Saturday, October 29, 2011

Tablets มาแรง คนติดตามข่าวผ่านสื่อดิจิตัลรูปแบบใหม่คึกคักยิ่ง


แทบเบล็ทจะมาแทนหนังสือพิมพ์ในแง่การนำเสนอข่าวสารและบทความหรือไม่เป็นคำถามที่คนข่าวจะต้องพิเคราะห์และใคร่ครวญอย่างจริงจัง

แนวโน้มด้านสื่อดิจิตัลในเมืองไทยจะตามหลังโลกตะวันตกประมาณสี่ถึงห้าปี แต่จากนี้ไปจังหวะเร่งของความเปลี่ยนแปลงจะเร็วขึ้น ดังนั้นแนวโน้มการนำเสนอและเสพข่าวและข้อมูลในสหรัฐฯและยุโรปจึงเป็นเรื่องที่สื่อไทยจะต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด

ไม่ใช่เดินตามอย่างบอดมืด แต่ก็จะต้องปรับตัวตามจังหวะก้าวอย่างเหมาะเจาะ เพราะเมื่อเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดวิถีปฏิบัติของคนในสังคม และหากความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากโลกตะวันตกไหลบ่าเข้าสู่โลกตะวันออกอย่างไร้ขีดจำกัด, ก็ย่อมแปลว่าเราไม่อาจจะก่อ "พนังกั้น" เพื่อสะกัดการไหลบ่าของพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่ใครจะยับยั้งได้

ผลวิจัยล่าสุดของ Pew Research Center ภายใต้โครงการ Project for Excellence in Journalism ร่วมกับ The Economist Group พบว่าจาก 11% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯที่มี tablet computer (ตกประมาณ 34 ล้านคน)ร้อยละ 53 ติดตามข่าวสารจากอุปกรณ์ดิจิตัล มิใช่จากหนังสือพิมพ์หรือทีวีหรือวิทยุ

ที่น่าสนใจคือหากตัวเลขนี้เป็นจริง ก็แปลว่าคนติดตามข่าวจากแทบเบล็ทมากกว่าจา social media (39%)และการเล่นเกม (30%) อีกทั้งยังมากพอ ๆ กับจนใช้ส่งและรับอีเมล์ (54%)

และที่น่าสังเกตคือคนส่วนใหญ่ที่ติดตามข่าวจาก tablets ก็ยังมุ่งไปที่ brand ของข่าวที่ดัง ๆ เช่น CNN, USA Today และ New York Times

แต่ปัญหาใหญ่สำหรับคนทำสื่อก็คือว่าเพียง 14% ของคนที่ติดตามข่าวสารจากแทบเบล็ทบอกว่าพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสารและบทความ ที่เหลือยังเชื่อว่า content ข่าวควรจะฟรีต่อไป

ซึ่งย่อมทำให้เกิดคำถามว่าสูตรความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของสื่อที่พร้อมจะปรับตัวจากสื่อกระแสหลักปัจจุบัน (สิ่งพิมพ์เป็นต้น) จะหารายได้เพียงพอที่จะคงไว้ซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อสร้างเนื้อหาที่ได้มาตรฐานเพื่อป้อนแทบเบล็ทที่เป็นทีแพร่หลายมากขึ้นได้อย่างไร?

หนทางที่เห็นอยู่วันนี้ก็คือการประคองสื่อสิ่งพิมพ์ไปพร้อม ๆ กับทีวี เพื่อรักษารายได้หลักขณะที่กระโจนเต็มตัวเข้าสู่การสร้างเนื้อหาเพื่อนำเสนอผ่านสื่อดิจิตัลทุกวิถีทาง

นั่นย่อมหมายถึงการที่คนทำสื่อเก่าปรับตัวเรียนรู้ทักษะใหม่ทางดิจิตัลเพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เป็นการท้าทายที่รุนแรง, แต่ก็เป็นประสพการณ์การที่หาได้ยากยิ่ง...เพราะไม่ปรับ...ก็พับฐาน, ขอยืนยัน

Friday, October 28, 2011

คนข่าว, ภัยพิบัติ และ Social Media


บทบาทของ social media ในช่วงมหาอุทกภัยเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และคนข่าวที่รู้จักใช้ทวิตเตอร์, เฟสบุ๊คและยูทูปเพื่อการสื่อสารกับสาธารณชนย่อมได้เปรียบนักข่าวที่ยังติดยึดอยู่กับสื่อกระแสหลักในอดีต

ความเป็น citizen journalism ของสื่อ social network ในช่วงนี้ยิ่งได้รับการตอกย้ำว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าในยามปกติ เพราะสื่อในนิยามปกติไม่อาจจะกระจายตัวเพื่อทำหน้าที่รายงานข่าวได้ครอบคลุมเพียงพอในภาวะที่ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และมีผู้คนที่ได้รับผลกระทบกว่าสิบล้านคน, ในมิติที่แตกต่าง,และด้วยอารมณ์ที่ร้อนแรง

ที่สำคัญกว่าเพียงแค่การรายงานข่าว คือการที่ social media ถูกใช้เป็นสื่อกลางของการส่งสารเพื่อขอความช่วยเหลือที่เร่งด่วนเฉพาะหน้า และการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่จำเป็นจะต้องติดต่อถึงกันอย่างกระทันหัน ที่ไม่ว่าทีวี, วิทยุหรือหนังสือพิมพ์ก็ไม่อาจจะตอบสนองได้

การก่อเกิดของ "ผู้มีจิตอาสา" ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจุดต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐไปไม่ถึงนั้นก็มาจากการใช้สื่อสังคมที่สามารถแก้ปัญหาหลาย ๆ ด้านได้ฉับพลันทันที

เฉพาะในเครือเนชั่นเอง คนข่าวเกือบ 300 ชีวิตที่ใช้ทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คเพื่อรายงานข่าวจากทุกมุมของเหตุการณ์ ที่ทำหน้าทีเป็นผู้ประสานให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือได้เข้าถึงผู้เสนอความช่วยเหลือนั้นได้เห็นจำนวนผู้เข้ามาเป็น "followers" เพิ่มขึ้นอย่างคึกคักยิ่ง, ถึงวันนี้มีจำนวนรวมกว่า 1.2 ล้านคน และก้าวกระโดดขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

เป็นการยืนยันว่าสื่อดิจิตัลในทุกรูปแบบนั้นเป็นกลไกรับใช้สังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะกลายเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารของสังคมไม่เฉพาะแต่คนทำข่าวกับผู้เสพข่าวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

แน่นอนว่ามีเสียงวิพากษ์การปล่อยข่าวลือและข่าวผิดพลาดในสื่อ social media กันไม่น้อยในภาวะของความไม่ปกติเช่นนี้ และประเด็นวิจารณ์เช่นนี้ก็มีเหตุผลที่ต้องรับฟังอย่างจริงจัง อีกทั้งเป็นบทเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนข่าวอาชีพว่าการใช้สื่อสังคมจะต้องไม่หย่อนยานวินัยของนักข่าวมาตรฐานนั่นคือการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาเสียก่อนที่จะปล่อยออกไปสู้สาธารณชน เพราะไม่สามารถอ้างความเร็วเหนือความถูกต้องและเป็นธรรมได้เป็นอันขาด

ขณะเดียวกันก็น่าสังเกตว่าในแวดวง social media เองนั้นก็ตรวจสอบกันเองอย่างคึกคักเช่นกัน เพราะสังเกตได้ว่าหากมีข้อความใดที่ปรากฏในทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊คที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง หรือมีข้อน่าสงสัยว่าเนื้อหานั้น ๆ มีวาระซ่อนเร้นอย่างไร, ก็จะถูก "ปัญญาของฝูงชน" (wisdom of the crowd) กำจัดออกไปอย่างรวดเร็วและได้ผลเช่นกัน

หากถามผม, ประเมินประโยชน์และผลร้ายของการใช้ social media ในยามเกิดภัยพิบัติของสังคมแล้ว, ยังไง ๆ ผมก็อยู่ข้างที่ใช้เครือข่ายสังคมเพื่อการรายงาน, ประสานภารกิจเร่งด่วน, สร้างกิจกรรมจิตอาสาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความเห็นอย่างไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย

Wednesday, October 26, 2011

Small World News ...โลกใบเล็ก จุดนัดพบของมืออาชีพกับมืออาสา


ตัวอย่างของการผสมผสานอย่างมีคุณภาพระหว่างสื่ออาชีพกับ "นักข่าวพลเรือน" ที่เน้นข่าวต่างประเทศนั้นคือการก่อกำเนิดของ Small World News ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ต้องการให้ประชาชนในเขตที่มีเรื่องปะทุได้ทำหน้าที่เป็น citizen reporters อย่างคล่องแคล่วและรายงานจากแง่มุมในภาคสนามจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ

ยิ่งเมื่อเน้นข่าวต่างประเทศ, การปรับตัวของการทำสื่อให้ "มืออาชีพ" กับ "นักข่าวชาวบ้าน" จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผม เพราะเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสำนักข่าวต่างประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งข่าวระหว่างประเทศแต่เพียงแหล่งเดียว และมีอคติของนักข่าวตะวันตกเสียมาก

วิถีการรายงานข่าวยุคดิจิตัลที่ "ทุกคนเป็นนักข่าวได้" จึงเปิดโอกาสให้แง่มุมของข่าวเพิ่มความหลากหลายขึ้น และสามารถตรวจสอบกันและกันอย่างคึกคัก เพราะสมัยหนึ่งที่เราเรียกนักข่าวตะวันตกที่ถูกส่งไปทำข่าวกระทันหันโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์นั้น ๆ มาก่อนว่า "นักข่าวโดดร่ม" (parachute journalism) นั้น, แง่มุมและเนื้อหาของข่าวมาจากไม่กี่แหล่ง และเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าข่าวที่เราอ่านหรือดูหรือฟังนั้นมีความถูกต้องแม่นยำเพียงใด

ต่อเมื่อเราอ่านข่าวต่างประเทศที่เกี่ยวกับบ้านเราที่ไปปรากฏในสื่อที่อื่น และเห็นความบิดเบือนและผิดพลาด (จะโดยจงใจเพราะอคติหรือความไร้เดียงสาพลั้งเผลอก็ตาม) อย่างจั๋งหนับแล้ว, เราจึงเริ่มสงสัยว่าข่าวอื่น ๆ เกี่ยวกับประเทศอื่น ๆที่เราเสพนั้นเข้าข่าย "น่าสงสัย" อย่างเดียวกันหรือไม่

แน่นอนว่าการจะทำให้เนื้อหาของข่าวใน Small World News น่าเชื่อถือและไม่ถูกบางกลุ่มบางฝ่ายเสกสรรค์ปั้นแต่งตาม "วาระในใจ" ของแต่ละคนที่เรียกตัวเองว่า "นักข่่าวพลเมือง" นั้น, ฝ่ายบรรณาธิการของเว็บไซท์นี้ก็จะมีคนข่าวมืออาชีพที่ตรวจสอบกลับไปว่าแต่ละข่าวที่ส่งมาในรูปหนังสือ, ภาพ, วีดีโอและเสียงนั้นได้มาตรฐานของความน่าเชื่อถือที่จะยกระดับการทำงานของ citizen journalism ได้อย่างเป็นรูปธรรม

Brian Conley ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Small World News บอกว่าข่าวร้อน ๆ จากตะว้ันออกลางในช่วงนี้คือเนื้อหาหลักจากนักข่าวพลเรือน และทีมงานของเขาได้รับเนื้อหาสาระจากภาคสนามอย่างคึกคัก ทำให้มีความหลากหลายของแง่มุมข่าวอย่างที่หาไม่ได้จากแหล่งข่าวกระแสหลักทั่วไป

"แต่ขณะเดียวกัน เราก็จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของข่าวอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เนื้อหาของการผสมผสานระหว่างมืออาชีพกับมืออาสาทางด้านข่าวสารน่าเชื่อถืออย่างจริงจัง" เขาบอก

ผมสนใจรูปแบบของ Small World News โดยเฉพาะสำหรับข่าวท้องถิ่นในต่างจังหวัดของไทยเองที่มีข่าวคราวน่าสนใจและควรแก่การรายงานจากแง่มุมของคนท้องถิ่นอย่างยิ่ง หากมีการสนับสนุนและส่งเสริมโดยมืออาชีพแล้ว ก็จะเป็นบริการข่าวสารยุคดิจิตัลที่มีความหมายสูงยิ่ง

Saturday, October 22, 2011

แค่ตัดต่อรูปผิดมุม, จริยธรรมก็เข้าป่าแล้ว


สามภาพนี้สะท้อนถึงวิธีที่สื่อที่ไม่รับผิดชอบอาจจะ "ตัดต่อภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายของตน" ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมอย่างยิ่ง และไม่ว่าสื่อยุคดิจิตัลจะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการตัดแต่งภาพอย่างพิสดารเพียงใด, การจงใจบิดเบือนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้รับใช้ทัศนคติของสื่อเองเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง

ภาพนี้แพร่ทางอินเตอร์เน็ทค่อนข้างกว้างขวาง อ้างกันว่าภาพซ้ายคือภาพที่ Al-Jazeera นำเสนอต่อผู้ดู ส่วนภาพขวาสุดคือภาพที่ Fox News เอาออกอากาศ

ส่วนภาพตรงกลางคือภาพต้นฉบับจริง ๆ ที่เห็นทั้งสามคน แต่หากนักข่าวหรือบรรณาธิการตัดต่อให้เห็นเพียงมุมใดมุมหนึ่ง, ความหมายของภาพก็เปลี่ยนไปจากขาวเป็นดำ, จากความโหดเหี้ยมกลายเป็นความเมตตากรุณาทันที

ดังนั้น, คนทำสื่อจะต้องไม่มี "วาระส่วนตัว" หรืออคติที่ทำให้การรายงานข่าวโอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนทำให้สารที่ส่งออกไปนั้นถูกปรุงแต่งจนผิดไปจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิงดั่งต้วอย่างที่เสนอนี้

คำว่า "ไร้อคติ" หรือ objectivity จึงหมายถึงการที่คนข่าวไม่ว่าจะเป็นยุคเก่าหรือยุคใหม่ ยุคสื่อสิ่งพิมพ์หรือ Digital First จะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพที่จะไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวมาสร้างความแปดเปื้อนให้กับมาตรฐานของการนำเสนอข่าว

หน้าที่หลักของคนข่าวมีเพียงประการเดียว นั่นคือการ "ทำความจริงให้ประจักษ์" ไม่ว่าความจริงนั้นจะสอดคล้องกับความรู้สึกหรือจุดยืนของตนหรือไม่ก็ตาม

Friday, October 21, 2011

Word Cloud ช่วยสร้างสีสันการเล่าข่าว


การเล่าข่าวอีกวิธีหนึ่งที่สร้างสีสันและความน่าสนใจคือ Word Cloud ซึ่งทำให้เห็นถึงการลำดับเรื่องและ keywords สำคัญ ๆ ที่สามารถสื่อสารกับผู้อ่านและผู้ชมได้ค่อนข้างดีอย่างที่ผมเรียนรู้วิธีทำง่าย ๆ อย่างนี้ครับ

Wednesday, October 19, 2011

Infographics แบบนี้คือ "อนาคตของข่าว" แน่นอน

Life and Times of Steve Jobs - Infographic World
Created by: Infographic World
การ "เล่าข่าว" อย่างมีสีสันและสื่อสารได้ง่าย อีกทังยังสามารถอธิบายความได้ลุ่มลึกและเรียกร้องความสนใจได้มากกว่าเพียงแค่ตัวหนังสือเท่านั้นคือการใช้ Infographcs เพื่อสรุปประเด็นและทำเรื่องสลับซับซ้อนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายและทันที

ภาพประกอบนี้สามารถทำหน้าที่ของหนังสือได้เกือบทั้งเล่มทีเดียว

และนี่คือสิ่งที่นักข่าวดิจิตัลวันนี้จะต้องเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์งานของตนให้พร้อมสำหรับผู้เสพข่าวที่จะเรียกร้องความสมบูรณ์แห่งการนำเสนอเนื้อหามากกว่าปัจจุบันจากทุกแง่มุม

Monday, October 17, 2011

คนข่าวดู Page One: Inside the New York Times จะเห็นความท้าทายหนักหน่วงยิ่ง


ผมเพิ่งดูดีวีดีหนังเรื่อง "Page One: Inside the New York Times" ที่เพิ่งออกฉายในอเมริกา..เป็นหนังที่คนข่าวที่ต้องการเห็นอนาคตของข่าวจะต้องดู...เพราะนี่คือตัวอย่างของยักษ์ใหญ่ระด้บโลกที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หาไม่แล้วก็อาจจะไม่รอดด้วยซ้ำไป

หนังเรื่องนี้เป็นสารคดี เป็นครั้งแรกที่คนระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อสิ่งพิมพ์อันโด่งดังระดับโลกยอมให้ทีมถ่ายทำที่นำโดย Andrew Rossi เข้าไปถ่ายทำทุกแง่มุมของการทำงานเป็นเวลาต่อเนื่องกว่าหนึ่งปีเพื่อให้ได้ "คนจริงเสียงจริง" ของคนข่าวที่กำลังต้องปรับตัวจากสื่อเก่าสู่สื่อดิจิตัลอย่างดุเดือดรุนแรง

ต้องชื่นชมนิวยอร์คไทมส์ที่พร้อมจะเปิดกว้างประตูตนเอง และให้ทีมสร้างหนังเจาะหาแง่มุมทั้งแง่บวกและแง่ลบ, ทั้งที่น่าเลื่อมใสและน่าคลางแคลงในการทำหน้าที่ของคนข่าวในสื่อที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันของแวดวงหนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ

ที่น่าสนใจสำหรับคนที่เป็นห่วงอนาคตของข่าวคือการที่นิวยอร์คไทมส์ตัดสินใจเมื่อปี 2008 ที่ตั้ง Media Desk ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อรายงานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อ, ไม่เว้นแม้เจาะหาข่าวในนิวยอร์คไทมส์เอง

หนังเรื่องนี้สะท้อนถึงผลพวงของเทคโนโลยีที่มีต่ออนาคตของข่าวอย่างละเอียดทุกมุม เจาะเฉพาะลงไปในใจกลางการตัดสินใจของผู้บริหารขององค์กรสื่อแห่งนี้ในการตั้งรับกับผลพวงของอินเตอร์เน็ทที่มีต่ออาชีพของตน โดยเฉพาะเมื่อ "ข่าว" มิใช่สมบัติผูกขาดของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ของแวดวงข่าวสาร

หลายฉากของหนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของคนข่าวรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ ความข้ดแย้งที่เกิดขึ้นและการรักษามาตรฐานแห่งการทำหน้าที่ของตนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงรุนแรง

สารคดีเรื่องนี้ไม่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องอื้อฉาวในกองบรรณาธิการของนิวยอร์คไทมส์เองเมื่อนักข่าวบางคนถูกจับได้ว่า "ยกเมฆ" ข่าวที่ได้รางวัลและการอ้างแหล่งข่าวที่ต่อมาพิสูจน์ได้ว่าให้ข้อมูลที่ผิดพลาดจากความเป็นจริงจนกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบันแห่งสื่อสารมวลชนแห่งนี้

น่าสนใจว่าแม้หนังเรื่องนี้จะไม่มี "พระเอก" หรือ "นางเอก" และตอนจบก็บอกไม่ได้ว่าอนาคตของนิวยอร์คไทมส์จะเป็นอย่างไร แต่ก็สามารถสื่อให้เห็นถึงปัญหา, ความท้าทาย, และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์, สื่อ, และเทคโนโลยีได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

Saturday, October 15, 2011

ประสบการณ์แรกของคน...ระหว่างนิตยสารกับ iPad



คนข่าวยุคดิจิตัลดูวีดีโอคลิบนี้น่าจะเห็นสัจธรรมข้อหนึ่งว่าสำหรับเด็กรุ่นต่อไปแล้วสื่อ multimedia ที่มีความเคลื่อนไหว, สัมผัส, แตะต้อง, และมีปฏิกิริยาตอบสอนต่อผู้เสพสื่อคืออนาคต และสื่อสิ่ิงพิมพ์เช่นแมกกาซีน แม้จะมีรูปที่มีสีสันมาก แต่หากไม่มีเสียง, ไม่มีวีดีโอ, ก็ไม่อาจจะเรียกความสนใจหรือสมาธิจากผู้บริโภคเนื้อหาของคนรุ่นใหม่ได้

Thursday, October 13, 2011

จริยธรรมสื่อคือเสาหลักของความน่าเชื่อถือ...ผิดจากนี้มิใช่เรา












ไม่ว่าคนข่าวจะแปรสภาพจากการทำหน้าที่ในรูปแบบเก่าหรือกระโจนเข้าสู่ความเป็นดิจิตัลอย่างเร้าร้อนเพียงใด, แต่หลักการแห่งจริยธรรมยังเป็นเสาหลักแห่งวิถีปฏิบัติที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นมือวิชาชีพและความน่าเชื่อถือของสังคม

ดังนั้น, เครือเนชั่นจึงยังยึดถือหลักจริยธรรมที่กำหนดร่วมกันของคนข่าวมาช้านาน และล่าสุดมีการเพิ่มเติมกติกาแห่งจรรยาบรรณของการใช้ Social Media สำหรับคนข่าวในเครือไว้อย่างละเอียด

การตีพิมพ์ครั้งใหม่มาในรูปที่กระทัดรัด พกพาและอ้างอิงได้ตลอดเวลาเพื่อยืนยันว่า "ผิดจากนี้มิใช่เรา"

และความนำที่ผมเขียนไว้สำหรับ The Nation Way ฉบับปรับปรุงล่าสุดมีอย่างนี้

ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา

คนทำสื่อในเครือเนชั่นมีความตระหนักอย่างลึกซึ้งว่า สังคมคาดหวังมาตรฐานจริยธรรมของคนทำข่าวสูงกว่าผู้คนในหลายอาชีพ
และเราในฐานะที่อาสามาเป็นผู้เสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสารมืออาชีพถือว่าไม่มีอะไรมีค่ากว่า “ความน่าเชื่อถือ” ของสังคมโดยส่วนรวม
และ “ความน่าเชื่อถือ” ที่ยั่งยืนถาวรย่อมมาจากการยึดมั่นในหลักปฏิบัติที่มีจริยธรรมที่ถือเอาความถูกต้อง, เที่ยงธรรม, ยุติธรรมและความรอบด้านของการทำหน้าที่ของเราอย่างมุ่งมั่น, โปร่งใส, และสอดคล้องกับทำนองคลองธรรมแห่งสื่อมวลชนที่อิสระเสรีและรับผิดชอบ
กติกาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนทุกรายละเอียดสำหรับคนข่าวในเครือเนชั่นในคู่มือเล่มนี้ถือเป็นพันธสัญญาแห่งวิชาชีพกับผู้คนทั้งสังคมเพื่อยืนยันในความสุจริตจริงใจและจริงจังแห่งภารกิจที่จะทำหน้าที่เป็นทั้ง “สุนัขเฝ้าบ้าน” กับ “ยามเฝ้าประตู” และ “กระจกส่องสังคม” อย่างไม่ลดละในทุกกรณี
เราเชื่ออย่างมั่นคงว่าเมื่อเราเรียกร้องสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของความเป็นไปในสังคม, สังคมก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในอันที่จะตรวจสอบผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนได้เช่นกัน
ทุกบรรทัดในคู่มือแห่งจริยธรรมเล่มนี้จึงเป็นคำปฏิญญาณของคนข่าวในเครือเนชั่นทุกคนที่จะดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานแห่งวิชาชีพที่ไม่มีวันสั่นคลอนหวั่นไหวในหน้าที่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือแรงกดดันเพียงใด
...เพื่อสะท้อนความคิดอ่านรอบด้าน, ความเห็นอันหลากหลาย, ข้อเท็จจริงแห่งเหตุการณ์ทุกแง่ทุกมุมที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง, โดยปราศจากอคติ, ความแปลกแยกที่ทับซ้อนความถูกต้องเป็นธรรมและวาระซ่อนเร้นที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์อันเป็นของส่วนรวม
จึงประกาศไว้เป็นสัจธรรมกับผู้อ่าน, ผู้ฟัง, ผู้ชมและผู้ร่วมกระบวนการแห่งข้อมูลข่าวสารของเครือเนชั่นว่า
ผิดจากนี้จึงมิใช่เรา

Tuesday, October 11, 2011

และเมื่อ data journalism ทำให้คนข่าวนำเสนอเรื่องราวหลากหลายอย่างมีสีสัน


นักข่าวที่ต้องการมีอนาคตแจ่มใสและคึกคักจะต้องฝึกปรือตนเองให้ "เล่าเรื่องด้วยข้อมูลหลากหลาย" ที่อาจจะเรียกว่า
"data journalism" ซึ่งผมเหมารวมเอาทั้งภาพประกอบ, กราฟฟิค, คลิบวีดีโอ, โดยหัวใจคือความเป็น interactive ของการนำเอาวัตถุดิบเหล่านี้มานำเสนอได้อย่างมีสีสันและอุดมไปด้วยความหมาย

ความเป็น data journalist ย่อมหมายถึงการที่คนข่าวจะก้าวข้ามข้อจำกัดในปัจจุบันไปสู่การสามารถเรียงร้อยข้อความ, ภาพ, กราฟฟิค, และข้อมูลทุกรูปแบบเพื่อนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจ และแต่ละรูปแบบก็แตกต่างกันไปตามแต่เนื้อหา, สถานการณ์และผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารด้วย

แน่นอน หากเราจะเป็นคนข่าวแห่งอนาคต เราก็ต้องมองเห็นโอกาสทองของการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจทุกรูปแบบที่เรียกร้องความสนใจจากผู้รับสาร ไม่ว่าจะเป็นการเสนอสถิติอย่างมีชีวิตชีวาหรือการเล่าเรื่องสลับซับซ้อนด้วยการใช้ความเป็นอินเตอร์แอคทีฟของวิธีการเสนอ

จินตนาการจึงเป็นหัวใจของคนข่าวที่จะพัฒนาตัวเองให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีสามารถเสริมส่งให้การนำเสนอข่าวสารและข้อมูลอย่างพิสดารกว่าที่ผ่านมา

อาจจะหมายความว่าคนข่าวต้องเรียนรู้พื้นฐานของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์บ้าง, การเขียนโค้ดอย่างง่าย ๆ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดหรือกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างความเป็นนักข่าวในความหมายเก่ากับ "digital journalist" ในบริบทใหม่ที่สามารถผสมผสานระหว่างการเจาะข่าวลึกและการนำเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนด้วยความช่ำชองในการใช้ data journalism ไปพร้อม ๆ กัน

นี่คือสิ่งท้าทายสำหรับยุคสมัยของคนข่าวที่ไม่วิ่งหนีความแปลกใหม่เพียงเพราะกลัวความไม่คุ้นชินแต่ก่อนเก่าเท่านั้น

Friday, October 7, 2011

Steve Jobs กับบทบาทกำหนดอนาคตของข่าว


หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทั่วโลกหลายฉบับวันไว้อาลัยการจากไปของ Steve Jobs (ฉบับวันศุกร์ที่ 7 ตุลาฯ)ทำให้ผมเชื่อว่าสื่อกระแสหลักก็ยังสามารถแสดงความมีจินตนาการ, ความสามารถในการสื่อสารและความลุ่มลึกแห่งอารมณ์ผ่านการจัดหน้า, การพาดหัวและการเขียนบรรยายเบื้องหน้าเบื้องหลังชีวิตของคนที่เป็นข่าวน่าสนใจอย่างเจ้าพ่อแอบเปิลคนนี้

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหน้าหนึ่งมากมายหลายฉบับที่ผมอ่านเจอวันนี้ และตราตรึงกับการออกแบบและแนวคิดสร้างสรรค์ของการพาดหัว, จัดหน้าและสื่อสารกับคนอ่านได้อย่างน่าทึ่งยิ่ง

อีกแง่หนึ่ง Steve Jobs ก็มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้คนทำสื่อต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะ iPhone และ iPad ที่เขานำมาเสนอสังคมโลกนั้นเปลี่ยนแปลงวิธีคิด, วิธีทำงาน, วิธีนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาของสื่อทุกแขนงอย่างมีความหมายอันสำคัญไม่น้อยเลย

หนังสือพิมพ์, ทีวีและวิทยุส่วนใหญ่ต้องมี applications ของตัวเองใน iPhone และ iPad เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคข่าวยุคดิจิตัล

จำได้ว่าสตีฟ จ๊อปส์เคยวิจารณ์ว่า apps ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ไม่ดีเท่าที่เขาอยากเห็น และวิพากษ์ว่า apps ของ วอลสตรีทเจอร์นัลขณะนั้น "ช้าและเทอะทะ"

คนวงในแอบเปิลบอกว่าสตีฟให้ความสนใจกับการรักษาคุณภาพของสื่อโดยผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เขามีส่วนผลักดันอย่างมุ่งมั่น

ประโยคหนึ่งของเขาที่ประกาศในที่สัมมนาเรื่องสื่อเมื่อปีที่แล้วยังก้องกังวานอยู่ทุกวันนี้

Steve Jobs บอกว่า

"เราพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อเสริมส่งให้ The New York Times, The Washington Post, The Wall Street Journal ค้นพบหนทางที่จะทำเนื้อหาถึงคนอ่านที่พร้อมจะจ่ายเงินให้เพื่อที่จะรักษาคุณภาพแห่งสื่อมาตรฐานโลกได้...เราสนับสนุนเต็มที่ครับ"

ไม่ต้องสงสัยว่าสตีฟ จ๊อปส์มีส่วนสำคัญยิ่งในการพลิกวิถีปฏิบัติ, แนวทางความคิดและปรัชญาแห่งการทำงานของสื่อ และผลักดันให้เกิดการปรับตัวจากสื่อเก่ามาเป็นสื่อดิจิตัล...ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการกำหนด "อนาคตของข่าว" อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

Wednesday, October 5, 2011

ทวิตเตอร์เร็วกว่าแผ่นดินไหว!


โฆษณาชิ้นนี้อาจจะดู "เวอร์" ไป แต่คนเล่นทวิตเตอร์หลายคนอาจจะบอกว่า "จริง!"...

แผ่นดินไหวเมืองหนึ่ง ส่งข่าวผ่านทวิตเตอร์แป๊บเดียว คนอยู่อีกเมืองหนึ่งรู้ก่อน เตรียมตัวได้ทัน...คำว่าเร็วเหมือนสายฟ้าแลบอาจจะช้าไปด้วยซ้ำ

Tuesday, October 4, 2011

สองสื่อยักษ์ในสมรภูมิเดียวกัน, แต่รบด้วยยุทธศาสตร์ต่างกัน


สื่อสองค่ายใหญ่ของโลก...มองอนาคตของข่าวจากคนละมุม, ตัดสินใจใช้กลยุทธเพื่อความอยู่รอดกับคนละแบบ ท้ายที่สุดจะพิสูจน์ว่าใครถูกใครผิด และไม่นานก็จะรู้ผล เพราะในโลกดิจิตัลวันนี้ วัดผลกันได้เร็วและไม่ยาก

ที่ยากคือคนในแวดวงสื่อเองนี่แหละที่ไม่รู้ว่าสูตรไหนของใครจะแน่กว่ากัน, พลาดท่าเสียทีมีสิทธิ์จะม้วยมรณาได้เหมือนกัน

New York Times ของสหรัฐฯตัดสินใจใช้วิธีเก็บเงินคนอ่าน เพราะลำพังหวังพึ่งโฆษณาอย่างเดียว ไม่พอกิน, The Guardian อังกฤษบอกว่าเปิดกว้างให้อ่านฟรีเพื่อสร้างจำนวนคนอ่านให้เยอะ รายได้มาจากโฆษณา

นิวยอร์กไทมส์มีเจ้าของเป็นตระกูลธุรกิจสื่อมาช้านาน อยู่ได้ด้วยรายได้โฆษณาและเก็บสมาชิกคนอ่านมาตลอด แต่เดอะการ์เดียนมีเจ้าของคือ Scott Trust ซึ่งบริหารเป็นมูลนิธิของตระกูล Scott เดิม ไม่หวังทำกำไร แต่ก็ขาดทุนไม่ได้

The Guardian ขาดทุนมาทุกปีตั้งแต่ 2004 ปีที่แล้วปีเดียว, หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กับ Observer ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันขาดทุนรวมกันมากกว่า 47 ล้านยูโร (หรือประมาณ 1,959ล้านบาท)

ตระกูล Scott ตั้งมูลนิธิ Scott Trust ขึ้นมาเพื่อบริหารสื่อในเครือนี้ตั้งแต่ 1936 โดยมีปณิธานที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าเพื่อรักษาอิสระแห่งกองบรรณาธิการของ The Guardian ตลอดไป ("To secure the editorial independence of The Guardian in perpetuity"

องค์กร Scott Trust หารายได้ทางอื่นเพื่อมาอุ้มการทำสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน เช่นนิตยสารและเว็บไซท์ขายรถมือสอง Auto Trader
ซึ่งทำกำไรดีพอที่จะมาเกื้อหนุนให้ The Guardian รักษามาตรฐานของความเป็นหนังสือพิมพ์รายวันได้มายาวนาน

โดยถือปรัชญาว่าการทำหน้าที่สื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคมสำคัญกว่าการทำกำไรทางธุรกิจ

แต่กระนั้นก็ตาม, The Guardian คงจะขาดทุนต่อไปอีกนานนักไม่ได้ เพราะเมื่อปี 2007 Scott Trust ต้องตัดสินใจขายทรัพย์สินหลายอย่างเพื่อถมช่องว่างทางรายได้ที่เกิดจากการขาดทุนของ The Guardian ที่ยังเลือดไหลไม่หยุด ฃ

นักวิเคราะห์การเงินคนหนึ่งบอกว่าถ้า The Guardian ยังขาดทุนต่อเนื่องไปอย่างนี้ เงินจะหมดภายในห้าปี แม้จะก่อตั้งมาแล้ว 190 ปีก็มีสิทธิ์ล้มหายตายจากไปได้

บรรณาธิการของ The Guardian ชื่อ Alan Rusbridger เป็นผู้บุกเบิกทางด้าน digital media ของสื่อในเครือ ประกาศนโยบาย "Digital First" อย่างแข็งขันและประกาศด้วยความมั่นใจว่าเขาจะให้คนอ่านเข้าในเว็ปไซท์และติดตามข่าวสารผ่านแท็บเบล็ทและมือถือฟรีต่อไปโดยไม่มีกำหนด

เพราะเขามั่นใจว่าจะสามารถสร้างผู้อ่านได้มหาศาล และมากพอที่จะดึงรายได้จากโฆษณามาแก้ปัญหาขาดทุนของเครือได้

เขายอมรับว่าบริษัทสื่อของเขาไม่ใช่องค์กรการกุศล "เราได้รับอนุญาตให้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน แม้ว่าการทำอย่างนั้นจะไม่สามารถทำรายได้กลับมาทันที แต่สถานทางการเงินของเราปัจจุบันอย่างนี้ไม่สามารถจะรักษาต่อไปได้อีกนาน"

และต้องถือเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว The Guardian ประกาศขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 20% ด้วยการอ้อนกับคนอ่านว่าขอให้ช่วยสนับสนุนการทำสื่อมีคุณภาพ หาไม่แล้วการทำข่าวสำคัญ ๆ ที่สังคมต้องการได้อ่านก็จะค่อย ๆ หายไปเพราะภาวะขาดทุนของสื่อที่เอาจริงเอาจังกับข่าวในยุคอินเตอร์เน็ท

บรรณาธิการคนนี้ยืนยันว่าเป้าหมายหลักของเขาคือการสร้างเนื้อหาในอินเตอร์เน็ทอย่างเข้มข้น และในแง่ของการสร้างจำนวนคนเข้ามาอ่านนั้น เว็ปไซท์ของ The Guardian ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะมีจำนวนคนเข้ามาคลิกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของเว็ปข่าวในโลกทีเดียว

แต่ New York Times เดินไปข้างหน้าด้วยปรัชญาอีกแบบหนึ่ง นั่นคือจะให้คนเข้ามาอ่านเดือนละไม่เกิน 20 ข่าว เกินกว่านั้นจะต้องเสียเงิน

นิวยอร์กไทมส์อายุ 160 ปี ก็เริ่มขาดทุนมาหลายปีที่ผ่านมา และถูกกดดันให้ต้องกู้เงินจากผู้ถือหุ้นของตนเพื่อเอาตัวรอดจากพายุดิจิตัลครั้งนี้

ทั้ง The Guardian และ The New York Times เป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงสื่อมวลชนระดับโลก ทำศึกสงครามในสมรภูมิเดียวกัน แต่ใช้กลยุทธ์คนละแบบโดยสิ้นเชิง

ยอดขายของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับหดตัวลงมาหลายปีแล้ว และเป้าหมายของทั้งสองสื่อนี้คือการทุ่มลงทุนสร้างเนื้อหาในโลกออนไลน์และหั่นค่าใช้จ่ายในการผลิตสิ่งพิมพ์

แกนหลักของนิวยอร์กไทมส์คือผู้พิมพ์ผู้โฆษณา Arthur Ochs Sulzberger Jr ซึ่งเป็นลูกหลานของเจ้าของผู้ก่อตั้ง ซึ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคม ปีนี้ว่าจะตั้ง pay wall หรือจะเก็บเงินคนเข้ามาอ่าน โดยให้คนที่เข้ามาอ่านเกิน 20 ครั้งต่อเดือนที่ราคา 15 ถึง 35 เหรียญอยู่ที่ว่าคุณอ่านจากเว็บอย่างเดียว หรือจะได้บริการทางมือถือและ iPad ด้วย

ผลเริ่มต้นในสามเดือนแรก มีคนพร้อมจ่ายเงินเข้ามาแจ้งความจำนง 224,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เขาอ้างว่าได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเก็บเงินคนอ่าน, จำนวนคนที่เข้ามาในเว็บไซท์ก็จะต้องลดลงฮวบฮาบ แต่เว็บไซท์ของนิวยอร์กไทมส์ก็ยังมีคนเข้ามาเดือนละ 47 ล้านคน

วิธีคิดของนิวยอร์กไทมส์คือการจะทำสื่อที่มีเนื้อหาคุณภาพน้ันจะต้องลงทุน และไม่สามารถให้ฟรี ๆ ได้...เขาต้องการพิสูจน์ว่าคนที่ต้องการสาระแห่งสื่อดี ๆ ยังพร้อมที่จะจ่ายเงิน

แนวทางของเดอะการ์ดเดียนนั้นบอกว่าการคิดเงินคนเข้ามาอ่านเนื้อหาในโดลดิจิตัลเท่ากับเป็นการเอาวิธีคิดแบบเก่ามาใช้กับโลกสมัยใหม่เพราะการทำสื่อในโลกดิจิตัลนั้นจะต้องเปิดกว้างให้กับผู้บริโภคข่าวโดยไม่จำกัด

ใครถูกใครผิด, ไม่ช้าก็รู้

สำหรับสื่อเล็ก ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา, ยุทธศาสตร์ก็คือการเรียนรู้, ทดลอง, และทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไปเพื่อประเมินตลอดเวลาว่าสูตรไหนผ่าน, ส่วนไหนเหลว

พูดง่าย ๆ สั้น ๆ ปรัชญาของผมคือ...เราอยู่มันทุกแห่งหน, และพร้อมจะทดลอง, เรียนรู้และทดลอง, ทดลองไม่หยุดหย่อนครับ

Sunday, October 2, 2011

แล้วอนาคตของหนังสือล่ะ?


ผมต้องสารภาพว่าแม้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตั้งแต่หนุ่มแน่นเป็นต้นมากับตัวหนังสือบนกระดาษ แต่วันนี้ผมเป็นแฟนของ e-books และยังไปเดินร้านหนังสือและซื้อหนังสือเป็นประจำ...

แต่ทุกวันนี้ผมอ่านจาก iPad และ iPhone มากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะสะดวก, อ่านง่าย, และเก็บข้อความน่าสนใจได้อย่างคล่องแคล่วอีกทั้งยังส่งเนื้อหาที่น่าสนใจไปยังคนที่เราอยากให้อ่านเหมือนเราได้มากขึ้น

ยิ่งเมื่อ Amazon.com เปิดตัว Kindle Fire ในราคาถูกว่า iPad กว่าครึ่งและย้ำให้ความสำคัญกับคนอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม, ก็ทำให้ผมเริ่มคิดหนักว่าอนาคตของหนังสือจะไปทิศทางไหน?

ข่าวการปิดตัวของเครือข่ายร้านหนังสือดังอย่าง Borders และร้าน "คุณป้าหัวมุมถนน" ยิ่งทำให้เห็นภาพว่าหนังสือเป็นเล่มที่เป็นส่วนหนึ่งของงชีวิตประจำวันของเรานั้นกำลังจะค่อย ๆ หดหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นแน่แท้

ไม่ต้องสงสัยว่าคนจะหันมาอ่านหนังสือใน tablets มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาของมันลดลงมาต่ำกว่า $99 ซึ่งผมเชือว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

ผมยังทำใจไม่ได้หากบรรยากาศของการหยิบหนังสือมาอ่านทีละเล่ม, เดินเข้าร้านหนังสือที่เคยชินเพื่อถามหาหนังสือออกใหม่, และความรู้สึกที่ได้สัมผัสหนังสือด้วยมือของตนเอง...จะต้องสลายหายไปอย่างถาวร

แต่เมื่อยอดขาย e-books ที่เมืองนอกเริ่มแซงหน้ายอดขายหนังสือปกหนาหรือ hard cover และทำท่าว่าจะทะยานขึ้นตลอดเวลา ก็เริ่มมีการทำนายทายทักที่สหรัฐฯแล้วว่าภายในปี ค.ศ. 2025 หรือจากนี้ไปสิบปีเศษ ๆ หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มก็จะกลายเป็น "ของเก่าหายาก" เพราะผู้คนจะหันไปอ่านจาก tablets หรือมือถือเป็นส่วนใหญ่

เหมือนที่สารานุกรมอย่าง Britannica ที่คุณหาอ่านจากกระดาษวันนี้ไม่ได้แล้ว...และนั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดได้ไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง

เขาทำนายว่าในสองสามปีข้างหน้ายอดขาย e-books จะนำหน้ายอดขายหนังสือทั้งหมด และ e-magazines ก็จะแซงหน้าแมกกาซีนที่พิมพ์ด้วยกระดาษทั้งหลายเช่นกัน เพราะเหล่าบรรดา applications ใน tablets จะมาทดแทนการอ่านนิตยสารเล่มหนา ๆ หนัก ๆ บนกระดาษอาร์ททั้งหลายกันถ้วนหน้า

คนเขียนหนังสือและคนทำ "สำนักพิมพ์" ทั้งหลายก็จะต้องปรับตัวกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากจะยังรักษาฐานคนอ่านรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่ที่มีทางเลือกในการบริโภคข่าวสาร, สาระและเนื้อหาอย่างกว้างขวาง, รวดเร็วและฉับพลันเกินกว่าที่เราจะคาดการณ์ได้

แม้จะใจหาย, แต่เราก็ต้องหายใจต่อไปเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครยับยั้งได้อีกต่อไป