสิบล้าน...คนดูทีวีไปทวีตและอัปเดตเฟสบุ๊กกับเข้าไปเสวนากันผ่านยูทูปไป...เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการดูทีวีอย่างมีความคึกคักตลอดเวลา ทั้งก่อนรายการ, ระหว่างรายการและหลังรายการทุกรายการ
"กลยุทธ Social TV" ของเครือเนชั่นเป็น "นวัตกรรมทางการสื่อสารและการตลาด" ที่สร้างบทสนทนาของผู้คนที่ดูรายการผ่านจอทีวี,เว็บ, จอมือถือและแทบเบล็ทอย่างหลากหลายที่เราเรียกว่าเป็น backchannel ที่จะกระตุ้นการดูทีวีที่มีชีวิตชีวาผ่าน social media อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย
คนดูข่าวดูโฆษณาจากทีวีของเครือเนชั่นผ่านมากมายหลายจอจะสามารถเกาะติดถึงความคิดเห็น, ปฏิกิริยา, กระแสความรู้สึก, ข้อมูลจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง, ฉับพลันและหลากหลาย สร้างให้เกิดประสบการณ์ทางด้านการเสพข่าวสารบ้านเมือง, บันเทิง, กีฬา, บทวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่ไม่เคยได้พบเห็นมาก่อนแน่นอน
ผลจากการทวีตและส่งข้อความขึ้นเฟสบุ๊คก่อน, ระหว่างและหลังรายการต่าง ๆ ในจอทีวีจะทำให้เกิดกระแสความสนใจทั้งในเนื้อหาที่โดดเด่นและการสื่อสารทางด้านการขายและการตลาดที่ผ่านสื่อของเครือเนชั่นอย่างร้อนแรงขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้บริโภคข่าวสาร, ผู้โฆษณา, ผู้ต้องการประชาสัมพันธ์และผู้ต้องการสำรวจความเห็นประชาชนล้วนสามารถใช้กลยุทธ Social TV ของเครือเนชั่นได้อย่างคล่องแล่วและมีประสิทธิภาพที่วัดผลกันได้นาทีต่อนาที
นี่คืออีกก้าวย่างสำคัญทางด้านการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในเครือเนชั่นที่กำลังก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้คำขวัญ ImagiNATION หรือ "จินตะเนชั่น" ที่เน้นความสำคัญของนวัตกรรม, จินตนาการและการก้าวล้ำนำยุคในสนามการแข่งขันดิจิตัลที่ร้อนแรงขณะนี้

Friday, June 15, 2012

ในโลกโซเชียล มีเดีย...ทุกเศษเสี้ยวของนาทีคือเส้นตาย



นักข่าวรุ่นเก๋าอย่างแดน ราเธอร์แห่ง CBS แม้จะมีความเห็นเชิงวิพากษ์ต่อ social media ในการทำข่าวทุกวันนี้ แต่เขาก็ยอมรับว่าใครไม่ใช้เครือข่ายสังคมอย่างทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊คก็จะล้าสมัยไม่ทันการ เพราะเขาเองก็ยังต้องมีหน้าเฟสบุ๊คสำหรับรายการทีวีของเขาเพื่อสนองความต้องการของคนดูและคนอ่านในยุคปัจจุบัน
ราเธอร์บอกว่าโลกโซเชียลมีเดียทำให้คนทำข่าวมีสมาธิสั้น ไม่มีเวลาวิเคราะห์และคิดอะไรลึกซึ้งได้เท่าที่ควร
"ทุกวินาทีคือเส้นตายที่ต้องส่งข่าว" เขาบ่น แต่ก็ยอมรับว่าในชีวิตการทำข่าวของเขานั้นอินเตอร์เน็ทคือเครื่องมือสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย
แดน ราเธอร์เพิ่งออกหนังสือเล่มล่าสุดเล่มนี้ว่าด้วย "ชีวิตในข่าวของฉัน" ซึ่งเล่าขานถึงเบื้องหลังการทำข่าวหลาย ๆ ด้านที่น่าสนใจยิ่ง
ข้างล่างนี้คือส่วนหนึ่งของบทถาม-ตอบที่เว็บไซท์ Lost Remote สัมภาษณ์นักข่าวรุ่นลายครามคนนี้โดยเฉพาะประเด็นข้อดีข้อเสียของการทำข่าวกับโซเชียล มีเดีย
Lost Remote: How do you think social media, Facebook, Twitter, however you want to define social media, has affected news today?
Dan Rather: I engage in social media, a Facebook page, a Twitter page and I’m not an expert on it. Now you have a deadline every nanosecond. And you don’t have time you used to have to reflect and to think things through.   Never mind make telephone calls. It has shrunk as a result of social media.  You can see this most clearly in what happens at even the best newspapers. Not so long ago a writer for The New York Times and the Wall Street Journal would have until three, three thirty in the afternoon, to make telephone calls, perhaps to think things through, to try to connect the dots. Today they are under great pressure to fly along what’s called multi-platforms. The home office wants something to Facebook, wants something to blog, wants him to be on Twitter, and beat the competition. It’s very common today for a reporter to get a phone call or a text from the home office saying, “our competition has X and you need to beat it in the next thirty seconds, preferably less.”
I think the other thing that has made a difference with the social media is that, I want to state this directly, but I want to do it carefully, that in so many minds, what’s on social media is what’s called news. Sometimes it’s news and other times it isn’t news because there’s a lot of blurring that if somebody sitting in their living room has a thought, fancy themselves a thought with Twitter or even a couple lines, a paragraph on Facebook it maybe just what’s in their head at that moment, but if it happens to strike a certain cord, it can go viral or something close to viral and so often is considered a fact or close to fact when it isn’t.
There is no misunderstanding that we are in the internet era. We went from the print era, to the radio era, to the television era. We are now in the internet era. I think overall in the whole development of the internet, including social media, has been for the good. Not just in terms of news, but in terms of information, which is sometimes different education.
LR: Do you personally use social media at all for research, for promoting your news program on HDNet?
Rather: We do use it, and I do use it. The collective we being here at Dan Rather Reports, our weekly news program and I use it. I don’t think you can be effective these days and not use it. I do think that you can get over focused. And I’m still trying personally to strike that balance of keeping up with what’s going on with social media and at the same time doing my legwork and telephone work as a reporter.  But we do Facebook, we have a Facebook page for Dan Rather Reports. I contribute to that page regularly, daily, sometimes more than once a day, and we use Twitter as well. Yes we use it for promotional purposes, but I have found that if you use your Facebook page only for promotion or even mostly for promotion, people get over to it pretty quickly, and they either stop coming or they ignore it. So you have to give value for time spent.
And we also use for research, to try to stay abreast of what’s trending on Facebook, what’s trending with tweets. We use it for research, also for promotion and also as an outlet for material, and my example would be that, forgive the personal reference, but I came upon a story about a week ago about the specifics of Hugo Chavez, how serious the cancer is. A very advanced very aggressive form of cancer and spoke to someone who is in a position to know, who raised the possibility that Chavez could not last until the scheduled election in October. We’re a weekly news program. This happened, I can’t remember, I think on Thursday or Friday between programs. So, we wanted to get that information out. I thought it was an important story, not the greatest story in the world, but an important story. And we also have our competitive pressure so what do we do? We very quickly put something on Facebook and Twitter, while we’re getting something put together for AOL which was kind enough to print it, a short three paragraph story about it, and so it isn’t just research, it isn’t just promotion. We use social media as a way of getting out news

Monday, June 11, 2012

คนข่าวยุคใหม่ห้ามพลาด Instagram กับ Pinterest

นักข่าวดิจิตัลต้องกระโจนเข้าไปมีกิจกรรมในโลก "เครือข่ายสังคม" ที่ขยายตัวเพิ่มเติมจากทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

วงการ social media กำลังจับตาไปที่ Pinterest และ Instagram ถึงขั้นที่วันก่อนมีประเด็นว่าสองเจ้านี้ใครสำคัญกว่ากันในแง่การสร้างแบรนด์สำหรับผู้ที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากคนทั่วไป

Sproutinsights.com ตั้งคำถามที่น่าสนใจยิ่ง เพราะทั้งสองเครือข่ายนี้มีความเหมือนความต่างที่คนข่าวสามารถนำมาใช้ได้อย่างดียิ่งในการสร้างความพัวพันกับคนอ่าน, คนดูและคนฟัง

ทั้งสองเครือข่ายเปิดทางให้ภาพและวีดีโอสามารถเชื่อมต่อผู้คนในสังคมอย่างคึกคัก และกำลังฮือฮาในแวดวงนักการตลาดและนักขาย

แต่ผมเห็นว่านักข่าวยุคใหม่ก็ควรจะสามารถใช้เพื่อการเชื่อมต่อกับผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ชัดเจนว่า Instagram ให้ความสำคัญกับรูปและการสื่อสารกับด้วยภาพอย่างมีสีสันและรวดเร็วทันใจยิ่ง เพราะเขาเรียกตัวเองว่าเป็น

"...a fast, beautiful and fun way to share your photos with friends and family..."
ผมใช้เป็นประจำเพื่อถ่ายรูป ตกแต่ง และส่งขึ้นทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คอย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นข่าวด่วนข่าวร้อนหรือภาพน่าประทับใจที่ต้องการจะแพร่ไปถึงผู้คนในสังคมอย่างรวดเร็วและสวยงาม

ส่วน Pinterest บรรยายสรรพคุณตัวเองว่าเป็น

"a virtual pinboard that allows you to organize and share all the beautiful things you find on the web..."

เป็นเสมือนบอร์ดป่าวประกาศที่ใคร ๆ ก็สามารถจะนำภาพ, วีดีโอและความเห็นทุกอย่างมาแชร์กันอย่างสวยงามและเป็นระบบ เหมาะสำหรับนักข่าวที่จะนำเสนอทั้งเรื่องราวและภาพกับวีดีโอที่จะสร้างความเป็นประชาคมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

Instagram สร้างควาาเกรียวกราวมาแล้วเพราะเฟสบุ๊คซื้อไปที่ราคา 1,000 ล้านเหรียญ
ขณะที่กำลังลุ้นว่า Pinterest ก็อาจจะสร้างราคาในตลาดได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

สำหรับผมแล้ว, ทั้งสองเครือข่ายนี้คือเครื่องมือโดดเด่นและมีอนาคตยิ่งสำหรับคนข่าวยุคใหม่...นักข่าวคนไหนยังไม่ได้ลองก็อย่าได้รอช้าเป็นอันขาด