Thursday, July 28, 2011

พลังของ 'สื่อเสียง' ที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด


คนข่าวอาชีพในยุค digital journalism จะต้องใช้ข้อความ, ภาพ, เสียงและวีดีโอได้อย่างคล่องตัวในทุกสถานการณ์ข่าว ซึ่งรวมถึงการไม่มองข้ามความสำคัญของ "เสียง" ซึ่งเป็นสื่อที่มีพลังมหาศาล หากคนทำข่าวใช้ให้เต็มศักยภาพ

วิวัฒนาการเทคโนโยลีเปิดทางให้คนข่าวสามารถใช้อุปกรณ์กระทัดรัด พกพาสะดวก นำมาอัดเสียงเพื่อรายงาน, สัมภาษณ์, วิเคราะห์, และเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังข่าว, สารคดีและเสียงของแหล่งข่าวได้อย่างมีความสมจริงสมจังอย่างยิ่ง

น่าเสียดายว่านักข่าวจำนวนมากมองข้ามบทบาทของ "สื่อเสียง" ในการทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับสาธารณชน มีแต่บางกลุ่มที่หมกมุ่นอยู่กับการใช้ตัวหนังสือ (text), ปฏิเสธความเป็นสื่อหลากหลายของ multi-media หรือไม่ก็กระโดดไปสู่อีกขั้วหนึ่งคือวิ่งเข้าหา "สื่อวีดีโอ" (video)อย่างเดียว โดยเกือบลืมไปว่าช่องตรงกลางนั้นคือสื่อเสียง (audio) ที่มีอิทธิพลดึงดูดผู้บริโภคข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งนัก

แต่เดิม, คำว่า "เสียง" อาจจะทำให้ผู้คนคิดถึงแต่เพียง "สื่อวิทยุ" เท่านั้น แต่วันนี้, เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตัลอย่างคึกคัก, การทำหน้าที่ของคนข่าวผ่านเสียงสามารถเจาะทะลวงไปถึงผู้คนจำนวนมหาศาลผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ทอย่างกว้างขวางยิ่ง

การสำรวจของบริษัทเซอร์เคิล ผู้วิจัยข้อมูลธุรกิจวิทยุเคยบอกว่าปีที่ผ่านมาอัตราการรับฟังรายการวิทยุผ่านเครื่องรับวิทยุมีสัดส่วน 56% ขณะที่รับฟังผ่านมือถือมี 37% และรับฟังผ่านอินเตอร์เน็ท 7%

แต่การสำรวจข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่า สัดส่วนการรับฟังรายการวิทยุผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือรับฟังผ่านเครื่องรับวิทยุมี 51% และที่ผ่านมือถือมีสูงถึง 40% ส่วนที่ฟังผ่านอินเตอร์เน็ทมี 8%

สำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่าประชากรในกรุงเทพฯตั้งแต่อายุ 8 ขวบขึ้นไปมีมือถือใช้ 80% และใช้อินเตอร์เน็ท 40%

นี่ย่อมแปลว่าคนข่าวรุ่นใหม่ต้องสามารถสื่อด้วยเสียงผ่านมือถือและ tablets และคอมพิวเตอร์ทุกรุ่นอย่างต่อเนื่องคึกคัก ทั้งสดและลึกและเร็วไม่ว่าจะเป็นในรูปรายงานข่าวด่วน, เล่าเรื่องราวที่พบเห็นมาเองผ่าน podcasts ที่สะดวกสำหรับผู้ฟังในทุกเวลา, ทุกสภาพอากาศ, ทุกภูมิประเทศและในทุกหัวข้อข่าวและสาระได้อย่างไม่มีอุปสรรคเหมือนแต่ก่อนแล้ว

แต่แค่มีช่องทางการสื่อสารถึงประชาชนที่สะดวกรวดเร็วและมีเสน่ห์ยังไม่พอ คนข่าววิชาชีพต้องปรับปรุงเนื้อหาสาระและวิธีการนำเสนอให้มีความน่าสนใจ, ฉีกจากแนวปัจจุบันที่เราได้ยินการรายงานข่าว, อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรืออ่านตามสคริปท์ด้วยลีลาและภาษาเดิม ๆ ของ "วิทยุกระจายเสียง" ที่ยังทำกันด้วยมาตรฐานของ "สื่อเก่า" ที่ยึดติดกับค่านิยมเก่า ๆ และไม่สามารถสร้างความทันสมัย, ทันเหตุการณ์และลุ่มลึกด้วยวิธีคิดและวิถีปฎิบัติยุคใหม่

ได้เวลาที่ digital journalists จะ "ยกเครื่อง" การเสนอรายงาน, ความเห็น, บทสัมภาษณ์, วิเคราะห์และแลกเปลี่ยนกับสาธารณชนผ่าน "สื่อเสียง" อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

นี่ก็คืออีกมิติหนึ่งของ "อนาคตของข่าว" ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

No comments: