Tuesday, October 4, 2011

สองสื่อยักษ์ในสมรภูมิเดียวกัน, แต่รบด้วยยุทธศาสตร์ต่างกัน


สื่อสองค่ายใหญ่ของโลก...มองอนาคตของข่าวจากคนละมุม, ตัดสินใจใช้กลยุทธเพื่อความอยู่รอดกับคนละแบบ ท้ายที่สุดจะพิสูจน์ว่าใครถูกใครผิด และไม่นานก็จะรู้ผล เพราะในโลกดิจิตัลวันนี้ วัดผลกันได้เร็วและไม่ยาก

ที่ยากคือคนในแวดวงสื่อเองนี่แหละที่ไม่รู้ว่าสูตรไหนของใครจะแน่กว่ากัน, พลาดท่าเสียทีมีสิทธิ์จะม้วยมรณาได้เหมือนกัน

New York Times ของสหรัฐฯตัดสินใจใช้วิธีเก็บเงินคนอ่าน เพราะลำพังหวังพึ่งโฆษณาอย่างเดียว ไม่พอกิน, The Guardian อังกฤษบอกว่าเปิดกว้างให้อ่านฟรีเพื่อสร้างจำนวนคนอ่านให้เยอะ รายได้มาจากโฆษณา

นิวยอร์กไทมส์มีเจ้าของเป็นตระกูลธุรกิจสื่อมาช้านาน อยู่ได้ด้วยรายได้โฆษณาและเก็บสมาชิกคนอ่านมาตลอด แต่เดอะการ์เดียนมีเจ้าของคือ Scott Trust ซึ่งบริหารเป็นมูลนิธิของตระกูล Scott เดิม ไม่หวังทำกำไร แต่ก็ขาดทุนไม่ได้

The Guardian ขาดทุนมาทุกปีตั้งแต่ 2004 ปีที่แล้วปีเดียว, หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กับ Observer ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันขาดทุนรวมกันมากกว่า 47 ล้านยูโร (หรือประมาณ 1,959ล้านบาท)

ตระกูล Scott ตั้งมูลนิธิ Scott Trust ขึ้นมาเพื่อบริหารสื่อในเครือนี้ตั้งแต่ 1936 โดยมีปณิธานที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าเพื่อรักษาอิสระแห่งกองบรรณาธิการของ The Guardian ตลอดไป ("To secure the editorial independence of The Guardian in perpetuity"

องค์กร Scott Trust หารายได้ทางอื่นเพื่อมาอุ้มการทำสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน เช่นนิตยสารและเว็บไซท์ขายรถมือสอง Auto Trader
ซึ่งทำกำไรดีพอที่จะมาเกื้อหนุนให้ The Guardian รักษามาตรฐานของความเป็นหนังสือพิมพ์รายวันได้มายาวนาน

โดยถือปรัชญาว่าการทำหน้าที่สื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคมสำคัญกว่าการทำกำไรทางธุรกิจ

แต่กระนั้นก็ตาม, The Guardian คงจะขาดทุนต่อไปอีกนานนักไม่ได้ เพราะเมื่อปี 2007 Scott Trust ต้องตัดสินใจขายทรัพย์สินหลายอย่างเพื่อถมช่องว่างทางรายได้ที่เกิดจากการขาดทุนของ The Guardian ที่ยังเลือดไหลไม่หยุด ฃ

นักวิเคราะห์การเงินคนหนึ่งบอกว่าถ้า The Guardian ยังขาดทุนต่อเนื่องไปอย่างนี้ เงินจะหมดภายในห้าปี แม้จะก่อตั้งมาแล้ว 190 ปีก็มีสิทธิ์ล้มหายตายจากไปได้

บรรณาธิการของ The Guardian ชื่อ Alan Rusbridger เป็นผู้บุกเบิกทางด้าน digital media ของสื่อในเครือ ประกาศนโยบาย "Digital First" อย่างแข็งขันและประกาศด้วยความมั่นใจว่าเขาจะให้คนอ่านเข้าในเว็ปไซท์และติดตามข่าวสารผ่านแท็บเบล็ทและมือถือฟรีต่อไปโดยไม่มีกำหนด

เพราะเขามั่นใจว่าจะสามารถสร้างผู้อ่านได้มหาศาล และมากพอที่จะดึงรายได้จากโฆษณามาแก้ปัญหาขาดทุนของเครือได้

เขายอมรับว่าบริษัทสื่อของเขาไม่ใช่องค์กรการกุศล "เราได้รับอนุญาตให้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน แม้ว่าการทำอย่างนั้นจะไม่สามารถทำรายได้กลับมาทันที แต่สถานทางการเงินของเราปัจจุบันอย่างนี้ไม่สามารถจะรักษาต่อไปได้อีกนาน"

และต้องถือเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว The Guardian ประกาศขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 20% ด้วยการอ้อนกับคนอ่านว่าขอให้ช่วยสนับสนุนการทำสื่อมีคุณภาพ หาไม่แล้วการทำข่าวสำคัญ ๆ ที่สังคมต้องการได้อ่านก็จะค่อย ๆ หายไปเพราะภาวะขาดทุนของสื่อที่เอาจริงเอาจังกับข่าวในยุคอินเตอร์เน็ท

บรรณาธิการคนนี้ยืนยันว่าเป้าหมายหลักของเขาคือการสร้างเนื้อหาในอินเตอร์เน็ทอย่างเข้มข้น และในแง่ของการสร้างจำนวนคนเข้ามาอ่านนั้น เว็ปไซท์ของ The Guardian ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะมีจำนวนคนเข้ามาคลิกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของเว็ปข่าวในโลกทีเดียว

แต่ New York Times เดินไปข้างหน้าด้วยปรัชญาอีกแบบหนึ่ง นั่นคือจะให้คนเข้ามาอ่านเดือนละไม่เกิน 20 ข่าว เกินกว่านั้นจะต้องเสียเงิน

นิวยอร์กไทมส์อายุ 160 ปี ก็เริ่มขาดทุนมาหลายปีที่ผ่านมา และถูกกดดันให้ต้องกู้เงินจากผู้ถือหุ้นของตนเพื่อเอาตัวรอดจากพายุดิจิตัลครั้งนี้

ทั้ง The Guardian และ The New York Times เป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงสื่อมวลชนระดับโลก ทำศึกสงครามในสมรภูมิเดียวกัน แต่ใช้กลยุทธ์คนละแบบโดยสิ้นเชิง

ยอดขายของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับหดตัวลงมาหลายปีแล้ว และเป้าหมายของทั้งสองสื่อนี้คือการทุ่มลงทุนสร้างเนื้อหาในโลกออนไลน์และหั่นค่าใช้จ่ายในการผลิตสิ่งพิมพ์

แกนหลักของนิวยอร์กไทมส์คือผู้พิมพ์ผู้โฆษณา Arthur Ochs Sulzberger Jr ซึ่งเป็นลูกหลานของเจ้าของผู้ก่อตั้ง ซึ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคม ปีนี้ว่าจะตั้ง pay wall หรือจะเก็บเงินคนเข้ามาอ่าน โดยให้คนที่เข้ามาอ่านเกิน 20 ครั้งต่อเดือนที่ราคา 15 ถึง 35 เหรียญอยู่ที่ว่าคุณอ่านจากเว็บอย่างเดียว หรือจะได้บริการทางมือถือและ iPad ด้วย

ผลเริ่มต้นในสามเดือนแรก มีคนพร้อมจ่ายเงินเข้ามาแจ้งความจำนง 224,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เขาอ้างว่าได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเก็บเงินคนอ่าน, จำนวนคนที่เข้ามาในเว็บไซท์ก็จะต้องลดลงฮวบฮาบ แต่เว็บไซท์ของนิวยอร์กไทมส์ก็ยังมีคนเข้ามาเดือนละ 47 ล้านคน

วิธีคิดของนิวยอร์กไทมส์คือการจะทำสื่อที่มีเนื้อหาคุณภาพน้ันจะต้องลงทุน และไม่สามารถให้ฟรี ๆ ได้...เขาต้องการพิสูจน์ว่าคนที่ต้องการสาระแห่งสื่อดี ๆ ยังพร้อมที่จะจ่ายเงิน

แนวทางของเดอะการ์ดเดียนนั้นบอกว่าการคิดเงินคนเข้ามาอ่านเนื้อหาในโดลดิจิตัลเท่ากับเป็นการเอาวิธีคิดแบบเก่ามาใช้กับโลกสมัยใหม่เพราะการทำสื่อในโลกดิจิตัลนั้นจะต้องเปิดกว้างให้กับผู้บริโภคข่าวโดยไม่จำกัด

ใครถูกใครผิด, ไม่ช้าก็รู้

สำหรับสื่อเล็ก ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา, ยุทธศาสตร์ก็คือการเรียนรู้, ทดลอง, และทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไปเพื่อประเมินตลอดเวลาว่าสูตรไหนผ่าน, ส่วนไหนเหลว

พูดง่าย ๆ สั้น ๆ ปรัชญาของผมคือ...เราอยู่มันทุกแห่งหน, และพร้อมจะทดลอง, เรียนรู้และทดลอง, ทดลองไม่หยุดหย่อนครับ

No comments: