Tuesday, August 16, 2011

เจาะข่าววอเตอร์เกต...วันนี้ นักข่าวดิจิตัลทำดีกว่าได้หรือไม่?


คนเป็นนักข่าวต้องมีความมุ่งมั่นที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือทำหน้าที่เป็นสื่อของมวลชนเพื่อ "เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่" และนั่นย่อมหมายถึงการฝึกปรือตนเองให้เป็นนักข่าวที่สืบค้นเบื้องหลังเบื้องความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจอย่างไม่เกรงกลัว, ยืนหยัดและด้วยฝีมือการทำงานอย่างมืออาชีพ

เช่นกรณีนักข่าวหัวเห็ดสองคนของหนังสือพิมพ์ Washington Post ที่ทำหน้าที่ขุดคุ้ยพฤติกรรมที่ผิดทำนองคลองธรรมของริชาร์ด นิกสันในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วง 1972 จนต้องลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 1974 จนกลายเป็นตำนานการเมืองและสื่อมวลชนของโลกมาจนทุกวันนี้

Carl Bernstein กับ Bob Woodword ใช้วิธีการเจาะหาข่าวอย่างบากบั่นมุ่งมั่น,ค้นหาข้อมูล, ตามเจาะเช็คที่ออกจากธนาคารไปถึงคนในทำเนียบขาวและผู้วางแผนร้ายในการกลั่นแกล้งพรรคฝ่ายตรงกันข้าม, รวมไปถึงการต้องตื้อรอสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องอย่างชนิดหามรุ่งหามค่ำ, และต้องใช้วิธีการไม่ปกติเพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นข่าวที่หาได้ยากยิ่งหากไม่ดึงดันและอดทนอย่างถึงที่สุด

แน่นอนว่าแรงกดดันจากนิกสันถึงตัวนักข่าวเอง , บรรณาธิการตลอดไปถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์ระหว่างที่สองนักข่าวนี้พยายามจะชอนไชหาข้อมูลมายืนยันข่าวลือข่าวปล่อยต่าง ๆ นั้นมีหนักหน่วงรุนแรง แต่ก็ต้องถือเป็นเครดิตของคนในกองบรรณาธิการทุกระดับที่ยึดมั่นในอุดมการณ์การทำข่าวอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมให้อุปสรรคนานัปประการมาทำให้การทำหน้าที่เพื่อสาธารณประโยชน์ต้องหยุดชะงักหรือถูกบ่อนทำลายเสียก่อน, ไม่ว่าจะด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว, ทางการเมืองหรือทางธุรกิจก็ตาม

มีนักข่าวถามผมว่ายุคสมัยนั้นวงการข่าวยังไม่มีอินเตอร์เน็ท, ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, ไม่มีเว็บไซท์, ไม่มี Facebook และ Twitter ใช้โทรศัพท์ตั้งโต๊ะ, ปากกาดินสอ, และไปยืนดัหน้าบ้านแหล่งข่าว แต่ก็สารถทำข่าวได้ลุ่มลึกมีผลกว้างไกลขนาดนั้น...วันนี้ในยุคดิจิตัล, ทำไมเราไม่เห็นข่าว "เจาะ" อย่างนี้บ้าง?

ผมตอบว่าย้อนกลับไปดูการทำงานของสองนักข่าววอเตอร์เกตนี้แล้ว ไม่มีอะไรที่เขาสองคนทำได้ตอนนั้นที่อุปกรณ์หรือวิธีการทำงานหรือกฎหมายบ้านเมืองจะทำไม่ได้ในตอนนี้

ตรงกันข้าม, ยิ่งทุกวันนี้มี social media หนุนอยู่ อีกทั้งอุปกรณ์การหาข่าวและการสร้างแหล่งข่าวเครือข่ายสังคมมหาศาล นักข่าววันนี้จึงควรจะยิ่งจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าสองนักข่าว Watergate ด้วยซ้ำไป

อนาคตของนักข่าวอาชีพจึงต้องสร้างความมุ่งมั่นและทุ่มเทต่ออุดมการณ์ในการ "เปิดโปง" ความจริงเพื่อรับใช้สังคมมากกว่าทีผ่านมา

เพราะวันนี้ คนข่าวไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะทำหน้าที่เหมือนที่สองนักข่าววอเตอร์เกตได้ทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว

No comments: