Tuesday, December 27, 2011

Social media กำลังสร้าง "ข่าวหลากหลายจากฝูงชน" วันนี้ที่สลายขั้ว "ข่าวหมู่" ของวันวาน


บทบาทของเครื่องมือ social media เช่น Twitter และ Facebook กับ YouTube ในช่วงอภิมหาอุทกภัยในไทยแสดงตนอย่างโดดเด่นเหนือ "สื่อกระแสหลัก" เช่นทีวีหรือวิทยุและหนังสือพิมพ์อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในรูปแบบการรายงานข่าวแบบที่ผมเรียกว่า "สายธารต่อเนื่องแห่งข่าวสาร" และการเป็นศูนย์ประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วและประสิทธิภาพสูงยิ่ง

ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่าหากคนข่าวยุคใหม่ไม่รู้จักใช้ "เครือข่ายสื่อสังคม" เพื่อเสริมการทำหน้าที่ของตนเองอย่างคล่องแคล่วแล้ว, เขาและเธอก็จะกลายเป็น "อดีต" ไปจริง ๆ

เพราะทวิตเตอร์, เฟซบุ๊คและยูทูปได้กลายเป็นเครื่องมือของการสื่อสารจุดที่มีน้ำท่วม, ความช่วยเหลือที่ต้องการเร่งด่วน, การประสานงานเพื่อให้ผู้มีจิตอาสาเข้าถึงที่เหยื่อภัยพิบัติต้องการโดยที่เจ้าหน้าที่ทางการทำงานไม่ทัน...และการพบปะของผู้มีจิตอาสาที่แต่เดิมไม่เคยรู้จักกัน แต่เมื่อผ่าน social media แล้วสามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างกลไกการทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ประสบภัยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

ปีใหม่ที่จะถึงนี้จะยิ่งตอกย้ำความสำคัญของบทบาทของ social media ในการเป็นสื่อสำคัญสำหรับการสอดประสานระหว่างคนข่าวมืออาชีพ, นักข่าวพลเมือง, ผู้ติดตามข่าวสาร, และทุกแวดวงที่ได้กลายเป็น "ชุมชนแห่งข่าวสาร" ที่ต้องการแลกเปลี่ยนและเพิ่มค่าของข้อมูลและประสบการณ์ของตัวเองอย่างคึกคักและมีประสิทธิภาพยิ่ง

ตัวอย่างทำนองนี้ปรากฏในเวทีข่าวระหว่างประเทศอย่างจะแจ้งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่หน่วยรบมะกันบุกเข้าจับตัวโอซามา บิน ลาเดนหรือการลุกฮือประท้วงผู้นำประเทศในโลกอาหรับที่เกิดขึ้นในปีนี้ และทั้งนักข่าวอาชีพกับประชาชนทั่วไปได้ใช้ Twitter ในการรายงานข่าวอย่างปัจจุบันทันด่วน สด ๆ จากที่เกิดเหตุ และตรวจสอบข่าว (ข่าวจริงไล่ข่าวลือ)ซึ่งกันและกันอย่างจริงจังขึงขัง

การศึกษาวิจัยภายใต้หัวข้อ "The Revolutions Were Tweeted:Information Flows During the 2011 Tunisian and Egyptian Revolutions" ตีพิมพ์ใน International Journal of Communications วิเคราะห์ข้อความที่ทวีตจากทุกคนในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 12-19 มกราคมปีนี้ (ทั้งหมด 168,000 ทวีตที่มี #sidibouzid และ #tunisia)และอีกชุดหนึ่งทั้งหมด 230,000 ทวีตระหว่าง 24-29 มกราฯ ที่มี #egypt กับ #jan25 เพื่อพิเคราะห์ถึงความหลากหลายของผู้ส่งข้อความ และการไหลเทของข่าวจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการแยกแยะ "ตัวละคร" สำคัญที่แลกเปลี่ยนข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันขณะที่เดินขบวนและระหว่างปะทะกันของทหารกับผู้ประท้วงว่ามีใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็น activists, mainstream media outlets, individual journalists, bloggers, digerati, and celebrities...นั่นคือคนข่าวอาชีพ, บล็อกเกอร์, แอกติวิสท์, และเซเลบฯทั้งหลายต่างก็หลอมรวมกันใน social media เพื่อการรายงานข่าวและความเห็นโดยไม่มีกำแพงขวางกั้นอีกต่อไป

ถึงจุดที่สื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นทีวี, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซท์ทั้งหลายต้องเกาะติดกับข้อความที่ทวิตกันวินาทีต่อวินาทีเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เพราะลำพังเฉพาะนักข่าวและช่างภาพของสื่อกระแสหลักที่ส่งไปทำข่าว ณ ที่เกิดเหตุนั้นไม่อาจจะเก็บข้อมูลและความเคลื่อนไหวได้ทันกระแสข่าวที่ไหลเทอย่างท่วมท้นใน Twitter, Facebook และ YouTube ได้เลย

ผลวิจัยนั้นบอกว่าในช่วงเวลานั้นทวิตเตอร์ได้ทำหน้าที่เป็น "crowdsourced newswire" หรือ "สำนักข่าวด่วนแห่งฝูงชน" ไปเสียแล้ว

ผลวิจัยเรื่องนี้สรุปว่านี่คือ "การปรับเปลี่ยนจากยุค broadcast mass media หรือสื่อกระจายภาพและเสียงไปเป็น เครือข่ายสื่อดิจิตัลเชื่อมโยงที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการไหลเทของข้อมูลและลักษณะการทำงานด้านข่าวโดยสิ้นเชิง ในจังหวะที่เกิดเหตุการณ์โลกที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนเช่นกรณีการลุกฮือที่ตูนีเซียและอีจิปย์"

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมทำให้ "งานข่าว" มีความ "อลหม่าน" (chaotic) มากขึ้นกว่าเดิม เพราะการรายงานผ่านทวิตเตอร์จากคนจำนวนมากวินาทีต่อวินาทีเช่นนี้ย่อมมีเสียงเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เสียง...แทนที่จะเป็นเสียงจากคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มีเครื่องมือในการรายงานข่าวอย่างที่เคยเป็นมาก่อนในอดีต

งานวิจัยนี้บอกด้วยว่าถ้อยคำข่าวที่นักข่าวอาชีพทวีตนั้นมักจะได้รับการ retweet จากคนในแวดวงทวิตเตอร์มากกว่าแหล่งอื่นเช่นแหล่งข่าวทางการเพราะความแตกต่างอย่างชัดเจนของความน่าเชื่อถือ

ผู้วิจัยบอกด้วยว่าสื่อกระแสหลักก็ยังมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวออกไปในภาวะเหตุการณ์ร้อน ๆ เช่นนี้ แต่ขณะเดียวกันบล็อกเกอร์และแอกติวิสท์ที่ส่งข่าวสารผ่าน social media ก็เป็นช่องทางของการรายงานข่าวที่มีความคึกคักไม่น้อยเช่นกัน

ที่ผมสนใจประเด็นวิเคราะห์ของงานวิจัยเรื่องนี้ที่สุดคือการเปรียบเทียบระหว่างการทำ "ข่าวหมู่" (pack journalism) ของคนข่าวกระแสหลัก กับ "ปัญญาฝูงชน"ในรูปของ "นักข่าวพลเมือง" (citizen journalism) ที่มีความหลากหลายของแง่มุมข่าวมากกว่า

"ข่าวหมู่" ของนักข่าวในอดีตที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันหรือการที่นักข่าวในแต่ละสายข่าวลอกเนื้อหาของข่าวกันและกันขณะที่ "นักข่าวพลเรือน" แยกกันทำจากมุมของตนเองด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี

การก่อเกิดของ social media ที่เอื้อให้เกิด citizen journalism อย่างกว้างขวางกำลังจะทำให้วิธีการทำงานแบบเก่าของกระแสเดิมมีอันต้องล่มสลายอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะเราหนีไม่พ้นสัจธรรมที่ว่า ยิ่งมีคนทำข่าวมาก, คุณภาพข่าวย่อมต้องยิ่งดีขึ้น...และท่ามกลาง "ความอลหม่าน" ของ "สำนักข่าวฝูงชน" นั้น, ข่าวจริงอันเกิดจากการตรวจสอบของผู้คนจำนวนมากก็จะขจัดข่าวปล่อยและข่าวลือไปตามธรรมชาติเอง

Tuesday, December 20, 2011

ห้องข่าวใหม่, ห้องข่าวเก่า


มองข้ามไปปีใหม่..ผมเห็นช่องว่างระหว่าง "ห้องข่าววันนี้" กับ "ห้องข่าวอนาคต" ที่กว้างขึ้นอย่างเป็นได้ชัด

ห้องข่าวของสื่อที่ตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากโลกดิจิตัลจะเน้น "การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ" ขณะที่ห้องข่าวแบบเก่าจะยังคิดและทำประหนึ่งจะกลัวการสูญเสียอะไรบางอย่างที่ต้องปกป้องสุดชีวิต

ห้องข่าวบางแห่งแม้จะพูดถึงเรื่องดิจิตัลและการก้าวเข้าสู่การทำงานแบบใหม่, แต่วิธีคิด, แนวทางปฏิบัติและขั้นตอนในกระบวนการทำงานข่าวก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ดั่งที่มีการกล่าวเปรียบเปรยกันเสมอว่า "ยิ่ง (ทำเหมือน) เปลี่ยน, ยิ่งเหมือนเดิม" (คำในวงเล็บ, ผมใส่เอง)

ปีใหม่นี้เราจะเห็นปรากฏการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ก้าวเข้าสู่การทำทีวีดาวเทียมคึกคักขึ้น, หรือไม่ก็เป็นการทำ "เว็บทีวี" อ่านอินเตอร์เน็ท ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำความตระหนักว่าสื่อเก่ามิอาจจะทานกระแสของความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคข่าวที่สามารถรับรู้ข่าวสารและข้อมูลสารพัดจากแหล่งดิจิตัลอย่างคล่องแคล่ว ดังนั้น หากคนทำสื่อเองต้องการจะตอบสนองความต้องการของผู้เสพข่าวจริง, ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องปรับแนวคิดและวิธีการทำงานอย่างแข็งขัน

หัวหน้าข่าวที่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องเจอกับคนข่าวรุ่นใหม่ที่มีความคล่องแคล่วกับการใช้อุปกรณ์ทำข่าวดิจิตัลสารพัดก็จะเกิดอาการต่อต้าน หรือไม่ก็ปฏิเสธที่จะรับรู้คลื่นลูกใหม่ที่ถาโถมเข้ามา

ระดับนำในห้องข่าวที่พร้อมจะเรียนรู้ปรับตัวและเข้าใจการทำงานของ social media เพื่อเสริมงานด้านข่าวและสร้างเครือข่ายแห่งข่าวสารก็จะสามารถดำรงความเป็นผู้นำอยู่ได้ หาไม่แล้ว, พวกเขาก็จะต้องหลบมุมไปอยู่ซอกหนึ่งของห้องข่าวขณะที่คนข่าวรุ่นใหม่สามารถทำข่าวระหว่างเคลื่อนไหวไปตามจุดที่มีเหตุการณ์ได้อย่างไม่ยี่หระต่อรูปแบบการทำงานแบบก่อนเก่า

การปรับตัวที่ได้ผลในห้องข่าวย่อมหมายถึงการที่คนข่าวรุ่นก่อนใช้ประสบการณ์และความลุ่มลึกถ่ายทอดให้คนข่าวรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เพื่อเสริมความเร็วแห่งยุคดิจิตัล ขณะที่ตัวเองก็พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้าใจและรู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานของตนให้มีคุณภาพ, ความเร็ว, ความกว้าง, และความลึกไปพร้อม ๆ กัน

ห้องข่าวไหนปรับตัวได้ทัน,คนข่าวไหนที่ตระหนักในจังหวะของการปฏิวัติแห่งแวดวงข่าวสาร...ย่อมแปลว่าพวกเขาและเธอเห็น "อนาคตแห่งข่าว" ได้จะแจ้ง

ห้องข่าวใดยังยึกยักระหว่างเก่ากับใหม่, ระหว่างความกลัวกับความกล้าทดลอง, ระหว่างความเร็วกับความลึก, ห้องข่าวนั้นยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายเพลานัก

Saturday, December 17, 2011

เราต้องสร้าง 'นักเขียนความเรียง' (essayist) พร้อมกับ 'นักข่าวภาคสนาม'


การจากไปของนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, พิธีกรทีวี และนักโต้วาทีอย่าง Christopher Hitchens วัย 62 เป็นที่กล่าวขวัญถึงในแวดวงสื่อของสหรัฐฯและอังกฤษไม่น้อย ...แม้ว่าคนที่เขียนไว้อาลัยเขาจำนวนหนึ่งจะยอมรับว่าไม่ชอบนายคนนี้เพราะนิสัยก้าวร้าว, พูดจากรรโชก, และถกเถียงอย่างดุเดือดเลือดพล่านเสมอ

ผมอ่านเขาใน "God is Not Great" ในฐานะที่เขาไม่เคยเชื่อในเรื่องพระเจ้าจนถึงวินาทีสุดท้ายของการต่อสู่กับมะเร็งที่กล่องเสียง และได้ผ่านผลงานเขียนของเขาใน Vanity Fair บ่อยครั้ง

จะชอบเขาหรือไม่ จะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ (เขาแปรสภาพนักคิดนักเขียนจากซ้ายสุดมาอยู่ขวาสุดขอบได้อย่างไม่รู้สึกขวยเขิน) แต่ทุกคนที่เขียนเกี่ยวกับเขาเมื่อเขาจากไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาฯที่ผ่านมายอมรับตรงกันอย่างหนึ่งว่า

เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ประเภท essayist ที่หาตัวจับยากยิ่งในอเมริกา (เขาเกิดที่อังกฤษแต่ไปมีอาชีพสื่อที่วอชิงตัน) ด้วยภาษาราบรื่น, แหลมคม, และสามารถโต้เถียงประเด็นการเมือง, สังคมและเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่งยิ่ง

ฮิทเช่นส์ (หนังสือเล่มนี้คือการเขียนถึงชีวประวัติของตัวเองที่หนักไปทางเหล้าและบุหรี่กับความเป็นเลิศด้านภาษาและตรรกะการเมืองที่ชวนทุกคนถกแถลงได้ทุกหัวข้อ) เป็น "นักเขียนความเรียง" หรือ essayist ที่ผมคิดว่าเป็นคนทำสื่อพันธุ์ที่หายากขึ้นทุกวัน

แต่การเป็น "นักเขียนความเรียง" ที่ใช้ภาษาสละสลวย, แม่นยำ, แหลมคม, ท้าทายและเรียงลำดับความคิดพร้อมเหตุผลของตนอย่างน่าอ่านและสื่อความหมายได้อย่างมีความหมายนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะในยุคของสื่อดิจิตัลที่มองผิวเผินแล้วต้องการความเร็วและความสั้นมากกว่าความลุ่มลึกและความแหลมคมแห่งภาษา

ผมกลับเห็นว่าอนาคตของข่าวจะยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมในอนาคตไม่ได้เลยหากเราไม่ฝึกฝนคนข่าวรุ่นใหม่ที่เข้าไปสัมผัสกับ social media อย่างคึกคักให้สามารถเป็น essayist ไปด้วยอย่างจริงจังและมุ่งมั่น

เพราะหากเรามีแต่เพียง digital reporter และขาด essayist แล้วไซร้, การทำหน้าที่ในฐานะ "ผู้สื่อสารเพื่อความหลากหลายทางความคิดของสังคม" ก็จะไม่สมบูรณ์ และจะขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสื่อความหมาย

นั่นคือการใช้ภาษาที่มีศิลป์เพื่อเสนอข่าวและความเห็นที่ลึก เน้นเหตุและผล แทนที่จะมุ่งหาความเร็วและความสั้นแต่เพียงอย่างเดียว

อนาคตของข่าวจึงต้องการ "นักเขียนความเรียง" ไปพร้อม ๆ กับ "นักข่าวภาคสนาม" ที่ทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างรวดเร็วฉับพลันขณะที่พยายามจะเรียงร้อยความเป็นไปที่สืบเสาะได้อย่างรอบด้าน,ลึก, และชัดเจน

Tuesday, December 13, 2011

กฎหมายถือว่า blogger เป็น journalist หรือไม่?


คนเขียนบล็อก (blogger) ถือว่าเป็นคนทำสื่ออาชีพ (journalist) หรือไม่?

ประเด็นนี้่ถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้ว แต่วันก่อนศาลที่เมืองพอร์ทแลนด์ของสหรัฐฯตัดสินคดีหนึ่ง ฟันธงว่าคนเขียนบล็อกในอินเตอร์เน็ทไม่ได้รับการปกป้องตามกฎหมายว่าด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคนอื่นเหมือนสื่อสารมวลชนอาชีพ

พูดง่าย ๆ คือหากตีความตามคำพิพากษานี้ blogger หาใช่ journalist ไม่

ซึ่งย่อมทำให้การถกเถียงกันในหัวข้อนี้ร้อนแรงต่อไปเพราะในหลายกรณี ผมเชื่อว่าคนเขียนบล็อกก็ทำหน้าที่่เป็นสื่อมวลชนอย่างเต็มรูปแบบ และบางคนทำได้ดีกว่าคนทำสื่ออาชีพด้วยซ้ำ แต่นั่นย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของแต่ละคนในแต่ละกรณี ไม่อาจจะระบุเป็นข้อสรุปตายตัวได้

หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ journalist เป็น blogger แต่ blogger ไม่ใช่ journalist เสมอไป

คดีที่ผมยกมาเล่านี้เกิดที่เมืองพอร์ทแลนด์ของสหรัฐฯ คนเขียนบล็อกชื่อ Crystal Cox ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนที่ทำข่าวประเภทสืบสวนสอบสวน เปิดโปงเรื่องราวในบริษัทลงทุนการเงินแห่งหนึ่งที่ชื่อ Obsidian Finance Group

เธอเขียนบทความหลายเรื่องต่อเนื่องกันในบล็อกของเธอที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งของบริษัทนี้ชื่อ Kevin Padrick ซึ่งฟ้องหมิ่นประมาทเธอในศาลโดยอ้างว่าความเสียหายที่บทความในบล็อกของเธอนั้น "จะติดอยู่กับผมตลอดไป เพราะอะไรที่เกิดในอินเตอร์เน็ทไม่สามารถจะแก้ไขให้หายไปได้."

ผู้พิพากษา Marco A. Hernandez มีคำวินิจฉัยว่าคนเขียนบล็อกไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายว่าด้วยสื่อเพราะเธอไม่ได้สังกัด"หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, รายคาบ,หนังสือ, ใบประกาศ, สำนักข่าว, บริการข่าว, หรือเครือข่ายข่าวหรือสารคดี, สถานีวิทย, สถานีโทรทัศน์" ใด ๆ

ผู้พิพากษาตัดสินว่าที่เธอเรียกตัวเองว่าเป็น "สื่อมวลชน" นั้นฟังไม่ขึ้นตามการตีความตัวบทกฎหมายของศาล

และเสริมว่าแม้ว่าเธอจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสำหรับสื่อฉบับดังกล่าว, ศาลก็จะไม่ถือว่าเข้าข่ายอยู่ดีเพราะนี่เป็นคดีว่าด้วยการหมิ่นประมาททางแแพ่ง

นี่คือตัวอย่างของความแตกต่างระหว่างกฎหมายเดิมกับอินเตอร์เน็ทที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

ในอเมริกา, มีรัฐอยู่ประมาณ 40 รัฐที่มี "กฎหมายคุ้มครอง" สำหรับสื่อ แต่หลายรัฐก็ได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้คำว่า "สื่อ" รวมหมายถึงสื่อรูปแบบใหม่เช่นบล็อกเป็นต้น แต่อีกหลายรัฐก็ยังไม่มีการแก้ไขกฎกติกาเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตัล

กฎหมายไทยยังต้องสังคยนากันอีกมากหากจะให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเทคโนโลยีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซท์, บล็อก, และโดยเฉพาะ social media อย่างเฟสบุ๊ก, ทวิตเตอร์และยูทูป

ยังต้องถกเถียง, แลกเปลี่ยน, ปรับวิธีคิด, ให้ความรู้, และเรียนรู้กันทุก ๆ ฝ่ายในสังคมจึงจะปรับเปลี่ยนกฎ, กติกา, มารยาทให้เกิดประโยชน์สูงสุดแด่สังคมโดยส่วนรวม

Saturday, December 10, 2011

Newsmotion...ผสานความฉับพลันและต่อเนื่องของข่าว


กลุ่มคนข่าวที่รวมตัวกันเพื่อประสานความพยายามในการทำข่าวระหว่างประเทศที่ร้อนแรงให้สอดประสานระหว่าง "ศิลป์กับเครือข่ายข่าวและนักข่าวอาชีพ" เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพระดับสูงในยุคดิจิตัลเรียกตัวเองว่า Newsmotion.org

การรวมตัวของคนข่าวเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการรายงานข่าวการปฏิวัติของอีจิปย์ในปีนี้

ประเด็นที่ท้าทายคนทำข่าวระหว่างประเทศที่ระเบิดขึ้นมาต่อหน้าต่อตาเช่นการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือ...จะผสมผสานความเร็วกับความลึกอย่างไร? จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและสามารถทำให้เรื่องราวนั้นอยู่ในความสนใจของทั้งคนทำข่าวและผู้บริโภคข่าวอย่างไร?

หรืออย่างที่เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า "The moment versus the long run."

คนข่าวกลุ่มนี้จึงรวมตัวกันเพื่อให้ "ความฉับพลัน" กับ "ความต่อเนื่อง" (immediacy and continuity) เป็นเป้าหมายของการทำงานให้บรรลุภารกิจของคนข่าวมืออาชีพ

โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษให้กับประเด็นความเป็นธรรมในสังคมและสิทธิมนุษยชน และจับหัวข้อข่าวที่เกี่ยวกับการฆ่าหมู่, เศรษฐกิจตลาดมืด,หรือแม้แต่เรื่องการมีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอสำหรับชาวบ้านในแถบกันดารอย่างไรหรือไม่

เรียกว่าจะให้ความสนใจกับทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็กที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ทุกชุมชน

คนข่าวกลุ่มนี้ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านข่าวและวิเคราะห์ความเป็นไปด้านสื่อ และหลายคนได้รับรางวัลด้านการเจาะข่าวที่โดดเด่นมาแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น Julian Rubinstein ซึ่งเป็นทั้งนักข่าว, นักเขียน, โปรดิวเซอร์,และอาจารย์
หรือ Elizabeth Rubin นักข่าวสงคราม
หรือ Natalie Jeremijenko ศิลปิน, วิศวกร, อาจารย์มหาวิทยาลัย และคนอื่น ๆ
รวมถึงที่ปรึกษาโครงการเปิดเว็บไซท์นี้เช่น Todd Gitlin กับ Dale Maharidge ซึ่งเป็นทั้งคนข่าวและอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนอย่างโชกโชนมาแล้วทั้งสิ้น

หลักการทำงานที่ผมคิดว่าสะท้อนแนวทางของ "อนาคตแห่งข่าว" จริง ๆ คือการประกาศว่าพวกเขาจะผลักดันให้แวดวงทำข่าวระหว่างประเทศเป็นเรื่องของการ "เล่าเรื่องที่มีคุณภาพและเน้นเรื่องราวที่มีความสำคัญ"

การรวมตัวเพื่อยกระดับของการรายงานข่าวระหว่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้นทุกวันนี้เพราะสื่อสำคัญ ๆ ในโลกตะวันตกที่ได้รับแรงกดดันจากรายได้โฆษณาที่หดหายได้เริ่มลดจำนวนนักข่าวต่างประเทศลงอย่างต่อเนื่อง จนสร้างความวิตกว่าคุณภาพของข่าวจากทั่วทุกมุมโลกนั้นจะลดน้อยถอยลงทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ

บรรดาคนข่าวและนักสอนหนังสือด้านนี้จึงเห็นความสำคัญในอันที่จะรวมตัวกันเพื่อยกระดับการทำข่าวในประชาคมโลกไม่ให้หล่นหายไปจากความสนใจของชาวโลก

ยิ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงรุนแรงและกว้างขวางในทุกมุมของโลกเช่นนี้ ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องปรับมาตรฐานกันตลอดเวลา

เพื่อจับ "สัญญาณ" จาก "เสียงโหวกเหวก" ให้ชัดเจนและแจ่มแจ้งสำหรับผู้บริโภคข่าวที่วันนี้มีปริมาณของข่าวที่ไหลเทอย่างเอ่อท่วม แต่ขาดการวิเคราะห์และตีความหลากหลายรอบด้านอย่างน่ากลัวยิ่ง

Thursday, December 8, 2011

Tweet seats เป็นอีกด้านหนึ่งของอนาคตของข่าว


ผมรู้ว่าวันหนึ่งมันจะต้องเกิดขึ้น...นั่นคือคุณสามารถทวีตเนื้อหาที่คุณกำลังสัมผัสอยู่ระหว่างดูหนังดูละครสด ๆ ได้....ถือเป็นวิวัฒนาการสื่อในยุค social media ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคดิจิตัลอย่างแท้จริง

ผมได้ข่าวว่าโรงละครบางแห่งในอเมริกาต้องการจะเอาใจ "พวกเป็นโรคติดสมาร์ทโฟน" (ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก) ด้วยการเปิดให้มี "ที่สั่งสำหรับคนทวีต" (tweet seats) ซึ่งจัดไว้ให้เฉพาะคนที่ต้องการดูละครหรือดูหนังไป ส่งความเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือเล่าเรื่องผ่านทวีตออกไปพร้อม ๆ กัน

เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคนดู และคนที่ไม่ได้ดูอยู่ในขณะนั้นเพื่อให้เกิดความบันเทิงและความรู้ในรูปแบบใหม่ที่สด, ร้อน, และเกิดขึ้นแบบ real time อย่างแท้จริง

แน่นอนว่าคนที่จะทวีตระหว่างดูหนังและละครจะต้องแยกออกไปอยู่อีกส่วนหนึ่งของโรง เพราะต้องเคารพในสิทธิ์ของคนอื่นที่ต้องการนั่งดูเพื่อความบันเทิงโดยไม่ต้องการส่งข้อความอะไรให้กับใครทั้งสิ้น ดังนั้น ส่วนที่นั่งของ "tweet seats" ก็คงจะต้องแยกไปไว้ข้างหลังเฉพาะตัว ไม่รบกวนคนอื่นที่มีรสนิยมเป็นอีกอย่างหน่ึง

ซึ่งแปลว่าอนาคตของการสื่อสารระหว่างกันในสังคมนั้นจะไม่ใช่เพียงแต่การส่งข่าวร้อนแรงที่เป็น breaking news ผ่าน social media เท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงข่าวบันเทิงเริงรมย์และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่งผู้ร่วมรสนิยมอีกด้วย

Friday, December 2, 2011

ฤาจะมีรางวัลข่าว Pultizer สำหรับคนรายงานข่าวร้อนผ่าน Twitter ในไม่ช้า?


พอคณะกรรมการตัดสินรางวัลพูลิทเซอร์ของสหรัฐฯประกาศเปลี่ยนกติกาการเสนอชิงรางวัล ให้ทุกคนต้องส่งเป็นรูปแบบดิจิตัลแทนที่จะเป็นกระดาษเป็นปึก ๆ ก็มีการคาดการณ์กันในหมู่คนข่าวยุคนี้ว่า "อย่างนี้แปลว่าคนใช้ Twitter ก็อาจจะได้รับรางวัลนี้เหมือนกันใช่ไหม?"

เพราะรางวัลพูลิทเซอร์มีประเภท "breaking news" ด้วย, ยิ่งทำให้คนเล่นทวิตเตอร์เห็นโอกาสทองที่ชาวทวิภพจะเรียกร้องสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาด้วยอย่างน่าตื่นเต้นทีเดียว

Justin Ellis เขียนใน Nieman Journalism Lab ล่าสุดว่ากติกาใหม่ของคณะกรรมการตัดสินรางวัลของสื่อสารมวลชนที่มีเกียรติที่สุดในวงการสื่อสหรัฐฯนั้นบอกด้วยว่าในการตัดสินรางวัลประเภท "breakin news" ในปีใหม่นั้นจะให้ความสำคัญกับ "real time news" ซึ่งหมายถึงการที่ใครจะสามารถรายงานข่าวร้อนขณะที่เกิดขึ้นวินาทีต่อวินาที

ซึ่งย่อมหมายถึงการรายงานข่าวที่เกิดขึ้นกระทันหันผ่าน blogs, streaming video หรือ Twitter

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือการรายงานข่าวสด ๆ ที่เกิดขึ้นฉับพลันนั้นไม่ใช่เป็นการผูกขาดของทีวีและวิทยุอย่างที่เป็นมาตลอดอีกต่อไป

ทำให้ผมคิดถึงสถาบันสื่อหลายแห่งที่มอบรางวัลประจำปีให้กับการรายงานข่าวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้คนทำสื่อสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีคุณภาพดีเลิศและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

น่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับรางวัลสำหรับคนทำข่าวที่ใช้ social media เพื่อทำหน้าที่รายงาน, วิเคราะห์, ขุดคุ้ย, สร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคมอย่างโดดเด่นและประเมินผลได้ชัดเจน

โลกของสื่อเปลี่ยน, สังคมของการรับรู้และบริโภคข่าวสารก็ปรับตัวอย่างชัดเจนเช่นกัน...รางวัลสำหรับคนทำดีทำประโยชน์ในสื่อเครือข่ายสังคมจึงควรจะได้รับการทบทวนพร้อม ๆ กันไปด้วย

Thursday, December 1, 2011

ไทม์ก็มี 'โรงเรียนสอนสื่อ" ของตัวเอง


แอบเปิลมีมหาวิทยาลัยภายในของตัวเอง แมคโดเนิลก็มีโรงเรียนสอนผู้บริหารเฉพาะกิจ ตอนนี้ Time Inc เจ้าของนิตยสารไทม์และสื่ออื่น ๆ ก็มี "วิทยาลัยสื่อ" หรือ Journalism School ของตัวเองเช่นกัน

"โรงเรียน" ของไทม์เน้นการสอนคนข่าวที่ใช้จริงในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นวิธีเขียนข่าวหรือศิลปะแห่งการสัมภาษณ์ ตลอดไปถึงวิธีเล่าวข่าวผ่านวีดีโอคลิบ

และที่พลาดไม่ได้ในโลกสื่อดิจิตัลวันนี้คือการสอนให้คนข่าวทำข่าวที่ส่งผ่านมือถือไปถึงผู้บริโภคข่าวให้ทันท่วงทีและมีคุณภาพได้มาตรฐานอันควร

โรงเรียนสื่อสารมวลชนของไทม์มีทั้งหมดกว่า 150 วิชา มีหัวข้อสอนที่น่าสนใจมากเช่น

"10 Things You Need to Know to Run a Digital Business."
"The Beginner's Guide to Mobile."
"How to Get the Most Out of Breaking News Online."
เป็นต้น

วิชาทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นการสอนครั้งละหนึ่งวันเต็ม และครูที่สอนก็คือคนข่าวที่มีประสบการณ์ในองค์กรเอง อีกทั้งห้องเรียนก็คือสำนักงานใหญ่ของไทม์ อิงค์ที่นิวยอร์คนั้นเอง

ไม่ต่างอะไรกับแนวคิด "ห้องเรียนติดกับห้องข่าว" ของ Nation University ต่างกันเพียงว่า "มหาวิทยาลัยเนชั่น" นั้นหลักสูตรเป็นปริญญา, แต่ของ Time Inc เป็นวิชาเฉพาะกิจที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะและความเข้าใจของคนข่าวทั้งในองค์กรและข้างนอกเพื่อยกระดับความสามารถของคนข่าวในยุคที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเร้าร้อนและรุนแรง

ที่ Pixar University เขาสอนการสร้างหนังทุกขั้นตอน รวมไปถึงวิชาวาดรูปกับเขียนนิยายและเรื่องสั้น ส่วน Apple University นั้นต้องการสอนระดับผู้บริหารที่จะเป็นนักนวัตกรรมและสร้างสรรค์เหมือนสตีฟ จ็อบส์

เป็นข้อพิสูจน์ว่าการเรียนรู้ในแวดวงสื่อสารมวลชนยุคดิจิตัลนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ไม่ว่าในวัยใดหรืออยู่ในขั้นตอนของการทำงานช่วงใด

เพราะหากไม่เรียนรู้ทักษะและหลักคิดใหม่ ๆ, ก็ไม่อาจจะตามทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน