Friday, October 28, 2011

คนข่าว, ภัยพิบัติ และ Social Media


บทบาทของ social media ในช่วงมหาอุทกภัยเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และคนข่าวที่รู้จักใช้ทวิตเตอร์, เฟสบุ๊คและยูทูปเพื่อการสื่อสารกับสาธารณชนย่อมได้เปรียบนักข่าวที่ยังติดยึดอยู่กับสื่อกระแสหลักในอดีต

ความเป็น citizen journalism ของสื่อ social network ในช่วงนี้ยิ่งได้รับการตอกย้ำว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าในยามปกติ เพราะสื่อในนิยามปกติไม่อาจจะกระจายตัวเพื่อทำหน้าที่รายงานข่าวได้ครอบคลุมเพียงพอในภาวะที่ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีผู้คนที่ได้รับผลกระทบกว่าสิบล้านคน, ในมิติที่แตกต่าง,และด้วยอารมณ์ที่ร้อนแรง

ที่สำคัญกว่าเพียงแค่การรายงานข่าว คือการที่ social media ถูกใช้เป็นสื่อกลางของการส่งสารเพื่อขอความช่วยเหลือที่เร่งด่วนเฉพาะหน้า และการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นจะต้องติดต่อถึงกันอย่างกระทันหัน ที่ไม่ว่าทีวี, วิทยุหรือหนังสือพิมพ์ก็ไม่อาจจะตอบสนองได้

การก่อเกิดของ "ผู้มีจิตอาสา" ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจุดต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐไปไม่ถึงนั้นก็มาจากการใช้สื่อสังคมที่สามารถแก้ปัญหาหลาย ๆ ด้านได้ฉับพลันทันที

เฉพาะในเครือเนชั่นเอง คนข่าวเกือบ 300 ชีวิตที่ใช้ทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คเพื่อรายงานข่าวจากทุกมุมของเหตุการณ์ ที่ทำหน้าทีเป็นผู้ประสานให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือได้เข้าถึงผู้เสนอความช่วยเหลือนั้นได้เห็นจำนวนผู้เข้ามาเป็น "followers" เพิ่มขึ้นอย่างคึกคักยิ่ง, ถึงวันนี้มีจำนวนรวมกว่า 1.2 ล้านคน และก้าวกระโดดขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

เป็นการยืนยันว่าสื่อดิจิตัลในทุกรูปแบบนั้นเป็นกลไกรับใช้สังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะกลายเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารของสังคมไม่เฉพาะแต่คนทำข่าวกับผู้เสพข่าวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

แน่นอนว่ามีเสียงวิพากษ์การปล่อยข่าวลือและข่าวผิดพลาดในสื่อ social media กันไม่น้อยในภาวะของความไม่ปกติเช่นนี้ และประเด็นวิจารณ์เช่นนี้ก็มีเหตุผลที่ต้องรับฟังอย่างจริงจัง อีกทั้งเป็นบทเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนข่าวอาชีพว่าการใช้สื่อสังคมจะต้องไม่หย่อนยานวินัยของนักข่าวมาตรฐานนั่นคือการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาเสียก่อนที่จะปล่อยออกไปสู้สาธารณชน เพราะไม่สามารถอ้างความเร็วเหนือความถูกต้องและเป็นธรรมได้เป็นอันขาด

ขณะเดียวกันก็น่าสังเกตว่าในแวดวง social media เองนั้นก็ตรวจสอบกันเองอย่างคึกคักเช่นกัน เพราะสังเกตได้ว่าหากมีข้อความใดที่ปรากฏในทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊คที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง หรือมีข้อน่าสงสัยว่าเนื้อหานั้น ๆ มีวาระซ่อนเร้นอย่างไร, ก็จะถูก "ปัญญาของฝูงชน" (wisdom of the crowd) กำจัดออกไปอย่างรวดเร็วและได้ผลเช่นกัน

หากถามผม, ประเมินประโยชน์และผลร้ายของการใช้ social media ในยามเกิดภัยพิบัติของสังคมแล้ว, ยังไง ๆ ผมก็อยู่ข้างที่ใช้เครือข่ายสังคมเพื่อการรายงาน, ประสานภารกิจเร่งด่วน, สร้างกิจกรรมจิตอาสาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความเห็นอย่างไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย

No comments: