Sunday, July 31, 2011

รวมพลคนข่าวในโลก social media ชี้ทุกอย่างเป็นสาธารณะ


วันรวมพลคนข่าว social media เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาคึกคักยิ่ง คนทำข่าวจากหลายสำนักโคจรมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และยืนยันตรงกันว่า "อนาคตของข่าว" จะเกี่ยวโยงกับการใช้ social media อย่างยิ่ง

ประเด็นการใช้ Facebook, Twitter และ Google+ เป็นเครื่องมือมากกว่าเพียงแค่การรายงานข่าวด่วนและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารนั้นต้องก้าวกระโดดไปถึงการที่นักข่าวจะต้องใช้ social media เพื่อการทำข่าวเจาะลึก, การผูกเชื่อมกับชุมชนอย่างสนิทแน่นมากกว่าเดิม, และการสามารถใช้เครื่องมือดิจิตัลยุคใหม่เพื่อทำข่าว "สืบสวนสอบสวน" หรือ investigative reporting ได้อย่างคล่องแคล่วกว่าที่ผ่านมา

เพราะช่วงเวลาของการ "ลองเล่น" ในสองสามปีที่ผ่านมานั้นบัดนี้ก้าวมาถึงจุดที่นักข่าวจะ "เอาจริง" กับ social media เป็นเครื่องมือทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพของข่าว

ระหว่างการสนทนานั้น ประเด็นเรื่อง "ความเป็นส่วนตัว" กับการทำหน้าที่เป็น "นักข่าวอาชีพ" ในการใช้ social media ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ผมยืนยันว่าเมื่อคนข่าวก้าวเข้าไปในแวดวง social media คำว่า "ส่วนตัว" ย่อมหายไป เพราะกติกาสื่อสังคมนั้นกำหนดชัดพอสมควรว่าทุกถ้อยคำและเสียงหรือวีดีโอคลิบที่คนข่าวส่งผ่านสื่อใหม่เช่นนี้ย่อมกลายเป็น "สมบัติส่วนกลาง" ทันที, ไม่ว่าคุณจะต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น, คนข่าวจะต้องสำนึกในความเป็นโลกเปิดกว้างของสื่อสังคม และต้องเคารพในกติกา, มารยาทแห่งการแสดงออกภายใต้กรอบแห่งจริยธรรมของสื่ออย่างเคร่งครัดอย่างต่อเนื่อง, ไม่ว่าจะใช้สื่อเก่า, สื่อใหม่, สื่อดิจิตัลหรือสื่อสังคมทั้งหลายทั้งปวง

เพราะนี่คือสัจธรรมของการโลดแล่นอยู่ "สี่แยกกลางเมือง" แห่งโลกดิจิตัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้, โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการจะออกแบบวิถีสำหรับ "อนาคตของข่าว"

Friday, July 29, 2011

ตัวอย่างเล็ก ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมกระโจนเข้าสู่ digital reporting

นักศึกษาปีหนึ่งของ "มหาวิทยาลัยเนชั่น" ไม่ลังเลที่จะทดลองความเป็น Mojo (Mobile Journalists) เมื่อมีโอกาส

และพวกเขาและเธอจะเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ฝึกฝนเตรียมตัวเป็นนักข่าวยุค digital ที่่จะแปรโฉมสื่อสารมวลชนไทยอย่างน่าสนใจยิ่ง

Thursday, July 28, 2011

พลังของ 'สื่อเสียง' ที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด


คนข่าวอาชีพในยุค digital journalism จะต้องใช้ข้อความ, ภาพ, เสียงและวีดีโอได้อย่างคล่องตัวในทุกสถานการณ์ข่าว ซึ่งรวมถึงการไม่มองข้ามความสำคัญของ "เสียง" ซึ่งเป็นสื่อที่มีพลังมหาศาล หากคนทำข่าวใช้ให้เต็มศักยภาพ

วิวัฒนาการเทคโนโยลีเปิดทางให้คนข่าวสามารถใช้อุปกรณ์กระทัดรัด พกพาสะดวก นำมาอัดเสียงเพื่อรายงาน, สัมภาษณ์, วิเคราะห์, และเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังข่าว, สารคดีและเสียงของแหล่งข่าวได้อย่างมีความสมจริงสมจังอย่างยิ่ง

น่าเสียดายว่านักข่าวจำนวนมากมองข้ามบทบาทของ "สื่อเสียง" ในการทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับสาธารณชน มีแต่บางกลุ่มที่หมกมุ่นอยู่กับการใช้ตัวหนังสือ (text), ปฏิเสธความเป็นสื่อหลากหลายของ multi-media หรือไม่ก็กระโดดไปสู่อีกขั้วหนึ่งคือวิ่งเข้าหา "สื่อวีดีโอ" (video)อย่างเดียว โดยเกือบลืมไปว่าช่องตรงกลางนั้นคือสื่อเสียง (audio) ที่มีอิทธิพลดึงดูดผู้บริโภคข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งนัก

แต่เดิม, คำว่า "เสียง" อาจจะทำให้ผู้คนคิดถึงแต่เพียง "สื่อวิทยุ" เท่านั้น แต่วันนี้, เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตัลอย่างคึกคัก, การทำหน้าที่ของคนข่าวผ่านเสียงสามารถเจาะทะลวงไปถึงผู้คนจำนวนมหาศาลผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ทอย่างกว้างขวางยิ่ง

การสำรวจของบริษัทเซอร์เคิล ผู้วิจัยข้อมูลธุรกิจวิทยุเคยบอกว่าปีที่ผ่านมาอัตราการรับฟังรายการวิทยุผ่านเครื่องรับวิทยุมีสัดส่วน 56% ขณะที่รับฟังผ่านมือถือมี 37% และรับฟังผ่านอินเตอร์เน็ท 7%

แต่การสำรวจข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่า สัดส่วนการรับฟังรายการวิทยุผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือรับฟังผ่านเครื่องรับวิทยุมี 51% และที่ผ่านมือถือมีสูงถึง 40% ส่วนที่ฟังผ่านอินเตอร์เน็ทมี 8%

สำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่าประชากรในกรุงเทพฯตั้งแต่อายุ 8 ขวบขึ้นไปมีมือถือใช้ 80% และใช้อินเตอร์เน็ท 40%

นี่ย่อมแปลว่าคนข่าวรุ่นใหม่ต้องสามารถสื่อด้วยเสียงผ่านมือถือและ tablets และคอมพิวเตอร์ทุกรุ่นอย่างต่อเนื่องคึกคัก ทั้งสดและลึกและเร็วไม่ว่าจะเป็นในรูปรายงานข่าวด่วน, เล่าเรื่องราวที่พบเห็นมาเองผ่าน podcasts ที่สะดวกสำหรับผู้ฟังในทุกเวลา, ทุกสภาพอากาศ, ทุกภูมิประเทศและในทุกหัวข้อข่าวและสาระได้อย่างไม่มีอุปสรรคเหมือนแต่ก่อนแล้ว

แต่แค่มีช่องทางการสื่อสารถึงประชาชนที่สะดวกรวดเร็วและมีเสน่ห์ยังไม่พอ คนข่าววิชาชีพต้องปรับปรุงเนื้อหาสาระและวิธีการนำเสนอให้มีความน่าสนใจ, ฉีกจากแนวปัจจุบันที่เราได้ยินการรายงานข่าว, อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรืออ่านตามสคริปท์ด้วยลีลาและภาษาเดิม ๆ ของ "วิทยุกระจายเสียง" ที่ยังทำกันด้วยมาตรฐานของ "สื่อเก่า" ที่ยึดติดกับค่านิยมเก่า ๆ และไม่สามารถสร้างความทันสมัย, ทันเหตุการณ์และลุ่มลึกด้วยวิธีคิดและวิถีปฎิบัติยุคใหม่

ได้เวลาที่ digital journalists จะ "ยกเครื่อง" การเสนอรายงาน, ความเห็น, บทสัมภาษณ์, วิเคราะห์และแลกเปลี่ยนกับสาธารณชนผ่าน "สื่อเสียง" อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

นี่ก็คืออีกมิติหนึ่งของ "อนาคตของข่าว" ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

Tuesday, July 26, 2011

ถ้าจะให้สื่อเป็นอิสระ, ไม่อยู่ใต้นายทุน, นักการเมือง...ผมเสนอแนวคิด "Public Journalism"


ผมเชื่อว่า "อนาคตของข่าว" จะยั่งยืน, เป็นกลาง, และกอบกู้สังคมที่เสื่อมทรามได้นั้น จะต้องมีมิติใหม่ของการเป็น "สื่อสาธารณะ" ที่ไม่ต้องอาศัยรายได้จากโฆษณาหรือเงินของนักการเมืองกับนักธุรกิจ (ทั้งต่อหน้าและลับหลัง)

คนข่าวมืออาชีพที่ต้องการเจาะข่าวลึกที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และที่สื่อกระแสหลักไม่มีความสนใจหรือความเข้าใจเพียงพอ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสังคมนั้นจะต้องช่วยกัน "ออกแบบ" มิติของการทำข่าวลักษณะ "community-funded reporting" หรือ "ชุมชนจ่าย,มืออาชีพเจาะ"

หนึ่งในความริเริ่มเช่นนี้คือ Spot.us ซึ่งเป็นตัวอย่างของการที่ประชาชนพร้อมจะควักกระเป๋าตนเองเพื่อให้นักข่าวมืออาชีพสามารถเจาะข่าว, ขุดคุ้ยเรื่องไม่ชอบมาพากล,หรือให้ความสำคัญกับประเด็นของสังคมที่สื่อทั่วไปไม่ทำ หรือถูกแรงกดดันทางด้านเงินทองหรือผลประโยชน์ไม่ให้ไปเจาะเบื้องลึกของข่าวนั้น ๆ

รูปแบบการประสานระหว่าง "คนข่าวมืออาชีพ" กับ "ชุมชน" แนวนี้คือการสะท้อนว่าสังคมเองจะเป็นผู้สนับสนุนให้การทำงานของคนข่าวมืออาชีพให้มีความเป็นอิสระ, ความเป็นกลาง, กล้าหาญ, และมุ่งเข้าหาประเด็นข่าวที่สำคัญต่อชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น, ภูมิภาคและระดับประเทศ

สื่อกระแสหลักถูกวิพากษ์ว่าอยู่ใต้อิทธิพลของนายทุน, กลุ่มการเมือง, รัฐบาล, หรือฝ่ายค้าน...หรือไม่ก็เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มที่มีผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ได้ทำข่าวที่มีความสำคัญต่อสังคมอย่างแท้จริง และบางครั้งก็จงใจที่จะไม่ทำข่าวบางเรื่องเพราะ "ขายไม่ออก" บ้าง "ละเอียดอ่อนเกินไป" บ้าง หรือเป็นเพราะนายทุนหรือนักการเมืองที่หนุนหลังอยู่ไม่ต้องการให้ทำความจริงให้ปรากฏบ้าง

แต่การ "รายงานข่าวแบบชุมนุมมอบหมาย" อย่างนี้นอกจากจะเป็นการทำงานของนักข่าวในลักษณะไม่แสวงหากำไร, ไม่ป็นเชิงพาณิชย์,และหมกมุ่นกับ ratings หรือยอดขายหนังสือพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ยังเป็นการ "ทำงานร่วมกันอย่างสนิทแน่น" ระหว่างผู้คนในชุมชนเองกับคนข่าวมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถและความสำนึกในหน้าที่ต่อสังคมอย่างแท้จริง

ภายใต้กติกาของ community-funded journalism นี้ คนข่าวเองเสนอหัวข้อและแนวทางของเรื่องที่จะเจาะลึก และให้ประชาชนที่สนใจต้องการเห็นเรื่องนั้น ๆ ได้รับการรายงานและเจาะลึกบริจาคเงินตามจำนวนที่ตนเห็นควร หรือไม่ก็เป็นข้อเสนอจากบางกลุ่มของสังคมที่อยากเห็นปัญหาใดของชุมชนนั้นได้รับการรายงานและวิเคราะห์ และพร้อมที่จะรณรงค์ให้มีการบริจาคเพื่อให้นักข่าวหรือทีมข่าวมืออาชีพที่มีประวัติการทำงานที่เชื่อถือได้ลงมือไปทำข่าวนั้น ๆ

องค์กรที่บริหารโครงการ "คนข่าวอาชีพประสานชุมชนใส่ใจ" ก็จะเผยแพร่เรื่องราวทั้งตัวหนังสือ, ภาพ, เสียงและวีดีโอผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่าย และผ่าน social media ได้อย่างกว้างขวางและคล่องแคล่ว

โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อกระแสหลักเป็นทางผ่านถึงสังคมอีกต่อไป

ผมเห็นความสำคัญและจำเป็นที่สังคมไทยจะเริ่มคิดและร่วมกันหาทางทำให้ community-funded reporting เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะนี่คือคำตอบต่อคำถามที่ผมได้รับมาเสนอจากประชาชนทั่วไปเช่น

1. สื่ออยู่ใต้นายทุน, นักการเมือง...จะเป็นอิสระและเป็นกลางได้อย่างไร?
2. ทำไมสื่อไม่เจาะเรื่องที่สำคัญจริง ๆ ต่อสังคม? ทำไมสื่อทำแต่เรื่องหวือหวา...จะขายข่าวอย่างเดียว?
3. เราจะสร้างสื่อที่ทำงานเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงได้อย่างไร?

ถ้าสังคมต้องการ "สื่อเพื่อสังคม" ที่แท้จริง, สังคมต้องก้าวออกมาพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งที่ผมเรียกว่า public journalism

ผมพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มนี้...ใครสนใจ แลกเปลี่ยนความเห็น และร่วมกันสร้างกลไกของสังคมใหม่นี้ได้เลยครับ

Sunday, July 24, 2011

Mojo คืออนาคตของคนข่าวอาชีพ...


อนาคตของ "คนข่าวอาชีพ" ในภาวะที่เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวกระโดดเช่นนี้ ไม่มีใครเรียกตนเองเป็น "มืออาชีพ" ได้อย่างแท้จริงหากไม่ฝึกฝนตนเองเป็น "Mobile Journalist" หรือที่เราเรียกว่า "Mojo"

วันก่อน,นักข่าวจากโต๊ะต่างประเทศของ Nation Channel ถูกส่งไปทำข่าวศาลโลกที่กรุงเฮกพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ไปคนเดียว (one-man crew) ทำหน้าเป็นทั้ง producer, นักข่าว,ช่างภาพและรายงานของเขาเข้าสู่กระบวนการ "Digital First" (ที่บรรณาธิการใหญ่ของ The Guardian แห่งอังกฤษประกาศสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะเป็นทิศทางอนาคตของหนังสือพิมพ์แนวหน้ากลุ่มนี้) อย่างฉับพลันทันด่วน

นั่นย่อมแปลว่าข่าวและคลิบวีดีโอของนักข่าวอาชีพที่พร้อมจะเรียนรู้และฝึกฝนทักษะแห่งการเป็นนักข่าวยุค digital นั้นจะรายงานสู่สาธารณชนผ่านทุก platform ที่เอื้อต่อการให้ผู้รับข่าวอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook, ทีวี, วิทยุ, เว็บไซท์,โทรศัพท์มือถือและสื่อสิ่งพิมพ์

บทบาทของ Mojo ยิ่งวันยิ่งจะปรากฏเป็น "มาตรฐานใหม่" ของแวดวงการสื่อข่าว เพราะภาพรถถ่ายทอดสด, จานไมโครเวฟ, สายเคเบิล, สายไฟและระบบเสียง, รวมไปถึงการต้องตระเตรียมจองเวลาดาวเทียมในกระบวนการรายงานสดนั้นวันนี้กลายเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว

เมื่อเร็ว ๆ นี้นักข่าวของเราใช้ iPhone4 ถ่ายและสัมภาษณ์คุณวีระ สมความคิดที่เดินขึ้นศาลที่กรุงพนมเปญได้ชัดเจนและว่องไว ภายในไม่กี่นาที, คลิบภาพ, เสียงและบทบรรยายของนักข่าวก็ถูก upload ขึ้นที่ Facebook และสามารถนำออกอากาศทางโทรทัศน์ในกรุงเทพฯได้อย่างรวดเร็วและทันการ..ก่อนใคร ๆ

การปรับตัวของคนข่าวไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์, เทคโนโลยี, หรือความพร้อมไม่พร้อมทางด้านการเงินใด ๆ...หากแต่อยู่ที่ความสามารถก้าวพ้นจากความกลัวและอาการ "ต้านเงียบ" ที่ไม่ยังปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยของ "อนาคตของข่าว" เท่านั้นเอง

ใครปรับตัวเร็วกว่า, พร้อมจะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อย่างมุ่งมั่นกว่า, ก็จะอ้าแขนต้อนรับ "อนาคตของความเป็นคนข่าว" ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวกว่าเท่านั้น

ใครปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง, ยืนยันที่จะทำอะไรเหมือนเดิม, วันดีคืนดีตื่นเช้าวันหนึ่งพบว่าตัวเองยืนอยู่ท้ายแถว ก็อย่าได้แปลกใจเป็นอันขาด

Friday, July 22, 2011

ดุลยภาพที่เปลี่ยนไปของคนข่าวกับสังคม


คนข่าวยุคดิจิตัลย่อมตกอยู่ในสภาพของความไม่แน่นอนสูง เพราะความเปลี่ยนแปลงในโลกอินเตอร์เน็ทเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ความเป็น "มืออาชีพ" หมายถึงการสร้างเนื้อหาที่มีสาระที่ตรวจสอบได้ แยก "ข่าวปั่น"และ "ข่าวปล่อย" ออกจากข่าวจริงรอบด้านที่ตรวจสอบได้โดยไม่ตกเป็น "เครื่องมือ" ของกลุ่มผลประโยชน์ใด

เป็นภารกิจที่จะต้องดำรงความเป็นตัวของตัวเองวันแล้ววันเล่า, ข่าวแล้วข่าวเล่า, อย่างมีสติ,และคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระชน ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อแรงกดดันหรือการคุกคามไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม

อินเตอร์เน็ทได้เสริมสร้างให้เกิดความแข็งแกร่งและเพิ่มพลังของคนทำข่าวและผลิตสาระทุกรูปแบบอย่างน้อยสี่ประการ

1. มันทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเนื้อหาข่าวและสาระลดลงอย่างมีนัยสำคัญ, เปิดทางให้มี "ผู้เล่น" เข้ามาในสนามแห่งนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และอนุญาตให้สามารถทดลองความคิดอ่านใหม่ ๆ ได้อย่างเสรีกว่าแต่ก่อนมากมายหลายเท่า

2. มันทำให้ที่ตั้งของจุดภูมิศาสตร์หมดความหมาย เพราะผู้บริโภคข่าวสารสามารถรับรู้และเข้าถึงเนื้อหาสาระของคนทำข่าวได้จากทุกแห่ง และทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงข่าวคราวและข้อมูลอย่างง่ายดายกว่าแต่ก่อนอย่างมหาศาล

3. มันให้ "เครื่องมือ" การทำสื่อกับทุกคนที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง search หรือ ฐานข้อมูลออนไลน์, การทำชาร์ทอย่างสะดวกและสามารถสัมภาษณ์ใครต่อใครผ่าน Skype ได้...นักข่าวสามารถใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดรายงาน, สัมภาษณ์, ตัดต่อ, ส่งคลิบเสียงและภาพอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะทำงานอยู่ ณ จุดใดก็ตาม

4. มันปรับดุลยภาพระหว่างคนทำข่าวกับผู้บริโภคข่าวอย่างมีความหมายสำคัญยิ่ง เพราะยุคดิจิตัลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนข่าวอาชีพกับผู้บริโภคข่าวสลับสับเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตยมากขึ้น ในหลายโอกาส, บทบาทของ "นักข่าวพลเมือง" ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า "นักข่าวอาชีพ" และการสื่อสารทิศทางเดียวจากสื่อไปถึงผู้บริโภคข่าวอย่างที่เคยมีมาหลายร้อยปีนั้นต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการสื่อสารหลากหลายมิติอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

แน่นอนว่าบทบาทของ "คนข่าวอาชีพ" ในฐานะ "Watchdog" และ "Gatekeeper" ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะ "ข่าวสารล้นเกิน" และจำเป็นจะต้องมีนักสื่อสารมวลชนที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษในการทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนข่าวสารและตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองตามหลักจริยธรรมของสื่อมวลชนที่สังคมต้องการอย่างยิ่ง

แต่อหังการของคนทำสื่อที่เคยถือตนเป็น "ฐานันดรสี่" นั้นวันนี้, ในยุคดิจิตัลเช่นนี้, จะหดหายไปและความถ่อมตนและมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน, ซื่อตรง, และโปร่งใสจะเข้ามาแทนที่

หาไม่แล้ว, คนข่าวที่ยังหลงติดยึดอยู่กับอดีตและปฏิเสธที่จะปรับเปลี่ยนก็จะเป็น "ไดโนเสาร์" ตัวสุดท้ายของโลกสื่อดิจิตัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

Thursday, July 21, 2011

อนาคตของข่าว...ใครไม่ปรับก็พับฐาน



ผมยืนยันกับคนข่าวทุกครั้งที่มีโอกาสว่านี่คือ "ยุคทองของคนทำข่าว" เพราะเทคโนโลยีเสริมส่งให้คนที่มีความมุ่งมั่นทางด้านสื่อสารมวลชนสามารถทำงานได้รวดเร็ว,ลึกและกว้างกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา

แต่หากไม่ปรับตัว, ไม่เรียนรู้วิธีทำงานใหม่, และหลงเข้าใจผิดคิดว่า "ความเร็ว" คือทุกอย่าง มองข้ามความสำคัญของ "ความลึกและความกว้าง" ของข่าว, ก็มีสิทธิที่จะหลงทางและกลายเป็นแค่นักข่าว breaking news ที่ไม่ใช้สมองและความสามารถในการแยกแยะข่าวและข้อมูลให้กับประชาชน

เพราะโลกดิจิตัลไม่จำเป็นต้องหมายถึงแต่เพียงความเร็วที่ผิวเผินเท่านั้น หากคนข่าวยุคนี้ใช้ความได้เปรียบใหม่ ๆ ได้ถูกต้อง ก็สามารถจะใช้เทคโนโลยีทำหน้าที่เป็น "นักข่าวสืบสวนสอบสวน" หรือ investigative reporting ได้อย่างลุ่มลึกและแสดงความโดดเด่นเหนือการทำหน้าที่เพียงแค่รายงานข่าวว่าใครพูดอะไรเมื่อไหร่ (he said/she said) อย่างที่เราเห็นกันเกลื่อนกลาดอย่างชัดเจนได้

ยิ่งสังคมมีข้อมูลข่าวสารล้นพ้น ยิ่งมีปัญหา information overload ที่ตามไล่ล่าผู้บริโภคข่าวเกือบจะทุกนาที ก็ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างนักข่าวที่มีคุณภาพยุคดิจิตัลมากขึ้น เพราะหน้าที่ของการแยกย่อย, วิเคราะห์, ลำดับเรื่อง, เล่าความ, เสนอเบื้องหลังข่าว, และแสดงความเห็นรอบด้านยิ่งมีความสำคัญยิ่ง

บทบาทของการเป็น "หมาเฝ้าบ้าน" และ "ยามเฝ้าประตู" ของคนข่าวในยุคของ Mojo (Mobile Journalists) ไม่ได้ลดน้อยถอยลง, ตรงกันข้ามกลับมีความสำคัญหนักหน่วงยิ่งขึ้น เพราะสังคมต้องการ "มืออาชีพ" ทางด้านการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่มาจากทุกสารทิศอย่างล้นหลามมากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำไป

แต่ "อนาคตของข่าว" จะปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง เพราะนี่คือการ "ปฏิวัติสื่อสารมวลชน" อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเพราะที่เราเคยเรียกว่า "ผู้บริโภคข่าว" นั้นวันนี้ได้กลายเป็น "ผู้ร่วมผลิตและกระจายข่าว" ที่สามารถใช้ social media ในการทำหน้าที่ "นักข่าวพลเรือน" อย่างคึกคักและมีประสิทธิภาพยิ่ง

ผมหวังจะเสนอความคิดความอ่านว่าด้วย "อนาคตของข่าว" ในบล็อกนี้เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีวิเคราะห์และเสนอสูตรสำหรับการปรับตัวของสื่อไทยโดยเฉพาะสำหรับคนข่าวรุ่นใหม่ในอันที่จะสร้างศักยภาพของตนขึ้นมเป็น digital journalists อย่างแท้จริงจากวันนี้เป็นต้นไป