Wednesday, August 31, 2011

อนาคตของการอ่านข่าวบนโต๊ะอาหารเช้า


New York Times R&D Lab: The kitchen table of the Future


นักวิจัยห้องทดลองอนาคตของข่าวของ The New York Times แอบคิดว่าในอนาคตที่โต๊ะอาหารเช้า แทนที่จะอ่านหนังสือพิมพ์จากกระดาษ, จะติดตามข่าวสารและบทความรวมถึงภาพและวีดีโอได้อย่างทันท่วงทีและยังมีบรรยากาศของการ "อ่านหนังสือพิมพ์" ได้อย่างไร


คนข่าววันนี้เมื่อเห็น "จินตนาการ" อนาคตของการเสพข่าวเป็นเช่นนี้ย่อมรู้ว่าจะต้องปรับตัวในการผลิต content ให้หลากหลายและลุ่มลึกอย่างไร



Saturday, August 27, 2011

สตูดิโอส่วนตัวของคนข่าวยุคดิจิตัล...ง่าย ๆ แต่คล่องแคล่ว


คนข่าวยุคดิจิตัลทำงานที่ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่มีอุปกรณ์คล่องตัวและสามารถค้นหาข้อมูลและสาระสำหรับการสร้าง content เพื่อนำเสนอผ่านเครือข่ายทุกรูปแบบ

นี่เป็น "สตูดิโอ" ส่วนตัวของผม ติดตั้งไฟและ blue screen ง่าย ๆ...ใช้กล้อง iPhone 4 (กำลังจะทดลองกับ Galaxy 2 ที่คุยว่าคุณภาพวีดีโอดีกว่า) อัดบทวิเคราะห์ข่าวสั้นกระชับไม่เกินสามนาทีต่อคลิบ, ตัดต่อแบบง่าย ๆ, ส่งขึ้น YouTube หรือขึ้นเว็บไซท์ www.suthichaiyoon.com หรือ blog ของผม อีกทั้งคุณภาพ broadcast quality ก็สามารถเอาเข้ารายการทีวีได้อย่างไม่ยากเย็น

หากนักข่าวทุกคนสร้างความเป็น mobile journalist ให้กับตัวเองได้ ก็สามารถผลิตงานได้อย่างคล่องตัวและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ที่ทำงาน, ที่บ้านหรือระหว่างเดินทางได้

เป็นการสร้างผลงานสร้าง brand ที่มีเนื้อหาแปลกและแตกต่างไปจากคนข่าวกระแสหลักทั่วไปที่ยังปฏิเสธที่จะปรับตัวเพราะความลังเล, ความกลัว, ความไม่แน่ใจหรืออัตตาสูงอะไรก็ตามที

ไม่ปรับก็พับฐานในอนาคตอันใกล้นี่แหละครับ

Tuesday, August 23, 2011

ฮาร์วาร์ดก็ตื่นเต้นกับ "อนาคตของข่าว"

ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, เขาประกาศประกวด "วีดีโอคลิบสองนาที" ในหัวข้อ "The Future of News" เพื่อกระตุ้น
ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยอนาคตของสื่อสารมวลชนในยุคดิจิตัลเหมือนที่เรากำลังให้ความสนใจที่เมืองไทยเช่นกัน

Sunday, August 21, 2011

การรักษา 'ระยะห่าง' คือหัวใจแห่งมาตรฐานวิชาชีพสื่อ


คำว่า "รักษาระยะห่าง" ได้รับการเอ่ยขานกันในเกือบทุกแวดวงที่เป็นห่วงใยประเด็น "จริยธรรม" แห่งวิชาชีพโดยเฉพาะในแวดวงสื่อมวลชนที่กำลังถูกสังคมจับตาถึงมาตรฐานแห่งการดำรงไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพที่ไม่ถูกกลุ่มผลประโยชน์ใดเข้ามาครอบงำและกำหนดวิถีปฏิบัติในการทำหน้าที่

คนข่าวยุคใหม่ที่ใช้ความเร็วและสร้างเครือข่ายเพื่อการทำหน้าที่ของตนจะต้องระมัดระวังเรื่อง "รักษาระยะห่าง" อย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะในการทำหน้าที่ของคนข่าวนั้นคำว่า connection กับ networking บางครั้งผู้เกี่ยวข้องก็อาจะแยกไม่ออก หรือจงใจที่จะไม่แยกแยะให้ให้เห็นความแตกต่าง

การสร้าง network เพื่อสร้างความสันพันธ์ในเชิงสร้างแหล่งข่าวเพื่อการทำงานให้รอบด้านและลุ่มลึก กับการสร้าง connection ส่วนตัวเพื่อให้เกิด "ความใกล้ชิดเป็นพิเศษ" นั้นย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะผู้บริโภคข่าวย่อมจะต้องการแน่ใจว่าคนข่าวที่เขาไว้วางใจนั้นจะต้องไม่รายงานข่าวหรือวิเคราะห์เนื้อหาของข่าวที่มาจากความ สนิทสนมคุ้นเคยเป็นส่วนตัวกับแหล่งข่าวอันอาจจะส่อไปในทางที่มีอคติ ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ

คนข่าวที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของสังคมได้นั้นจะต้องดำรงความเป็นอิสระทางด้านความคิดและแนวทางการทำงานด้วยการ "รักษาระยะห่าง" กับแหล่งข่าวอย่างเหมาะสม, ไม่ใกล้ชิดคุ้นเคยจนสงสัยได้ว่ามีผลประโยชน์ส่วนตนที่ไปเกี่ยวพัน หรือทำกิจกรรมส่วนตัวร่วมกันในลักษณะที่อาจถูกตีความว่าสามารถทำให้คนข่าวคนนั้นลำเอียงหรือโอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับแหล่งข่าวนั้น ๆ

นักข่าวบางคนอาจจะอ้าง "เวลาส่วนตัว" ในการทำ "กิจกรรมส่วนตัว" กับ "เพื่อนส่วนตัว" เพื่ออธิบาย "ความสนิทสนมเป็นพิเศษ" ของตนกับแหล่งข่าว

แต่เมื่อใครอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็น "สื่ออาชีพ" ที่อ้างสิทธิ์ของความเป็นสื่อมวลชนกับสังคมโดยส่วนรวมแล้ว สิ่งหนึ่งที่คนข่าวจะต้องยอมสละไปคือ "ความเป็นส่วนตัว" ที่จะเอ่ยอ้างเพื่อจะยังดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตเหมือนคนอาชีพอื่น ๆ

เพราะการที่สังคมให้ความเคารพนับถือและสิทธิพิเศษบางประการกับ "ฐานันดรที่สี่" นั้นก็ย่อมแปลว่าสังคมคาดหวังในมาตรฐานแห่งจริยธรรมจากคนอาชีพสื่อสารมวลชนที่สูงกว่าคนอาชีพอื่น ๆ เช่นกัน

การ "รักษาระยะห่าง" อันเหมาะควรระหว่างคนข่าวกับแหล่งข่าวจึงเป็นหนึ่งใน "มาตรฐาน" ที่สำคัญยิ่งสำหรับคนข่าว, ไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน, ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปถึงจุดใด

เพราะท้ายที่สุดจริยธรรมไม่เคยล้าสมัย, และ "ความศรัทธาเชื่อถือ" ไม่เคยถูกเทคโนโลยีมาบดบังให้เลือนหายได้

Tuesday, August 16, 2011

เจาะข่าววอเตอร์เกต...วันนี้ นักข่าวดิจิตัลทำดีกว่าได้หรือไม่?


คนเป็นนักข่าวต้องมีความมุ่งมั่นที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือทำหน้าที่เป็นสื่อของมวลชนเพื่อ "เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่" และนั่นย่อมหมายถึงการฝึกปรือตนเองให้เป็นนักข่าวที่สืบค้นเบื้องหลังเบื้องความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจอย่างไม่เกรงกลัว, ยืนหยัดและด้วยฝีมือการทำงานอย่างมืออาชีพ

เช่นกรณีนักข่าวหัวเห็ดสองคนของหนังสือพิมพ์ Washington Post ที่ทำหน้าที่ขุดคุ้ยพฤติกรรมที่ผิดทำนองคลองธรรมของริชาร์ด นิกสันในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วง 1972 จนต้องลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 1974 จนกลายเป็นตำนานการเมืองและสื่อมวลชนของโลกมาจนทุกวันนี้

Carl Bernstein กับ Bob Woodword ใช้วิธีการเจาะหาข่าวอย่างบากบั่นมุ่งมั่น,ค้นหาข้อมูล, ตามเจาะเช็คที่ออกจากธนาคารไปถึงคนในทำเนียบขาวและผู้วางแผนร้ายในการกลั่นแกล้งพรรคฝ่ายตรงกันข้าม, รวมไปถึงการต้องตื้อรอสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องอย่างชนิดหามรุ่งหามค่ำ, และต้องใช้วิธีการไม่ปกติเพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นข่าวที่หาได้ยากยิ่งหากไม่ดึงดันและอดทนอย่างถึงที่สุด

แน่นอนว่าแรงกดดันจากนิกสันถึงตัวนักข่าวเอง , บรรณาธิการตลอดไปถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์ระหว่างที่สองนักข่าวนี้พยายามจะชอนไชหาข้อมูลมายืนยันข่าวลือข่าวปล่อยต่าง ๆ นั้นมีหนักหน่วงรุนแรง แต่ก็ต้องถือเป็นเครดิตของคนในกองบรรณาธิการทุกระดับที่ยึดมั่นในอุดมการณ์การทำข่าวอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมให้อุปสรรคนานัปประการมาทำให้การทำหน้าที่เพื่อสาธารณประโยชน์ต้องหยุดชะงักหรือถูกบ่อนทำลายเสียก่อน, ไม่ว่าจะด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว, ทางการเมืองหรือทางธุรกิจก็ตาม

มีนักข่าวถามผมว่ายุคสมัยนั้นวงการข่าวยังไม่มีอินเตอร์เน็ท, ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, ไม่มีเว็บไซท์, ไม่มี Facebook และ Twitter ใช้โทรศัพท์ตั้งโต๊ะ, ปากกาดินสอ, และไปยืนดัหน้าบ้านแหล่งข่าว แต่ก็สารถทำข่าวได้ลุ่มลึกมีผลกว้างไกลขนาดนั้น...วันนี้ในยุคดิจิตัล, ทำไมเราไม่เห็นข่าว "เจาะ" อย่างนี้บ้าง?

ผมตอบว่าย้อนกลับไปดูการทำงานของสองนักข่าววอเตอร์เกตนี้แล้ว ไม่มีอะไรที่เขาสองคนทำได้ตอนนั้นที่อุปกรณ์หรือวิธีการทำงานหรือกฎหมายบ้านเมืองจะทำไม่ได้ในตอนนี้

ตรงกันข้าม, ยิ่งทุกวันนี้มี social media หนุนอยู่ อีกทั้งอุปกรณ์การหาข่าวและการสร้างแหล่งข่าวเครือข่ายสังคมมหาศาล นักข่าววันนี้จึงควรจะยิ่งจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าสองนักข่าว Watergate ด้วยซ้ำไป

อนาคตของนักข่าวอาชีพจึงต้องสร้างความมุ่งมั่นและทุ่มเทต่ออุดมการณ์ในการ "เปิดโปง" ความจริงเพื่อรับใช้สังคมมากกว่าทีผ่านมา

เพราะวันนี้ คนข่าวไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะทำหน้าที่เหมือนที่สองนักข่าววอเตอร์เกตได้ทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว

Friday, August 12, 2011

ข่าวที่มีอนาคตคือข่าว "ต้นแบบ"


คนข่าวยุคหน้าไม่เพียงแต่จะต้องผลิตข่าวและเนื้อหาสาระที่ "แตกต่าง" เท่านั้น แต่ยังต้องให้สาธารณชนผู้บริโภคข่าวเห็นว่าเป็น "ข่าวต้นแบบ" หรือ Original Reporting ที่หาจากแหล่งอื่นไม่ได้อีกด้วย

ในโลกอินเตอร์เน็ทที่มีข่าวสารล้นเกินนั้น ส่วนใหญ่เป็นการลอกกันไปมา หรือไม่ก็ copy and paste เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้แสดงถึงความรู้ความสามารถของคนทำข่าวในยุคดิจิตัลที่จะต้องพิสูจน์ฝีมือด้วยการแสวงหาสาระที่ใหม่, ฉีกจากที่เป็นข่าวพื้น ๆ หรือข่าว "รูทีน" ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้

คุณค่าของข่าวรูทีนจะค่อย ๆ สลายหายไป และไม่มีใครพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับ "ข่าวโหล" ที่หาที่ไหนก็ได้ และไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับผู้บริโภาคข่าวอีกต่อไป

คำว่า Original Reporting ย่อมหมายถึงการที่คนข่าวไปยังที่เกิดเหตุ, เจาะเข้าไปถึงเนื้อหาของข่าวอย่างลุ่มลึก, สะท้อนถึงผลของความเป็นไปที่มีต่อชุมชนนั้น ๆ และพร้อมที่จะผลิตในรูปแบบ multimedia ทั้งตัวหนังสือ, เสียง, วีดีโอและ Inforgraphics ตลอดไปถึง Animations ที่จะทำให้การ "เล่าเรื่อง" ดำเนินไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และไม่อาจจะหาได้จากนักข่าวคนอื่น

ซึ่งย่อมแปลว่าคนข่าวยุคดิจิตัลจะต้องฝึกฝนตนอย่างเอาจริงเอาจังตลอดเวลา เพื่อสร้าง "ข่าวต้นแบบ" ที่มีคุณค่าอันน่าติดตามและแสวงหา

ไม่ทำเหมือนใคร, และไม่ยอมให้ใครมาทำเหมือน

Wednesday, August 10, 2011

คนข่าวจะไม่ใช่ "เจ้าของข่าว" อีกต่อไป


การปรับตัวของคนข่าวสำหรับอนาคตนั้นต้องเริ่มต้นที่ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าคนทำข่าวไม่ใช่ "เจ้าของข่าว" อย่างที่เคยเชื่อมาช้านานอีกต่อไป

ต่อไปนี้ข่าวจะเป็นของ "ผู้บริโภคข่าว" เป็นสมบัติสาธารณะที่จะไปแบ่งปันกันได้อย่างกว้างขวาง

และคนข่าวต้องสำเหนียกว่า "ข่าว" แต่ละชิ้นที่ตนผลิตนั้นหาได้เป็น "จุดสิ้นสุด" ที่ทุกคนต้องเชื่อและถือเป็นข้อสรุปเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่เป็นมาตรฐานแห่งความคิดของสังคมเก่า

ตรงกันข้าม, ข่าวทุกชิ้นจากนี้ไปจะเป็นเพียง "จุดเริ่มต้น" เท่านั้น เพราะเป้าหมายของคนทำข่าวจะต้องเป็นว่าข่าวแต่ละประเด็นที่คนข่าวอาชีพนำเสนอในโลกดิจิตัลนั้นเป้าหมายสุดท้ายที่แท้จริงก็คือการนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการแสดงความเห็น, การต่อเติมเสริแต่งเนื้อหาตามที่แต่ละผู้บริโภคข่าวจะนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนมากที่สุด

แต่ก่อน เราเคยเชื่อว่าเมื่อเราเสนอข่าวไปแล้วชิ้นใด, นั่นคือ "ความจริงทุกสิ่งอัน" ที่ผู้อ่าน, ผู้ฟังและผู้ชมจะต้องรับไปทั้งดุ้น ซึ่งอาจจะเป็นความจริงในโลกสื่อสารมวลชนแบบเก่า แต่วันนี้ เมื่ออินเตอร์เน็ทและโลกดิจิตัลสร้างพลังอำนาจให้กับผู้รับสารได้อย่างเอกอุและกว้างขว้างไร้ขีดจำกัดแล้ว, ผลงานของคนข่าวอาชีพก็เป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาของสาธารณชนที่จะนำไปปะติดปะต่อกับข่าวสารด้านอื่น ๆ ที่วิ่งไล่ล่าผู้คนจากทุกมุมโลกในทุกยามเวลาทั้งยามหลับและยามตื่น

พูดอีกนัยหนึ่ง, สิ่งที่คนข่าวอาชีพจะต้องสำนึกก็คือว่าต่อแต่นี้ไปอำนาจการควบคุมการไหลเทของข่าวและเนื้อหาข่าวมิได้อยู่ในมือของคนข่าวอีกต่อไป เราเป็นเพียงผู้แสวงหา,ค้นคว้า, ตรวจสอบและนำเสนอข่าวสารจากแง่มุมของผู้ฝึกปรือมาทางด้านการสื่อสาร แต่เมื่อข่าวออกพ้นมือเราไปแล้ว, ข่าวชิ้นนั้นก็สามารถถูกแปรสภาพไปในรูปแบบต่าง ๆ...จนอาจจะถึงจุดที่ว่าคนทำข่าวชิ้นนี้คนเดิมไม่สามารถจะจำได้ว่าข่าวชิ้นที่เขาอ่านในเวลาต่อมาและผ่านการแสดงความเห็นหลากหลายผ่านหลายช่องทางนั้นคือเนื้องานเดิมของเขาด้วยซ้ำไป

ดังนั้น หากเราเชื่อจริง ๆ ว่าวิชาชีพแห่งสื่อนั้นคือการให้ชุมชนของเราได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเพื่อยกระดับสติปัญญาของสมาชิกแห่งสังคม ก็ย่อมแปลว่าคนทำข่าวอาชีพจะต้องปรับวิธีคิด, วิธีทำงานและทัศนคติต่อสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว"

ซึ่งย่อมแปลว่าเราจะต้องสามารถทำหน้าที่รายงานข่าวและบทวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ,น่าสนใจ, แม่นยำ, และเข้าถึงประเด็นมากกว่าเดิมอีกหลายขุม

และเมื่อเรายกระดับฝีมือแห่งการทำหน้าที่ของคนข่าวอาชีพที่ดีขึ้นแล้ว ผลงานของเราในโลกใหม่แห่งข่าวสารก็ย่อมหมายถึงการที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างเปิดกว้างและลุ่มลึกกับสาธารณชนอีกด้วย

นี่คืออีกความท้าทายหนึ่งสำหรับคนข่าววันนี้ที่ต้องการจะมีวันพรุ่งนี้ที่เจิดจรัสกว่าเดิม แทนที่จะถูกครอบงำด้วยวิตกจริตว่าคนข่าวจะรอดจากพายุแห่งความเปลี่ยนผ่านหรือไม่

Friday, August 5, 2011

คนข่าวใช้อินเตอร์เน็ททำอะไรบ้าง?


นี่เป็นผลสำรวจล่าสุดที่เรียกว่า 2011 Arketi Web Watch Media Survey สปอนเซอร์โดยบริษัทพีอาร์ Arketi Group ที่น่าสนใจสำหรับคนข่าวเพราะเขาตั้งประเด็นว่า

"10 วิธีที่คนข่าวใช้อินเตอร์เน็ท"

ผลที่ออกมาจะตรงกับพฤติกรรมของคนข่าวในไทยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยเป็นข้อมูลสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนข่าวกับความเป็นดิจิตัลอย่างดี

ข้อสรุปประเด็นแรกของผลการสำรวจคือคนข่าวที่ถูกสำรวจนั้นใช้อินเตอร์เน็ทเพื่อการอ่านข่าวเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและเรียงตามลำดับก่อนหลังอย่างนี้

๑. อ่านข่าว (98%)
๒. ค้นหาแหล่งข่าวและประเด็นข่าวเพื่อต่อยอด (91%)
๓. ผูกมิตรใน social network (69%)
๔. เข้าเล่นทวิตเตอร์, เฟสบุ๊ค, กูเกิลพลัส (66%)
๕. เขียนบล็อก (53%)
๖. ติดตามสัมมาทางเว็บ (webinars) และถ่ายทอดผ่านเว็บ (webcasts)(48%)
๗. ดูยูทูบ (34%)
๘. ค้นหาข้อมูลใน Wikis (33%)
๙. ผลิตและฟังพอดคาสท์ (32%)
๑๐.Social Bookmarking (22%)

ดูจากภาพประกอบข้างบนก็จะเห็นว่าคนข่าวใช้ Linkedin ถึง 92% ตามมาด้วย Facebook 85% และ Twitter สูง 84%

เป็นคนข่าววันนี้และพรุ่งนี้ต้องเริ่มรู้จักเสาะหาวิธีการที่จะเสริมช่องทางแห่งการสร้างเครือข่ายแห่งข่าว, แหล่งข่าวและแสวงหาข้อมูลต่อยอดเพื่อการสร้างเนื้อหาสาระที่แปลกและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

Wednesday, August 3, 2011

จอยักษ์ Twitter กลางห้องข่าว...อนาคตไล่ล่าคุณ


ที่เห็นอยู่นี้คือห้องข่าวของ Boston Globe ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ...ด้านขวาคือจอมอนิเตอร์ใหญ่ที่เคยโชว์หน้าเว็บไซท์และพาดหัวให้คนในกองบรรณาธิการได้ติดตามได้ใกล้ชิดตลอดเวลา

แต่ที่ใหม่คือจอมอนิเตอร์ที่เพิ่มมานั้นแสดงข้อความ Twitter ที่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ทวิตตลอดทั้งวันและคืน

นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อสหรัฐฯที่ social media เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

คนข่าวเรียกจอมอนิเตอร์ใหม่นี้ว่า "Information Radiator" หรือ "จอแผ่รังสีข่าว" ที่คอยติดตามว่าข่าวใหญ่เกิดขึ้นที่ไหน, คู่แข่งกำลังเล่นข่าวอะไรใหญ่ทางออนไลน์, และเนื้อหาดิจิตัลของทีมข่าวของตนเองมีอะไรที่ทุกคนจะต้องรับรู้, เกาะติดและนำไปสร้างมุมข่าวใหม่ได้บ้าง

จอมอนิเตอร์ทวิตเตอร์นี้ดูดเอาข้อควาทวีตจาก @BostonGlobeUpdate ซึ่งมีรายชื่อของคนข่าวของสื่อนี้ทวิตเป็นประจำ (ขณะนี้มีอยู่ 173 คน)มาแสดงให้ได้อ่านกันทั้งกอง บก.

เป้าหมายอีกด้านหนึ่งของบรรณาธิการที่เอาจอนี้ขึ้นกลางห้องข่าวก็เพื่อกระตุ้นให้คนในกอง บก. ที่ยังไม่ทวีตให้เริ่มทวีตเสีย เพราะนี่คือสิ่งที่คนข่าวไม่ทำไม่ได้อีกต่อไป...แต่แน่นอนว่าเขาก็ยังให้โอกาส "ไดโนเสาร์" ได้ปรับตัวก่อนที่จะถูกประกาศให้ "สูญพันธุ์" ไปจากแวดวงสื่อมวลชน

ที่ Boston Globe นั้น, นอกจากยังตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ประจำวันอยู่, ก็มีเว็บไซท์ฟรี Boston.com และได้เปิดเว็บไซท์เก็บเงินที่มีเนื้อหาพิเศษที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ชื่อ BostonGlobe.com

Christ Marstall, ตำแหน่ง Creative Technologist, บอกว่าที่เอาจอยักษ์ทวิตเตอร์ขึ้นกลางห้องข่าวนั้นก็เพราะ...

"By showing what people are tweeting, who they are connecting with on Twitter and what stories are developing, the Information Radiator is a valuable new information feed that also happens to suggest "Hey, give this Twitter thing a try."

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการจะกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในกองบรรณาธิการข่าวให้เปิดกว้างเพื่อรับกับเทคโนโยลีที่ช่วยในการเกาะติดข่าวและตอบสนองอย่างทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อทันต่อ "อนาคตของข่าว" นั้น, จอยักษ์ทวิตเตอร์อย่างนี้จะเป็นการเตือนสติของคนข่าวยุคนี้ว่าทุกความเคลื่อนไหวของข่าวจะต้องอยู่ในจอเรดาร์ของกอง บก.

และนาทีนี้ไม่มีอะไรที่จะจับกระแสของความเคลื่อนไหวทุกวินามีได้มีประสิทธิภาพเท่ากับ social media อีกแล้ว

Tuesday, August 2, 2011

iReport คือตัวอย่างชุมชนนักข่าวพลเมืองที่ชี้อนาคตของข่าว


นี่เป็นภาพประวัติศาสตร์ของการก่อกำเหนิดของ "นักข่าวพลเมือง" หรือ "citizen journalist" เพราะรูปนี้ไม่ได้ถ่ายโดยนักข่าวหรือช่างภาพอาชีพ หากแต่เป็นผู้โดยสารบนเครื่องบินลำที่ร่อนลงแม่น้ำฮัดสันกลางนครนิวยอร์คเมื่อสองปีก่อน...และส่งขึ้นทวิตเตอร์กับไปที่ IReport ของ CNN

เป็นการเปิดศักราชของการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและ social media เพื่อรายงานข่าวด่วนที่เกิดต่อหน้าต่อตาใครก็ได้ที่มีอุปกรณ์ง่าย ๆ และใช้อินเตอร์เน็ทเพื่อแจ้งข่าวไปให้สาธารณชนได้ทราบ, ทั่วโลก, ทันทีที่เกิดเหตุการณ์, และไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการของกองบรรณาธิการของสื่อกระแสหลักใด ๆ เลย

วันนี้ CNN ประกาศความสำเร็จของการเปิด IReport มาครบห้าปี โดยเรียกปรากฏการณ์นั้นว่าเป็นการ "ปฏิวัติ" ครั้งสำคัญของ
วงการสื่อสารมวลชน...ที่มวลชนเองสามารถรายงานข่าวให้กันและกันโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนปกติของการทำสื่ออย่างที่เคยเป็นมาตลอดเวลาหลายร้อยปี

CNN บอกว่าเหตุการณ์สึนามิในปี ค.ศ. 2005 ในมหาสมุทรอินเดีย (ที่ไทยก็โดนด้วยอย่างแรง) ก่อให้เกิดภาพและวีดีโอที่ชาวบ้านถ่ายส่งไปยังสถานีอย่างมากมาย เพราะเขาและเธอเหล่านั้นอยู่ ณ จุดเกิดเหตุที่นักข่าวและช่างภาพไม่สามารถไปถึงได้ หรือไม่อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่เกิดขึ้น

นี่คือที่มาของแนวคิด citizen journalism

ตอนหนึ่งของบทระลึกถึงการเกิด iReport นั้น CNN บอกว่า..."Over the next few months, we'd see a parade of breakthrough moments in digital citizen journalism, the beginnings of a new, much faster and more efficient model for collecting and sharing the events that shape our world..."

หลังจากนั้น, ทุกครั้งที่มีเหตุใหญ่, พลเมืองที่เห็นเหตุการณ์ก็จะสวมบทนักข่าวทันที เพราะใครมีมือถือและส่งภาพหรือวีดีโอไปขึ้น YouTube ได้หรือส่งไปให้กับทีวีหรือหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซท์ได้, ก็สามารถทำหน้าที่รายงานข่าวได้อย่างคล่องแคล่วทันควัน

iReport เป็นโครงการของ CNN ที่เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2006 โดยเป็นเว็บไซท์ที่เชื้อชวนให้คนทั่วไปส่งภาพและวีดีโอคลิบที่เป็นข่าวทุกรูปแบบไปให้เพื่อแบ่งปันกันทั่วโลก

วันนี้ iReport ได้กลายป็นชุมชนของคนไม่น้อยกว่า 900,000 คนทั่วโลกที่แบ่งปันภาพและวีดีโอที่มีความหมายสำหรับพวกเขาและเธอ

และบ่อยครั้ง, สิ่งที่ "นักข่าวพลเมือง" ส่งมานั้นคือเนื้อหาที่กำหนดให้ CNN ต้องทำข่าวตามแนวนั้นด้วยซ้ำไป

ผมเชื่อว่า "อนาคตของข่าว" จะยิ่งทำให้ความป็น citizen journalism เข้มข้น, กว้างขวาง, และ มีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารของคนในสังคม เพราะจากนี้ไปจะเป็นยุคดิจิตัลที่ "ปัญญาของฝูงชน" หรือ wisdom of the crowd จะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของข่าวและสาระที่มีอิทธิพลอันสูงยิ่งต่อสังคมมนุษย์

คนข่าวอาชีพวันนี้ต้องตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงรุนแรง และจะต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้บทบาทอันสำคัญของของ citizen journalism ทุกฝีเก้าจากนี้ไป

เพราะคนทำสื่อวิชาชีพมิอาจจะหลงผิดว่าตนจะสามารถกำหนดทิศทางและเนื้อหาของข่าวสารให้กับชุมชนในภาพรวมได้อีกต่อไปแล้ว

ปัญญาของฝูงชนจะเป็นปัจจัยที่คนข่าวอาชีพต้องนำมาใคร่ครวญอย่างลุ่มลึกอย่างยิ่ง

Monday, August 1, 2011

Newspaper radio: หนังสือพิมพ์คุณอ่านข่าวให้คุณฟัง...อนาคตของข่าว

คนทำข่าวมองอนาคตแล้วต้องรู้ว่า "เสียง" จะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า "ภาพ" และ "ข้อความ"...เพราะเทคโนโลยีใหม่ทำให้คนข่าว "ส่งเสียง" พร้อม "อ่าน" ไปให้กับผู้บริโภคข่าวได้อย่างสะดวก, รวดเร็วและน่าประทับใจ

The newspaper reads to you...ผ่าน E-readers ทั้งหลายกำลังจะเป็นวิถีใหม่สำหรับคนข่าวที่ต้องการสื่อกับคนอ่าน, คนฟัง, คนดูผ่านทุก platforms