Tuesday, December 27, 2011

Social media กำลังสร้าง "ข่าวหลากหลายจากฝูงชน" วันนี้ที่สลายขั้ว "ข่าวหมู่" ของวันวาน


บทบาทของเครื่องมือ social media เช่น Twitter และ Facebook กับ YouTube ในช่วงอภิมหาอุทกภัยในไทยแสดงตนอย่างโดดเด่นเหนือ "สื่อกระแสหลัก" เช่นทีวีหรือวิทยุและหนังสือพิมพ์อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในรูปแบบการรายงานข่าวแบบที่ผมเรียกว่า "สายธารต่อเนื่องแห่งข่าวสาร" และการเป็นศูนย์ประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วและประสิทธิภาพสูงยิ่ง

ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปว่าหากคนข่าวยุคใหม่ไม่รู้จักใช้ "เครือข่ายสื่อสังคม" เพื่อเสริมการทำหน้าที่ของตนเองอย่างคล่องแคล่วแล้ว, เขาและเธอก็จะกลายเป็น "อดีต" ไปจริง ๆ

เพราะทวิตเตอร์, เฟซบุ๊คและยูทูปได้กลายเป็นเครื่องมือของการสื่อสารจุดที่มีน้ำท่วม, ความช่วยเหลือที่ต้องการเร่งด่วน, การประสานงานเพื่อให้ผู้มีจิตอาสาเข้าถึงที่เหยื่อภัยพิบัติต้องการโดยที่เจ้าหน้าที่ทางการทำงานไม่ทัน...และการพบปะของผู้มีจิตอาสาที่แต่เดิมไม่เคยรู้จักกัน แต่เมื่อผ่าน social media แล้วสามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างกลไกการทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ประสบภัยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

ปีใหม่ที่จะถึงนี้จะยิ่งตอกย้ำความสำคัญของบทบาทของ social media ในการเป็นสื่อสำคัญสำหรับการสอดประสานระหว่างคนข่าวมืออาชีพ, นักข่าวพลเมือง, ผู้ติดตามข่าวสาร, และทุกแวดวงที่ได้กลายเป็น "ชุมชนแห่งข่าวสาร" ที่ต้องการแลกเปลี่ยนและเพิ่มค่าของข้อมูลและประสบการณ์ของตัวเองอย่างคึกคักและมีประสิทธิภาพยิ่ง

ตัวอย่างทำนองนี้ปรากฏในเวทีข่าวระหว่างประเทศอย่างจะแจ้งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่หน่วยรบมะกันบุกเข้าจับตัวโอซามา บิน ลาเดนหรือการลุกฮือประท้วงผู้นำประเทศในโลกอาหรับที่เกิดขึ้นในปีนี้ และทั้งนักข่าวอาชีพกับประชาชนทั่วไปได้ใช้ Twitter ในการรายงานข่าวอย่างปัจจุบันทันด่วน สด ๆ จากที่เกิดเหตุ และตรวจสอบข่าว (ข่าวจริงไล่ข่าวลือ)ซึ่งกันและกันอย่างจริงจังขึงขัง

การศึกษาวิจัยภายใต้หัวข้อ "The Revolutions Were Tweeted:Information Flows During the 2011 Tunisian and Egyptian Revolutions" ตีพิมพ์ใน International Journal of Communications วิเคราะห์ข้อความที่ทวีตจากทุกคนในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 12-19 มกราคมปีนี้ (ทั้งหมด 168,000 ทวีตที่มี #sidibouzid และ #tunisia)และอีกชุดหนึ่งทั้งหมด 230,000 ทวีตระหว่าง 24-29 มกราฯ ที่มี #egypt กับ #jan25 เพื่อพิเคราะห์ถึงความหลากหลายของผู้ส่งข้อความ และการไหลเทของข่าวจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการแยกแยะ "ตัวละคร" สำคัญที่แลกเปลี่ยนข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันขณะที่เดินขบวนและระหว่างปะทะกันของทหารกับผู้ประท้วงว่ามีใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็น activists, mainstream media outlets, individual journalists, bloggers, digerati, and celebrities...นั่นคือคนข่าวอาชีพ, บล็อกเกอร์, แอกติวิสท์, และเซเลบฯทั้งหลายต่างก็หลอมรวมกันใน social media เพื่อการรายงานข่าวและความเห็นโดยไม่มีกำแพงขวางกั้นอีกต่อไป

ถึงจุดที่สื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นทีวี, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซท์ทั้งหลายต้องเกาะติดกับข้อความที่ทวิตกันวินาทีต่อวินาทีเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เพราะลำพังเฉพาะนักข่าวและช่างภาพของสื่อกระแสหลักที่ส่งไปทำข่าว ณ ที่เกิดเหตุนั้นไม่อาจจะเก็บข้อมูลและความเคลื่อนไหวได้ทันกระแสข่าวที่ไหลเทอย่างท่วมท้นใน Twitter, Facebook และ YouTube ได้เลย

ผลวิจัยนั้นบอกว่าในช่วงเวลานั้นทวิตเตอร์ได้ทำหน้าที่เป็น "crowdsourced newswire" หรือ "สำนักข่าวด่วนแห่งฝูงชน" ไปเสียแล้ว

ผลวิจัยเรื่องนี้สรุปว่านี่คือ "การปรับเปลี่ยนจากยุค broadcast mass media หรือสื่อกระจายภาพและเสียงไปเป็น เครือข่ายสื่อดิจิตัลเชื่อมโยงที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการไหลเทของข้อมูลและลักษณะการทำงานด้านข่าวโดยสิ้นเชิง ในจังหวะที่เกิดเหตุการณ์โลกที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนเช่นกรณีการลุกฮือที่ตูนีเซียและอีจิปย์"

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมทำให้ "งานข่าว" มีความ "อลหม่าน" (chaotic) มากขึ้นกว่าเดิม เพราะการรายงานผ่านทวิตเตอร์จากคนจำนวนมากวินาทีต่อวินาทีเช่นนี้ย่อมมีเสียงเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เสียง...แทนที่จะเป็นเสียงจากคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มีเครื่องมือในการรายงานข่าวอย่างที่เคยเป็นมาก่อนในอดีต

งานวิจัยนี้บอกด้วยว่าถ้อยคำข่าวที่นักข่าวอาชีพทวีตนั้นมักจะได้รับการ retweet จากคนในแวดวงทวิตเตอร์มากกว่าแหล่งอื่นเช่นแหล่งข่าวทางการเพราะความแตกต่างอย่างชัดเจนของความน่าเชื่อถือ

ผู้วิจัยบอกด้วยว่าสื่อกระแสหลักก็ยังมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวออกไปในภาวะเหตุการณ์ร้อน ๆ เช่นนี้ แต่ขณะเดียวกันบล็อกเกอร์และแอกติวิสท์ที่ส่งข่าวสารผ่าน social media ก็เป็นช่องทางของการรายงานข่าวที่มีความคึกคักไม่น้อยเช่นกัน

ที่ผมสนใจประเด็นวิเคราะห์ของงานวิจัยเรื่องนี้ที่สุดคือการเปรียบเทียบระหว่างการทำ "ข่าวหมู่" (pack journalism) ของคนข่าวกระแสหลัก กับ "ปัญญาฝูงชน"ในรูปของ "นักข่าวพลเมือง" (citizen journalism) ที่มีความหลากหลายของแง่มุมข่าวมากกว่า

"ข่าวหมู่" ของนักข่าวในอดีตที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันหรือการที่นักข่าวในแต่ละสายข่าวลอกเนื้อหาของข่าวกันและกันขณะที่ "นักข่าวพลเรือน" แยกกันทำจากมุมของตนเองด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี

การก่อเกิดของ social media ที่เอื้อให้เกิด citizen journalism อย่างกว้างขวางกำลังจะทำให้วิธีการทำงานแบบเก่าของกระแสเดิมมีอันต้องล่มสลายอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะเราหนีไม่พ้นสัจธรรมที่ว่า ยิ่งมีคนทำข่าวมาก, คุณภาพข่าวย่อมต้องยิ่งดีขึ้น...และท่ามกลาง "ความอลหม่าน" ของ "สำนักข่าวฝูงชน" นั้น, ข่าวจริงอันเกิดจากการตรวจสอบของผู้คนจำนวนมากก็จะขจัดข่าวปล่อยและข่าวลือไปตามธรรมชาติเอง

No comments: